บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย (3)

ย้อนอ่าน บทกวีพานแว่นฟ้า : ฝันที่แตกต่างกับการช่วงชิงนิยามประชาธิปไตย ตอน (2) (1)

ส่วนตัวบท “เบี้ย” (น.13-14 ในหนังสือวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ครั้งที่ 12) ใช้ “หมากรุก” อุปมาถึงการปะทะกันของคู่ขัดแย้งทางการเมืองสองฝ่ายในบริบทสังคมไทย

“หมากรุก” (Chess) เป็นกีฬาในร่ม ใช้กระดานดำเป็นช่องหรือตาจำนวน 8 ตา และลูกหมากฝ่ายละ 16 ตัว เล่นหรือเดินตามกติกาที่กำหนดไว้ จนกว่าจะแพ้ ชนะ หรือเสมอ

ในอดีต หมากรุกถือเป็นกีฬาของคนชั้นสูงในราชสำนัก ต่อมาค่อยๆ แพร่หลายสู่สามัญชน

 

เชื่อกันว่าหมากรุกเป็นกีฬาที่เกิดขึ้นในอินเดีย เรียกว่า “จตุรงค์” หมายถึง กองทัพที่มีกองกำลัง 4 เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลเรือ และพลเดินเท้าหรือเบี้ย มีพระราชาหรือ “ขุน” เป็นจอมทัพ

ในจตุรงค์เดิม ความหวังสูงสุดของพลทหารแนวหน้าหรือเบี้ยที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายบุกไปเพื่อจะได้ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ Queen หรือเรือ หรือกำลังตัวใหญ่อื่นๆ แต่พลทหารหรือเบี้ยของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป้าหมายสูงสุดของทหารเดนตายพวกนี้คือขอแค่ให้ได้เป็น “เม็ด” หรือหัวหมู่ก็เพียงพอแล้ว ไม่มีโอกาสก้าวหน้าไปไกลกว่านั้น

(ประโชติ สังขนุกิจ. 2555 : 146-159)

ตัวบท “เบี้ย” นำอรรถลักษณ์ (Seme) ความเป็นเบี้ย ซึ่งประกอบด้วยการเป็นพลเดินเท้าระดับล่างที่มีหน้าที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายก่อนใครอื่น

ชีวิตไร้ความหมาย มีคุณค่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหมากตัวอื่นๆ มาอุปมาเป็น “ประชาชน” ในสังคมการเมืองไทย ที่ถูกทำให้ไร้ความหมาย ไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมประเทศหรือแม้แต่ชะตากรรมของตนเอง

มีชีวิตที่ไร้ค่า ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจในสังคมการเมืองไทยมาตลอด

ที่สำคัญ ถูกเข่นฆ่าเหมือนผักปลา

นี่คือความหมายของวาทกรรม “เบี้ย” ที่ถูกประกอบสร้างและผลิตซ้ำมาตลอดในสังคมไทย

ดังที่ตัวบท “เบี้ย” ทวนความหมายของเบี้ยไว้ว่า

ใครบางคนเปรียบว่าข้าคือเบี้ย ต่ำเตี้ยสุดบนกระดานการเมืองถ่อย

เป็นไพร่พาลด่านหน้าค่าเพียงน้อย จักกี่ร้อยกี่พันไม่ทันกล

เบี้ยยอมพลีชีพเพื่อผู้เหนือกว่า สัจธรรมธรรมดาอย่าสับสน

เป็นลูกไล่ปลุกปั่นเป็นกันชน หนีไม่พ้นถูกหลอกออกไปตาย (น.14)

จากนั้นตัวบท “เบี้ย” นำอรรถลักษณ์ความเป็นเบี้ยมาพลิกกลับและสร้างความหมายใหม่ให้เป็นไพร่พลด่านหน้าที่ขยันขันแข็งและสู้ยิบตาเพื่อ “ชีวิตใหม่”

