ผลึกความคิด จากชีวิตหลังมรสุมของ “หมอเลี้ยบ” เสนอคืนอำนาจทางการศึกษาให้ประชาชน

นโยบายทางการศึกษาทุกวันนี้ของบ้านเรา ถ้าเปรียบเทียบกับทั้งโลกในวันนี้ ทางที่เราจะต้องเดินไปยังอยู่อีกไกลมาก คนอื่นเขาใส่สเก๊ต บางคนอาจจะมีรถวิ่งฉิวไปแล้ว แต่เรายังเดินอยู่ริมทาง เดินชมดมดอกไม้กันอยู่

ภาพเปรียบเทียบการเดินทางของการศึกษาไทยจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ อดีตรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลไทยรักไทย-พลังประชาชน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสำคัญของพรรค ภายหลังจากหมอเลี้ยบเจอมรสุมลูกใหญ่ ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ทำให้มีโอกาสได้ใช้เวลา “ทบทวน-มอง” การศึกษาของบ้านเราและพยายามค้นคว้าข้อมูลว่า “ทำไมการศึกษาไทย” ไม่ได้ไปไหนเสียที

“การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดที่จะบ่งชี้ชัดถึงอนาคตของประเทศได้ คือวันนี้เราลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าหลายสาย กระทั่งโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพิเศษ หรืออีอีซี แต่ทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับอนาคตจริงๆ ของประเทศชาติเลย การศึกษาตอนนี้เรื่องที่น่าห่วงใยมาก โดยเฉพาะดัชนีการชี้วัดหลายตัวเกี่ยวกับการศึกษาของไทยเราตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน ทั้งที่ในทางกลับกัน เราใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณประจำปีของประเทศ คำถามก็คือ แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน?”

หมอเลี้ยบเล่าว่า “ผมเองคิดแบบเชื่อมโยงแบบเดียวกับตอนคิดทำ 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนที่เราคิดนโยบายนี้ เราถกกันว่าเราจะทำอะไรดีที่จะสามารถพัฒนาสุขภาพของประชาชน เช่น จะฉีดวัคซีนให้เด็กแรกเกิด ให้ครบ 100% เราจะควบคุมโรคติดต่อยังไง เราคิดกันในเรื่องปลีกย่อย แต่สุดท้ายเมื่อกลับมานั่งทบทวนพบว่า เราไม่สามารถที่จะสร้างผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสุขภาพของประชาชนได้อย่างชัดเจน”

“ฉันใดก็ฉันนั้น การศึกษาก็เช่นกัน วันนี้ต้องยอมรับว่ามีแนวคิดมากมายที่จะทุ่มเทเรื่องอาชีวะ หรือส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล อะไรต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามองแล้วผมคิดว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยเช่นกัน เราต้องกลับมาดู “ปัญหาใจกลาง” ของระบบการศึกษาประเทศไทย”

“ผมคิดว่าวันนี้โลกเราก้าวมาถึงจุดที่การจะพัฒนาอะไรต่างๆ จะอาศัยเพียงแค่คนกลุ่มหนึ่ง องค์กรหนึ่ง ไม่ได้แล้ว มันต้องเกิดความร่วมมือจากคนหมู่มากเข้ามาเป็นเครือข่าย”

“ฉะนั้น ถ้าเราจะพัฒนาการศึกษาของเราให้ก้าวต่อไปได้ต่อจากนี้ไป ต้องไม่ให้การศึกษาอยู่ในมือของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ใช่อยู่ในความรับผิดชอบของปลัด ของเลขาฯ สพฐ. ในอำนาจตัดสินใจของคนไม่กี่คน ที่ต้องแบกโรงเรียนเป็นพันเป็นหมื่นแห่งไว้ ยังไงไม่มีทางที่จะทำได้ลึกไปในรายละเอียดและไม่เร็วพอ”

อาจจะถึงเวลาแล้วที่จะบอกว่าจะต้องถ่ายโอนอำนาจจากกระทรวงศึกษาฯ ไปสู่ประชาชน คือข้อเสนอของ นพ.สุรพงษ์

“ตัวอย่างที่ชัดเจนที่ผมได้มีโอกาสศึกษาข้อมูล พบว่าโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น หรือในส่วนของประชาคม ได้สร้างผลงานที่เห็นความโดดเด่นชัดเจน เช่น โรงเรียนของเทศบาลแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ พบว่ามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนได้รับรางวัลจากต่างประเทศ”

“หรือโรงเรียนของเทศบาลเชียงรายซึ่งได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาสติปัญญาของนักเรียน โดยใช้การมีส่วนร่วมของประชาคมในท้องถิ่นเข้ามาช่วยบริหารโรงเรียน มาวันนี้โรงเรียนแห่งนั้นกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบที่ได้รับรางวัล”

“เพราะฉะนั้น วันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเริ่มคิดอย่างจริงจัง ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทำให้โรงเรียนในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ห่างไกล หรือในกรุงเทพฯ ก็ตาม มีโอกาสที่จะมีการบริหารจัดการของโรงเรียนจากประชาคมเพื่อช่วยกันปรับปรุงให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด”

“ความจริงมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่เขาทำกันมาแล้ว อย่างเช่นนิวซีแลนด์ ที่ปฏิรูประบบการศึกษาโดยถ่ายโอนโรงเรียนออกจากกระทรวงศึกษาธิการ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด มันไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำ”

“ผมว่านี่น่าจะเป็นโอกาสอันดีของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ (ในช่วงปฏิรูป) ควรไปดูว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ถึงแก่นจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องของ “เปลี่ยนหลักสูตร” ไม่ใช่เรื่องครู ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเทคโนโลยี แต่นั่นคือ “การบริหารโรงเรียนทั้งระบบ” โดยที่มีคนหมู่มากเข้ามาช่วยกัน ต่างคนต่างดูแลโรงเรียนของตัวเอง มีกรรมการของตัวเองบริหารจัดการงบประมาณได้ด้วยตัวเอง อย่างนี้เป็นต้น”

“ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดช่องให้มีกลไกเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้โรงเรียนได้ถ่ายโอนไปสู่ความรับผิดชอบขององค์กรท้องถิ่นหรือประชาชนได้ ต้องเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง”

“ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดหรือทำ เพราะมันเป็นเรื่องของอำนาจและความรับผิดชอบที่คนไม่กล้าไปเปลี่ยนแปลง ผมอยากจะให้ความมั่นใจว่า เราเรียนรู้จากที่อื่นได้ครับ เรามีหลายที่ที่มีการดำเนินการมาแล้ว เดินก้าวล้ำหน้าไปแล้ว ลองทำดูแล้วมันจะพิสูจน์ตัวมันเองได้ว่าเปลี่ยนแปลงขนาดไหน”

“ผมเชื่อว่าวันนี้หลายประเทศที่เขามีความกล้าหาญ เขาจึงเดินหน้า สุดท้ายก็ก้าวนำไปอย่างก้าวกระโดด หากอธิบายและมองในเชิงการบริหารก็คือ ถ้าเรามีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ใส่ใจเรื่องหนึ่งอย่างจริงจัง ใส่ใจทุกลมหายใจเข้าออก เข้าใจหัวอกโรงเรียน มีอำนาจความรับผิดชอบเต็มในการบริหารโรงเรียนหนึ่ง เขาจะนั่งคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนเขาไปได้อีก คนเหล่านี้เขาจะไม่หยุดคิด เขาจะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร”

“ถามวันนี้การศึกษาไทย คนที่อยู่ระดับตัดสินใจเชิงนโยบาย สามารถที่จะดูแลโรงเรียนปริมาณมากขนาดนี้เป็นหลายพันโรงหลายหมื่นโรงได้ดีเท่าคนที่มีความพร้อมบริหารโดยเครือข่ายในท้องถิ่นตัวเองหรือไม่? ซึ่งมันจะทำให้สภาพสังคมทั้งระบบในท้องถิ่นเดินหน้าไปได้และพัฒนาในท้องถิ่นนั้นๆ โดยคนในพื้นที่เอง”

ไม่ใช่เพียงผลึกความคิดเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษาเท่านั้น แต่หมอเลี้ยบได้ตกผลึกความคิดอีกประการหนึ่งคือ “การกระจายอำนาจทางการเมือง” ที่ต้องกระจายอำนาจให้คนหมู่มากเข้ามามีส่วนร่วมในท้องถิ่น

“ผมคิดว่าการปฏิรูปการเมืองที่จะต้องเดินหน้าแน่ๆ เป็นทิศทางที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “การลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจให้ประชาชน” ว่าจะทำอย่างไรให้อำนาจส่วนกลางถูกส่งต่อไปให้กับส่วนท้องถิ่นมากขึ้น วันนี้มีการพูดถึงเรื่องของ “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” กันมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดังขึ้นเรื่อยๆ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งพูดกัน ก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องมาตลอด ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูปการเมือง (อย่างแท้จริง) เราอาจจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มต้นจากจังหวัดใหญ่ๆ ที่เราเห็นว่ามีความพร้อมได้ก่อน จากนั้นค่อยเริ่มในจังหวัดที่เหลือต่อไป”

เราต้องเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเรื่องของโรงเรียน-โรงพยาบาลหน่วยงานต่างๆ ในความรับผิดชอบก็จะเกิดเป็นเครือข่ายร่วมกันของคนในท้องถิ่น นี่จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในสังคม ของการจัดรูปแบบของการบริการ หรือการทำงานของราชการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมาที่มีแต่การพูดกันแต่ไม่ได้ทำ เพราะติดอยู่ที่ความกล้าหาญในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ อยากบอกว่า ” 30 บาทรักษาทุกโรค” ก็เคยถูกทัดทานไว้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อมีการตัดสินใจจะทำ เดินหน้าขับเคลื่อน ก็พบว่าสามารถทำได้ จนองค์กรในต่างประเทศออกเอกสารให้ว่าการตัดสินใจเรื่องบัตรทองเป็นการตัดสินใจที่ท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษย์ในเรื่องบริการสาธารณสุข

ฉะนั้น ผมคิดว่าวันนี้เป็นเรื่องของการกล้าตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่ากล้าหรือไม่ที่จะทำให้องค์กรท้องถิ่นและโรงเรียนได้เกิดการพัฒนาและมีภาคีที่มีส่วนร่วมกันบริหาร

ส่วนคนที่มองว่าการเลือกตั้งในท้องถิ่นจะเป็นการผูกขาดตระกูลหรือพรรคนั้น นพ.สุรพงษ์กลับมองในทางตรงกันข้ามว่า ผลงานของผู้เสนอตัว ทำได้ไม่ดีก็ไม่มีใครเลือกกลับมาอีก ที่สำคัญเวทีนี้จะทำให้มีคนหน้าใหม่ในท้องถิ่นกลับไปทำงานให้บ้านเกิด และเสนอแนวทางพัฒนาภูมิลำเนาที่น่าสนใจ อย่างที่จังหวัดขอนแก่น ที่มาวันนี้เขาคิดทำระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น

“ฉะนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ถูกแต่งตั้งโยกย้าย ถามว่าเขาจะเข้าใจท้องถิ่น เข้าใจปัญหาต่างๆ ได้เท่าคนในพื้นที่หรือไม่? ผมมองว่า ประสิทธิภาพก็ไม่น่าจะเทียบเท่ากับคนที่ได้มีโอกาสศึกษาปัญหาอยู่ในพื้นที่และเสนอตัวเข้ามา และอยากถามว่า ทุกวันนี้ หากผู้ว่าราชการจังหวัดทำไม่ดี ทำไม่ได้ ประชาชนทำอะไรได้บ้าง?”

“ผมจึงอยากเห็นช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปของผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ขณะนี้ ได้พูดถึงเรื่องท้องถิ่นบ้าง และการที่เราส่งเสริมท้องถิ่น มันจะเป็นรากฐานสำคัญของการเมืองระดับประเทศได้ ประชาชนจะเกิดการเรียนรู้ที่มากขึ้น ได้ตรวจสอบแบบมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ที่สำคัญผมเชื่อว่าเราจะมีเลือดใหม่บนถนนการเมืองที่แข่งขันสร้างสรรค์กันที่ผลงานมากขึ้น จนในระดับท้องถิ่นก็จะเกิดการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด”