เศรษฐกิจ / พิษยางพาราส่งกลิ่น สะเทือนเก้าอี้ผู้ว่าการ กยท. หลัง “บิ๊กฉัตร” รับลูกชาวสวนตั้ง กก.สอบ

เศรษฐกิจ

พิษยางพาราส่งกลิ่น

สะเทือนเก้าอี้ผู้ว่าการ กยท.

หลัง “บิ๊กฉัตร” รับลูกชาวสวนตั้ง กก.สอบ

นาทีนี้ ดีกรีความร้อนแรงคงหนีไม่พ้นเรื่องเก้าอี้ของ “นายธีธัช สุขสะอาด” ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ภายหลังจาก “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งด่วน เรียกตัวเข้าพบ พร้อมเสนอให้ “บิ๊กเบี้ยว” พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมของนายธีธัช ว่าส่อไปในทางทุจริตหรือไม่

โดยให้กำหนดกรอบรู้ผลทันทีภายใน 7 วัน

ก่อนให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้ยาแรงดาบอาญาสิทธิ์ ม.44 ปลดออกจากตำแหน่ง

หรืออาจซอฟต์ลงมาหน่อย โดยใช้มติบอร์ด กยท. เลิกจ้างแทน หากพบว่ามีการทุจริตจริง

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากทางสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) และม็อบชาวสวนยาง ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงมือบิ๊กฉัตรโดยตรง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยเมื่อบิ๊กฉัตรได้รับหนังสือ ก็รับเรื่องและตั้งคณะกรรมการสอบทันที เนื่องจากพฤติกรรมหลายอย่างของ กยท. เริ่มมีกลิ่นตุๆ ส่อเค้าทุจริตหลายอย่าง

โดยเฉพาะการจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด ที่ กยท. ได้จับมือกับนายทุน 5 เสือ บริษัทผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วย บริษัท ไทยฮั้วรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด และบริษัท ไทยรับเบอร์ ลาแท็คซ์กรุ๊ป จำกัด ลงขันกันรายละ 200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,200 ล้านบาท ในการเข้าซื้อยางในราคานำตลาด เพื่อดันราคายางให้สูงขึ้น

เนื่องจากกลุ่มชาวสวนยางมองว่า การเข้าซื้อยางดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนและพวกพ้อง เนื่องจากการลงทุนร่วมกัน จะเป็นการเปิดช่องทางให้ 5 เสือรู้ความเคลื่อนไหวของการเข้าซื้อยางทั้งหมด จนสามารถเข้ามาปั่นป่วนและทุบราคาในตลาด รวมทั้งในการซื้อยางก็มักจะเข้าซื้อเฉพาะเครือข่ายของพวกพ้องเท่านั้น

ผลดำเนินการของบริษัทร่วมทุนจึงไม่เป็นไปตามหวัง แทนที่ราคายางจะพุ่งขึ้น กลับสวนทางดิ่งลงเหวจนถึงทุกวันนี้

ประเด็นดังกล่าว นายธีธัชได้ชี้แจงกับ “มติชน” ว่า การที่ราคายางตกในช่วงนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยของบริษัทร่วมทุนแต่อย่างใด หากแต่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดยางเองที่มีผลผลิตออกมากเกินความต้องการของตลาด

โดย 3 ประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ ทั้ง ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็มีทิศทางราคายางปรับตัวลดลงเป็นแนวเดียวกันประกอบกับการเข้าเก็งกำไรของนักลงทุนรายใหญ่สะท้อนผ่านความผันผวนตลาดซื้อขายยางล่วงหน้า ทั้งโตเกียว เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

และหากไปดูในข้อมูลเชิงลึกก็จะพบว่า ประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 สูงขึ้นมาก อาทิ กัมพูชา เพิ่มขึ้น 33.1% อินเดีย เพิ่มขึ้น 21.0% และเวียดนาม เพิ่มขึ้น 11.3% ทำให้ผลผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก ทั้งจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ทำให้เกิดการชะลอซื้อของประเทศผู้ใช้ยางเหล่านี้ รวมถึงความตึงเครียดทางการเมืองหลายประเทศ กระทบต่อราคายางของตลาดซื้อขายจริงในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย

ซึ่งหากไปดูในสถิติจะเห็นได้ชัดว่า การเข้าซื้อของบริษัทในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ที่มีปริมาณประมาณ 15,000 ตัน ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท ช่วยยกระดับราคายางพาราได้จริง ราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นถึง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.)

พร้อมเน้นย้ำว่า ถ้าไม่มีกระบวนการเข้าซื้อยาง ในราคานำตลาดของบริษัท ราคายางอาจลงเร็วกว่านี้ตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้วก็ได้

แถมแจงให้เห็นถึงกระบวนการที่สุดแสนจะโปร่งใส ด้วยวิธีการเข้าซื้อยางในราคาชี้นำ ณ ตลาดกลางยางพารา กยท. ทั้ง 6 แห่งหมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน

โดยสมมุติฐานว่า ปัจจุบันราคายางปิดที่ 47 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ในวันต่อมาบริษัทก็จะเข้าซื้อยางในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 50 สตางค์ เป็น 47.5 บาท/ก.ก. เพื่อเป็นราคานำตลาด

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการที่ต้องการยางก็จำเป็นจะต้องเสนอราคาให้สูงขึ้นไป เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ราคายางก็อาจจะกระโดดสูงขึ้นมาที่ 48 บาท/ก.ก.

ดังนั้น วิธีการดังกล่าว จึงถือเป็นวิธีการที่ดันราคายางได้ผลจริง และหากชาวสวนไปขายยางให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น โดยติดราคาต่ำกว่าตลาดกลาง ก็อาจต่อรองพ่อค้าเพื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้นได้ และหากการต่อรองไม่เป็นผล ก็อาจเก็บไว้ เพื่อไปขายตลาดกลาง ก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น

ท้ายที่สุดประโยชน์ทั้งหมดก็มีแต่ตกไปอยู่กับเกษตรกรเห็นๆ

ส่วนประเด็นที่โจมตีเรื่องการเข้าซื้อของบริษัท บอร์ด กยท. ก็เพิ่งมีมติบังคับให้บริษัทเข้าซื้อยางสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ไม่สูงกว่าราคากลางมากเกินไป และให้ปฏิบัติตามระเบียบตลาดกลาง กยท. อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการรับมอบยางภายใน 2 วัน หากเกินกำหนดจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นรายวัน

สำหรับประเด็นของ 5 เสือเอง ก็ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารและสั่งซื้อยางตามที่มีการกล่าวอ้าง หรือลือกัน 5 เสือเป็นเพียงแค่ผู้ที่ร่วมก่อตั้ง และลงเงินเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเข้าซื้อยางในตลาดเลย

เพราะฉะนั้น การที่เข้าใจว่า บริษัท 5 เสือจะได้ประโยชน์จากการเข้าซื้อในแต่ละวัน จึงยิ่งไม่มีมูลความจริง กยท. ไม่มีทางที่จะตกเป็นเครื่องมือของ 5 เสือได้เลย เพราะทาง 5 เสือไม่มีทางรู้เลยด้วยซ้ำว่า วันนี้บริษัทจะเข้าซื้อยางหรือไม่ และจะเข้าซื้อในตลาดใดบ้าง

เนื่องจากในการตัดสินใจซื้อขายยางจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณาเสถียรภาพยาง ภายใต้บอร์ด กยท.ชุดใหญ่ เป็นผู้ตัดสินใจ

ซึ่งในคณะอนุกรรมการดังกล่าว ก็ไม่ได้มีตัวแทนจาก 5 เสือ นั่งเป็นกรรมการด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า ทาง 5 เสือจะไม่มีทางรู้ความเคลื่อนไหวในการซื้อขายยางของ กยท. การซื้อขายจึงโปร่งใสอย่างแน่นอน

และหากถามว่า 5 เสือได้อะไรจากการลงขันตั้งบริษัทครั้งนี้ คนระดับนายทุนจะมายอมจ่ายเงินฟรีๆ โดยที่ไม่ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเลย มันเป็นไปได้หรือไม่นั้น

ส่วนตัวมองว่าในเมื่อ 5 เสือมีมากกว่า ก็ควรที่จะเสียสละแบ่งปันให้กับคนที่มีน้อยกว่า และ 5 เสือเองก็คงมองเห็นว่าวงจรของธุรกิจยางต้องไปด้วยกัน ถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ เลิกปลูกยาง เนื่องจากราคายางตก ทาง 5 เสือก็คงอยู่ไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่มียางให้ซื้อ พอไม่มียางก็คงทำธุรกิจต่อไปได้ยาก

ดังนั้น จึงเท่ากับว่า ราคายางที่ร่วงลง จึงไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนแต่อย่างใด และพร้อมเดินหน้าบริษัทร่วมทุนต่อไม่มีถอย

แม้ว่าในมุมมองของนายธีธัช จะเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาบริษัทร่วมทุนไปได้พอสมควร แต่ก็ยังมีประเด็นสำคัญที่บิ๊กฉัตรสั่งตรวจสอบครั้งนี้ คือ ประเด็นการจัดซื้อปุ๋ยเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวสวนยาง ซึ่งคลับคล้ายกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีผิด

ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลเก่าที่ กยท. ได้เคยชี้แจงผ่านสื่อแล้ว แต่ครั้งนี้ดูเหมือนหนักแน่นกว่าเดิม ไม่งั้นบิ๊กฉัตรคงไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้ โดยทาง สยยท. ได้ออกมาให้ข้อมูล มีการจัดหาปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานให้กับเกษตรกร แถมราคายังแพงกว่าท้องตลาด 2-3 บาท/กิโลกรัม

ท้ายที่สุดคงต้องรอดูกันว่า ผลการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร เก้าอี้ของผู้ว่าการ กยท. จะยังมั่นคงเหนียวแน่นอยู่ได้อีกหรือไม่ หรือจะต้องเซ่น ม.44 อีกคน หรือสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรในกอไผ่ เป็นแค่ละครปาหี่อีกฉากหนึ่ง เพื่อให้ชาวสวนลดความร้อนแรงลงก็เป็นได้

อีกไม่นานคงได้รู้!