เบี้ยในความหมายนี้จึงมีพลัง มีเจตจำนงเสรี และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างชีวิตใหม่ เพื่อไปให้พ้นจากการเป็นไพร่พลราคาถูกที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อผู้เหนือกว่า

เบี้ยยุคใหม่อหังการจะต่อกรกับผู้เหนือกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตใหม่ที่ “เท่าเทียม”

บนกระดานการต่อสู้สู่สิ่งใหม่ เส้นทางเดินยาวไกลแรงใจหนุน

แนวรบร่วมแนวรับปรับสมดุล เบี้ยยุคใหม่ไล่ขุนกลางกระดาน (น.13)

หรือ

เพื่อชีวิตเทียมเท่าเราจึงสู้ ตั้งกระดานเดินสู่วันฟ้าใหม่ (น.14)

“ขุน” คือสัญลักษณ์ของผู้สูงศักดิ์กว่าเบี้ย มีอำนาจเหนือกว่า

และที่ผ่านมาเบี้ยต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อขุน ตัวบท “เบี้ย” มีน้ำเสียงชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้ใครมีอภิสิทธิ์เหนือใครในสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่ขุน

คุณก็เปรียบเบี้ยหมากอีกฟากฝ่าย ม้าเรือโคนโค่นได้ไม่คัดค้าน

เออตีแผ่ออกมาใครสามานย์ เว้นขุนเหนือกระดานไว้ทำไม? (น.14)

ความหมายแฝงของ “ขุน” ในบริบทสังคมไทยคือผู้มีอำนาจเหนือการเมือง หรือ “อำนาจนอกระบบ”

กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยที่บทกวี “เบี้ย” นำเสนอคือภาพเสนอประชาธิปไตยที่ต้องยึดมั่นในหลักความเท่าเทียมเป็นสำคัญ

ขณะที่ภาพเสนอประชาธิปไตยในบทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 คือประชาธิปไตยที่หวนหาสังคมไทยในอดีต ภายใต้จินตภาพ (Imagery) “สังคมแห่งความสมบูรณ์แบบ”

และเพื่อรักษาสังคมไทยอันสมบูรณ์แบบนี้ไว้ ไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยก็ได้ ละเลิกหลักการประชาธิปไตยไปเสียก็ได้ หากมีแล้วสร้างปัญหา

เช่นที่ปรากฏชัดเจนในตัวบท “รีรีข้าวสาร-ลาน อบต.” (สมใจ สมคิด. วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าครั้งที่ 3 : 274)

รีรีข้าวสารที่บ้านป่า ถูกเลือกตั้งสั่งล่าน่าหวาดหวั่น

อบต.นำบ้านตนสู่ทางตัน เมื่อไหร่จะหวนหันวันร่มเย็น

หมู่บ้านแตกสามัคคีแตกพี่น้อง เข้าทำนอง “ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น”

เพียงประชาธิปไตยไม่จำเป็น ถ้าชิงดีชิงเด่นจนเป็นภัย

ตัวบท “รีรีข้าวสาร-ลาน อบต.” แสดงน้ำเสียงชัดเจนว่า หากประชาธิปไตยรังแต่สร้างปัญหาความแตกแยกในหมู่ประชาชนไทยที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบร่มเย็นเหมือนพี่เหมือนน้อง จะไม่มีประชาธิปไตยก็ได้

กล่าวให้ชัดเจนว่า สิ่งสำคัญที่ประชาธิปไตยในตัวบทนี้เชิดชูคือความสมัครสมานสามัคคีและการอยู่กันอย่างพี่น้อง

ไม่ใช่ประชาธิปไตยในเชิงหลักการ

เคารพกติกา : ยอมรับการเลือกตั้ง

เป็นผู้ใหญ่ เล่นการเมือง ใช่เรื่องเด็ก อย่าให้แพ้ คนตัวเล็ก ชวนอดสู

ถูกต้องงาม ตามกติกา จึงน่าดู อย่าแหกกฎ คดข่มขู่ แบบผู้ร้าย

รัฐธรรมนูญแท้เป็นแม่บท ข้อกำหนด แข็งแกร่ง แห่งกฎหมาย

สิทธิหนึ่งเสียง ได้เลือกตั้ง ทั้งหญิงชาย จะชนะ หรือแพ้พ่าย ต้องยอมรับ (น.49)

