ความสุขในสังคมประชาธิปไตย

ทําไมคนเราจึงวิ่งหาความสุขกันนัก

ทำไมความสุขจึงเป็นวาระสำคัญถึงขนาดจะต้องมีพระเอกขี่ม้าข่าวมาสยบความวุ่นวายและพร่ำให้คำสัญญาว่าจะคืนความสุขกลับมาให้เรา

สำหรับคำถามที่ว่า “ความสุขคืออะไร?”

ดาริน เอ็ม แม็กมาฮอน (Darin M. McMahon) ชี้ชวนให้เราพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์โดยย้อนโยงกลับไปหารากศัพท์ภาษานอร์สและอังกฤษโบราณ

คำว่า ความสุข หรือ happiness มีรากจากคำว่า “hap” เช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศสว่า heur และภาษาเยอรมันว่า Glück ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโชคดี

หมายความว่าเราเคราะห์ร้าย (mishaps) เมื่อสิ่งร้ายเกิดขึ้น (happen) กับเรา เมื่อสิ่งดีเกิดขึ้นกับเราก็แสดงว่าเรามีความสุข ซึ่งภาษาเยอรมันก็คือ Gücklich ส่วนภาษาฝรั่งเศสคือ bon – heur

หากย้อนไปหาประวัติศาสตร์อีกสาแหรกหนึ่งไปถึงสมัยกรีกโบราณ เราจะพบว่าความสุขสัมพันธ์กับความมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ ความมั่งมีศรีสุขหรือความอุดมสมบูรณ์

ชาวกรีกโบราณใช้คำว่า obios หรือ makarios พรรณนาถึงเทพเจ้า ในเพลงสวดของโฮเมอร์ที่สรรเสริญเฮอร์เมส เทพแห่งการสื่อสารนั้น เขาได้พรรณนาถึงถ้ำที่เป็นเคหสถานของเทพเฮอร์เมสกับมารดาด้วยคำว่า makarios เพื่อบ่งบอกถึงความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินศฤงคาร อุดมล้นด้วยเงินและทอง

ในทางตรงข้าม ความยากจนหรือสิ้นไร้ไม้ตอกนั้นเชื่อมโยงกับคำว่า miser หรือคนตระหนี่ ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกับ misery อันหมายถึงความลำบากยากเข็ญหรือความอัตคัดขัดสน

ในแง่นี้เราจะพบว่าความสุขคือความมั่งคั่ง ส่วนความทุกข์คือความยากจน

วิลเลียม เจมส์ นักปรัชญาชาวอเมริกัน กล่าวไว้ในงานที่ชื่อ Varieties of Religious Experience หรือ ความหลากหลายของประสบการณ์ศาสนา ว่าการแสวงหาความสุขดูเหมือนจะเป็นแรงจูงใจสำคัญของมนุษย์เสมอมา

แม็กมาฮอนย้ำว่าไม่มียุคสมัยใดหมกมุ่นกับเรื่องความสุขเท่ายุคปัจจุบันอีกแล้ว

อันที่จริงแล้วผู้คนตะวันตกจำนวนมากเริ่มคิดถึงเรื่องความสุขในชีวิตนี้หรือชาตินี้ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้เอง

เนื่องจากในอดีตยังมีอิทธิพลของคริสต์ศาสนาที่สอนว่าโลกนี้เป็นเพียงทางผ่านไปสู่ความสุขในโลกหน้า

แต่เดิมสังคมตะวันตกจะมองว่าความสุขเป็นเรื่องของอนาคต ทำนองยุคพระศรีอาริย์ที่คนไทยเราคุ้นเคย

หรือไม่ก็เป็นเรื่องของอดีตอันไกลโพ้นอย่างตอนที่อยู่ในสวนอีเดนก่อนอดัมกินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว

หรือไม่ก็หมายถึงยุคทองสมัยโบราณ

คนไทยเราคงนึกถึงภาพยุคในน้ำมีปลาในนามีข้าวสมัยสุโขทัยที่คุ้นเคยกันจากหนังสือเรียน

หากมองย้อนไปในยุคคลาสสิคหรือยุคกรีกนับตั้งแต่โสเครติสไปถึงในช่วงศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล ความสุขจะเชื่อมโยงกับเรื่องคุณธรรม หรือ Eudaimonia ซึ่งได้รับการพัฒนาเรื่อยมาโดยนักปรัชญากรีก-โรมัน โดยเน้นการที่มนุษย์บรรลุเป้าหมายอันประเสริฐในชีวิตตน

งานที่โดดเด่นได้แก่ The Nichomachean Ethics ของอริสโตเติล

แม็กมาฮอนชี้ว่า จริงอยู่ที่ความสุขชนิดนี้จะบรรลุถึงได้ในชีวิตนี้หรือชาตินี้ ไม่ต้องรอไปจนถึงชาติหน้า

แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการอบรมบ่มเพาะบุคลิกลักษณะและอุปนิสัย

อย่างเช่น การจะเป็นนักแสดงที่ดีได้จะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก แม้ว่าจะเหน็ดเนื่อย ท้อแท้ แต่เมื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นเลิศแล้วก็ถือได้ว่ามีความสุข

นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จก็ไม่ต่างกัน อริสโตเติลเรียกความสุขแบบนี้ว่า “ชีวิตขั้นเทพ” (god-like life) ซึ่งใช่ว่าใครๆ ก็สามารถทำได้

ความสุขเช่นนี้จึงแตกต่างจากความสุขในความหมายของความพึงพอใจจากการได้กินช็อกโกแลต โดนัท หรือไอศกรีม

แล้วความเชื่อที่ว่าความสุขเป็นเรื่องที่คนเราทุกคนควรแสวงหาเริ่มเมื่อใด

แม็กมาฮอนชี้ว่าความสุขของมหาชนเพิ่งเริ่มปรากฏในศตวรรษที่ 18 ในยุคแสงสว่างแห่งปัญญา

ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสระหว่างการปฏิวัติระบุถึง “ความสุขร่วมกัน” ของประชาชน

ในสารานุกรมของดิเดโรต์ก็ยังมีเขียนไว้ว่าความสุขไม่สมควรเป็นของคนทุกคนดอกหรือ

แซ็ง-ฌุสต์ (Saint-Just) ผู้นำทางการเมืองในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสและเป็นสหายของโรแบ็สปีแยร์ (Robespierre) ก็ยังกล่าวว่า “ความสุขเป็นแนวคิดใหม่ของยุโรป” ความสุขจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี ผู้คนในโลกที่พัฒนาแล้วคิดว่าความสุขเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มนุษย์พึงมีนั้น

อันที่จริงแล้วก็เป็นเพียงความเชื่อที่มาจากสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ควรมีความสุข

นั่นคือเป็นความเชื่อหรือศรัทธามากกว่าสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าจริงๆ แล้วมนุษย์มีธรรมชาติเช่นนี้หรือไม่

อันที่จริง รุตต์ เฟนโฮฟเฟิน (Rutt Veenhoven) นักสังคมวิทยาชาวดัตช์ก็ตอกย้ำว่าความสุขเป็นประเด็นสำคัญ

เจเรมี เบนแธม นักปรัชญาสายประโยชน์นิยมถึงกับระบุว่ารัฐบาลมีหน้าที่สร้างความสุขที่มากที่สุดให้กับพลเมืองจำนวนมากที่สุด

เฟนโฮฟเฟินเห็นว่าเราอาจจะนิยามความสุขได้ 4 แบบ แบบแรก คือ สิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ เช่น สังคมที่อยู่ดีกินดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือในทางเศรษฐกิจเรียกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดี (welfare) นักเศรษฐศาสตร์จะให้ความสำคัญกับความสุขชนิดนี้ เราจะเห็นได้ว่านิยามนี้เน้นปัจจัยภายนอก และไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของความสุข หากแต่เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความสุขมากกว่า

นิยามแบบที่สอง คือ คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสัมพันธ์กับคำถามที่ว่าเราจัดการกับชีวิตได้ดีเพียงใด นักจิตวิทยาอาจเรียกความสุขแบบนี้ว่า “คุณภาพชีวิต” หรือในทางชีววิทยาคือความสามารถในการปรับตัว ความสุขแบบนี้เป็นเรื่องที่นักจิตวิทยาและนักการศึกษาสนใจ และถือเป็นคุณลักษณะภายในตัวบุคคล

นิยามแบบที่สาม คือ การใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์ หรือการเห็นคุณค่าที่สูงขึ้นไปกว่าแค่มีชีวิตอยู่ เช่น การใช้ชีวิตโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำนุบำรุงวัฒนธรรม นักศีลธรรมมักจะให้ความสำคัญกับความสุขประเภทนี้ แต่ก็ไม่อาจจะเรียกว่าความสุขที่แท้จริงได้ เพราะหลายครั้งผู้ที่อุทิศชีวิตตนเพื่อประโยชน์ของสังคมอาจจะไม่มีความสุขก็ได้

นิยามแบบที่สี่ ได้แก่ ความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อันเป็นคุณลักษณะภายในแต่ละคน

เฟนโฮฟเฟินเห็นว่านี่คือนิยามความสุขที่แท้จริง นั่นหมายความด้วยว่า ถึงแม้รัฐบาลจะจัดสรรความสุขจำนวนมากให้พลเมืองจำนวนมากได้ ก็เป็นเพียงเงื่อนไขของความสุข ไม่ใช่ตัวความสุขเอง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในบริบทสังคมประชาธิปไตย ริชาร์ด รอร์ตี้ (Richard Rorty) นักปรัชญาชาวอเมริกันเห็นพ้องกับ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ (Peter Singer) นักปรัชญาผู้เรียกร้องความเท่าเทียมของสัตว์

กล่าวคือ เราควรขยายวงความสุขของ “พวกเรา” ออกไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้

นั่นก็คือการขยายความสุขจำนวนมากที่สุดไปสู่คนจำนวนมากที่สุดตามหลักประโยชน์นิยมของ จอห์น สจ๊วต มิลล์ จุดตั้งต้นหาใช่การพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์ที่มีลักษณะตายตัว ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การแบ่งมนุษย์ออกเป็นสองเพศ คือเพศชายกับหญิงก็จะนำไปสู่การเหยียดเพศทางเลือกอื่นๆ

รอร์ตี้เห็นว่าไม่ควรนำแนวคิดทางศาสนาอย่างการไถ่บาป (redemption) มาใช้กับบริบทพื้นที่สาธารณะและการเมือง เนื่องจากวางอยู่บนฐานคิดที่มองมนุษย์แบบตายตัวว่ามีส่วนของเหตุผลและตัณหา ซึ่งจะต้องระงับส่วนหลังนี้ไว้

เขาเห็นว่าไม่มีความปรารถนาใดของมนุษย์ที่เป็นความชั่วร้ายมหันต์ เช่น เราอยากให้ลูกหลานของเราได้อยู่ดีกินดีกว่าลูกหลานคนอื่น แต่รอร์ตี้เห็นว่าความปรารถนาดังกล่าวขัดกับความเป็นธรรม (fairness)

ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับความปรารถนาอย่างอื่นที่เป็นธรรมมากกว่าเพื่อขยายวงประโยชน์สุขของ “พวกเรา” ให้กว้างที่สุด โดยคำนึงถึงสิทธิพื้นฐาน ความเท่าเทียมทางโอกาสและผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ในสังคมด้วย

แนวคิดแบบที่รอร์ตี้เสนอ เรียกว่าเป็นสัมพัทธนิยม (relativism) นั่นคือเราไม่มีรากฐานใดๆ ที่จะใช้ตัดสินได้ว่าจุดยืนของใครถูกต้องที่สุด

เพราะเราไม่อาจจะหาจุดยืนที่สามมาตัดสินจุดยืนที่ขัดแย้งกันได้ว่าใครถูกต้องมากกว่ากัน ไม่ว่าจะพิจารณาในเชิงปรัชญาหรือประวัติศาสตร์ก็ตาม ลักษณะ “ปลายเปิด” เช่นนี้นำไปสู่การเน้นการถกเถียงอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ดังที่นักคิดอย่าง จอห์น ดิวอี้ หรือ เยือเกน ฮาเบอร์ มาสสนับสนุน ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่เราอาจเรียกว่าตลาดเสรีทางความคิด (free market of ideas) ทำให้เกิดการแข่งขันกันทางความคิด

เช่น ใครอยากจะใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง สร้างบ้านดินอยู่ ปลูกผักไว้กินเองแบบเรียบง่ายก็ย่อมทำได้

แต่ไม่ใช่การใช้หลักคิดทางศาสนาเข้ามาชี้วัดตัดสินว่าความปรารถนาหรือความต้องการเป็นสิ่งที่ผิดบาปและพึงขจัดออกไปเสีย

ในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2549 กระแสความตระหนกตกตื่นทางศีลธรรม (moral panic) ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่จับมือกับทุนนิยมเสรี พร้อมคำก่นประณามประชาชนคนรากหญ้าที่ต้องการลืมตาอ้าปากว่าละโมบและถูกหลอกโดยนักการเมืองผู้ฉ้อฉล มาจนถึงการสิ้นสุดของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมทั้งคำสัญญาที่จะนำความสุขกลับคืนมาให้กับประชาชน

หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ อุดมการณ์มาร์กซิสม์ที่ให้คำสัญญาว่าจะปลดปล่อยชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด ซึ่งชวนให้นึกถึงการกระทำกิจเชิงศาสนาอย่างการไถ่บาปนั้น กลับกลายรูปไปเป็นลัทธิสตาลิน

และตัวสตาลินเองก็สถาปนาตนเองเป็น “ผู้นำพาความสุข” (the Constructor of Happiness!)

และผลที่เกิดขึ้นเราสามารถเปิดดูในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ได้

ถึงที่สุดแล้ว คำสัญญาของอัศวินขี่ม้าขาวที่ว่าจะส่งคืนความสุขนั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่

หากหมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะในแง่ความสุขหรือเงื่อนไขของความสุข ก็น่าสงสัยว่าเราถูกจับจูงให้เดินมาถึงจุดนั้นแล้วหรือไม่

แต่หากหมายถึงความปกติสุขในความหมายเดียวกับความสงบราบคาบแล้วละก็

เราอาจจะเดินมาใกล้ถึงจุดหมายปลายทางเต็มทีแล้วก็ได้

หมายเหตุ : แนวคิดของ ดาริน เอ็ม แม็กมาฮอน และ รุตต์ เฟนโฮฟเฟิน สามารถอ่านได้ในหนังสือ Happiness, Economics and Politics Towards a Multi-Disciplinary Approach ที่ Amitava Krishna Dutt และ Benjamin Radcliff เป็นบรรณาธิการ ส่วนข้อเสนอของ ริชาร์ด รอร์ตี้ สามารถอ่านได้ในหนังสือ An Ethics for Today : Finding Common Ground Between Philosophy and Religion