ตัวบท “เพียงเล่นอย่างเด็กเล่น” ยังคงมีน้ำเสียงชัดเจนในการยืนยันว่าประชาธิปไตยต้องเคารพกติกา และกติกาที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยก็คือ “การเลือกตั้ง”

ตัวบทใช้น้ำเสียงตักเตือน “ผู้ใหญ่” ในสังคมการเมืองไทยให้ยึดเด็กเล่นเป่ายิ้งฉุบเป็นตัวอย่าง

ความหมายแฝงของ “ผู้ใหญ่” ตีความได้ตั้งแต่คนมีอำนาจทั่ว ๆ ไปในสังคม จนถึงเครือข่ายอำนาจนอกระบบ

หรือที่ฝ่ายเสื้อแดงเรียกว่า “ระบอบอำมาตยาธิปไตย”

เช่นเดียวกับตัวบท “เบี้ย” ที่ใช้บริบทของกระดานหมากรุกยืนยันการเคารพกติกา แม้เมื่อเกิดปัญหาต่างๆ นานาขึ้นในสังคมก็ต้องแก้ไขบนแนวทางของประชาธิปไตย

บนครรลองประชาธิปไตย ล้มแล้วลุกเดินใหม่ไม่คว่ำกระดาน

บนครรลองประชาธิปไตย ต้องมิยอมให้ใครคว่ำกระดาน (น.14)

“การคว่ำกระดาน” ในตัวบทสื่อถึงการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนอกระบอบประชาธิปไตย ในบริบทสังคมไทยก็คือการรัฐประหารนั่นเอง

ขณะที่บทกวีพานแว่นฟ้า 2556 นิยามความหมายของประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง ยอมรับผลการเลือกตั้ง และแก้ปัญหาในครรลองประชาธิปไตยเท่านั้น

บทกวีพานแว่นฟ้า 2546-2555 กลับเสนอภาพการเลือกตั้งที่เป็นศูนย์กลางของปัญหาประชาธิปไตยและสังคมไทย

เป็นการเลือกตั้งที่ “เป็นพิษ” ซึ่งประกอบด้วยสองวาทกรรมหลัก “นักการเมืองเลว” กับ “ประชาชนโง่”

เช่นที่ปรากฏในตัวบท “พระเอกคนเดิมของป้า” (นนทวรรณ บุญวงษ์. รางวัลพานแว่นฟ้าปี 2555 : 204-205)

มาแล้ว…พระเอกของป้า รถป้ายโฆษณาหาเสียง

ป้าเทใจให้ไม่เอียง รู้เพียงเบอร์ก็พอแล้ว

ไม่ต้องฟังนโยบาย ไม่ต้องสาธยายเจื้อยแจ้ว

เคยเลือกจดจำย้ำแนว ต่อแถวตามมากาทุกที

ผู้แทนทำอะไรป้าไม่รู้ ไม่ดูที่พรรคที่สี่

รวยเงินแจกป้าว่าดี ผู้แทนผู้ที่ติดดิน

ตัวบทนี้ใช้จินตภาพหญิงชาวบ้านซึ่งประกอบด้วยอรรถลักษณ์โง่ จน ติดละครน้ำเน่า ขาดความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย และเห็นแก่เงิน มาเป็นภาพเสนอของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสังคมไทย เพื่อสื่อต่อไปว่า การเลือกตั้งไทยไม่มีคุณภาพ

วาทกรรมเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำและทำงานซ้อนทับกับวาทกรรมอื่นๆ ทำให้การเลือกตั้งถูกคว่ำกระดานได้อย่างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย