ประธานที่ปรึกษา นปช. ตอบได้คำเดียว “Let it be” – คสช.ปฏิรูปประเทศไม่สำเร็จ เพราะไร้ “พลังของประชาชน”

เคยเป็นห่วงมานานแล้ว ว่าต่อกรณี “อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”  “ตอบไม่ได้เลย” ว่าสถานการณ์มันจะเป็นอย่างไร พูดได้แต่ว่า “Let it be” ที่ตอบไม่ได้เพราะว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดการ ในนามพรรคก็ทำไม่ได้ ในนาม นปช. ก็ไม่มีทรัพยากรไปทำ คนก็ถูกบล๊อก แกนนำเสื้อแดงถูกบล๊อกไม่ก็ติดคุกกันหมด มันเหลือแต่ “หัวใจประชาชน” และอย่าคิดว่าหากบล๊อกหัวได้หมดแล้ว “ประชาชนจะหยุดต่อสู้” เพราะการที่ไม่มีหัวไม่มีแกนนำในการต่อสู้เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่ามีแกนนำอีกด้วย ประชาชนเป็นอาวุธที่สำคัญกว่า เพราะว่า “ควบคุมไม่ได้”

นั่นคือทัศนะของ ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา กลุ่ม นปช. ที่มีต่อสถานการณ์หลังวันที่ 25 สิงหาคม วันตัดสินคดีจำนำข้าว ซึ่งจะเป็นวัน “ทดสอบประชาชน”

ธิดามองว่า “ความรู้สึกของประชาชน” เป็นสิ่งสำคัญที่ฝ่ายกุมอำนาจต้องประเมิน ของทั้งผู้ที่มาปรากฏตัวและไม่มาหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะการกระทำที่เกิดขึ้นต่อ “อดีตนายกฯ” ย่อมส่งผลใดๆ และเป็นการเพิ่มคะแนนสงสารให้กับฝั่งพรรคเพื่อไทยมากขึ้น

ธิดามองว่า คนที่มาปรากฏตัวหน้าศาลเป็นตัวชี้วัดทางการเมืองได้ เพราะคนที่เขาอยากมาปรากฏตัว ต้องการแสดงสัญลักษณ์ในการต่อสู้ ไม่ใช่เพื่อยิ่งลักษณ์หรือเพื่อไทย แต่เพื่อหลักนิติธรรม

 

จึงคิดว่าครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่ คสช. กลัวตั้งแต่หลังจากทำรัฐประหาร

 

ธิดาบอกอีกว่าไม่ต้องกลัวจะมีการต่อต้าน คสช. ไม่คิดว่าจะมี แต่คนจะรู้สึกว่าการควบคุมต่างๆ ของ คสช. ทำมากไป ประชาชนอดทนมามากแล้ว แค่จะมาให้กำลังใจ ควรให้พื้นที่เขา ควรจะอดทนแบบที่ประชาชนอดทนต่อ คสช. บ้าง เขาจะเกิดคำถามในหัวว่าคุณไม่เคยรักใครเลยหรือ? ฉะนั้น ผลที่จะออกมานั้น เปรียบเสมือน “เปิดประตู” แต่จะเป็นประตูแห่งปรองดองหรือสงคราม แล้วแต่ผู้กำหนด

จากความวิตกของ คสช. ที่เกิดขึ้นทำให้ประธานที่ปรึกษา นปช. เห็นว่า คสช. จำเป็นต้องทำทุกวิธีเพื่อลดจำนวนคน ในทางกลับกัน นปช. และพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ทำการใดเพื่อให้เพิ่มมวลชนเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ต้องไปพูดการจ้างเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งการสกัดกั้นครั้งนี้ ยึดโยงการปิดสถานีพีซทีวี ที่ส่วนตัวได้คาดการณ์ไว้นานว่าจะถูกปิด ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะทั้งหมดเกิดจาก “ความกลัว”

ประธานที่ปรึกษา นปช. กล่าวว่า ต้องย้อนถามว่าความกลัวนี้มีที่มาจากอะไร? หากเขามั่นใจว่าทำถูกต้องตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ต่อให้เขามาจากการรัฐประหารก็ตาม ก็ไม่เห็นต้องกลัว

แต่เพราะเขารู้ว่ามีความไม่เห็นด้วย มีความคับข้องใจในหมู่ประชาชน จึงก่อให้เกิดความหวาดกลัวของผู้ปกครองที่ไม่สามารถปกครองได้ เพราะว่าไม่ได้รับการยอมรับหลายเรื่อง

ผลคือการระดมสรรพกำลัง “โอเวอร์แอ๊กชั่น” ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ครั้งนี้เป้าหมายคือ บล๊อกมวลชน หลังบล๊อกระดับหัวได้หมดแล้ว เป็นความพยายามต่อยอดไปอีก ในการคุมคนคิดต่าง

แต่ธิดาเตือนว่า การใช้อำนาจทางกองทัพและทางกฎหมายแบบนี้มันจะคุมได้แค่ระยะเวลาหนึ่ง แต่ในเชิงการเปลี่ยนแปลงประเทศนั้นมองว่า คสช. ทำไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องขึ้นอยู่กับ “ประชาชน”

เมื่อเทียบกับการทำรัฐประหารครั้งก่อนๆ ครั้งนี้มี “เป้าหมายสูงมาก” กว่าครั้งใดๆ เพราะมีบทเรียนไม่ให้เสียของ เท่ากับว่าผลึกความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่บรรลุผล จึงออกมาทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก ยุทธศาสตร์ชาติและกรรมการ 20 ปี, คณะกรรมการปฏิรูป เป็นความทะเยอทะยานที่สูงมาก แต่ยังไงก็ไม่สำเร็จ เพราะเป้าหมายแบบนี้ต้องทำและมีส่วนรวมในหมู่ประชาชนเท่านั้นจึงจะสำเร็จ

“อาจจะจริงอยู่ที่ตอนนี้เขามีทั้งกำลังพล กำลังอาวุธ มีรัฐข้าราชการอยู่ในมือ ได้เปรียบประชาชนอยู่แล้ว (ประชาชนในที่นี้คือ ทุกคน ไม่ใช่แค่ นปช.) ไม่ว่าคุณจะเชียร์ พท. ปชป. ชทพ. เพราะอำนาจอยู่ในมือคุณ แต่ชนชั้นนำที่กุมกลไกรัฐผ่านคณะบุคคล ที่กระทำอยู่ตอนนี้เหมือน “หมุนกงล้อทวนประวัติศาสตร์” แล้วหมุนไปไกลมากย้อนไป 40-50 ปี นั่นเท่ากับว่า กำลังทำลายอนาคต 50-60 ปี คำถามคือ ภาคธุรกิจเอกชนจะยอมหรือ?”

ธิดากล่าว

“ธิดา” มองว่า หลังๆ คนเริ่มคิดได้แล้วว่า ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไประยะยาวจะไม่รอด คนจะทนไม่ได้ แต่ตอบไม่ได้ว่าจุดเดือดจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้หรือไกล

แต่เท่าที่สัมผัสดู คนวิตกอยู่ว่าหากอยู่นานๆ ไปเศรษฐกิจจะเสียหายหนัก แม้ว่าเราจะเฟ้นคนเก่งคนดีมาบริหาร แต่ถ้าตั้งต้นด้วยความคิดล้าหลังไม่ทันสมัยก็ไม่ได้ผล คิดว่าทุกวันนี้คนเริ่มเข้าใจแล้ว

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาหลัก ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเลย แต่กลับอยู่ที่ผู้มีอำนาจ ในฐานะเป็นผู้กระทำและมีลักษณะเหนือกว่าท่ามกลางความขัดแย้งนี้ และเป็นผู้กำหนดชะตากรรม ประชาชนเป็นด้านรอง

ฉะนั้น ความรุนแรงปัจจัยอยู่กับผู้ปกครอง อยากให้ถามตัวเองว่าจะเปิดประตูไหน จะเป็นผู้ชนะได้ทั้งหมด “เดอะวินเนอร์เทกออล” ต้องเอาชนะให้ได้ทุกเรื่อง โดยไม่สนใจให้ที่ยืนกับประชาชน คิดแบบ “ซีโร่ซัมเกม” คือต้องมีฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายหนึ่งต้องวายวอด เป็นวิธีคิดโบราณ มันอันตรายมาก

แต่ถ้าถามว่าจุดเดือดอยู่ตรงไหน ก็ไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้ายังเอาฟืนไปก่อไฟเรื่อยๆ ก็ถึง ถ้าเอาฟืนออก เลิกทำสิ่งที่จะก่อให้เกิดปัญหามันก็จะจบ

ส่วน “พลังเงียบ” เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องจับตา เพราะจะสำคัญอย่างมากในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเกลียดทักษิณหรือไม่? ถึงวันนั้นคนจะเปลี่ยนมุมมองจากเรื่องตัวบุคคลมาเป็นหลักการความถูกต้องและเศรษฐกิจ จะเป็นแรงสำคัญ ที่คนจะมองว่าเศรษฐกิจสู้ไม่ได้เป็นเพราะการเมือง เลยมาสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมือง

“พลังเงียบ” ในที่นี้คือคนชั้นกลางระดับบน ที่วันหนึ่งจะเข้าใจว่าเราจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้

นอกจากนี้ ธิดาฉายภาพให้ดู ถึงความที่แกนนำและคนสำคัญใน นปช. มีคดีจ่อคอกันเรียงเป็นหางว่าว เริ่มตั้งแต่ จตุพร พรหมพันธุ์ แม้ขณะนี้อยู่ในเรือนจำแล้ว ก็ยังมีคดีหมิ่นประมาทติดตัวรวม 4 คดี ยังเหลือหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (กรณีหน้าวัดไผ่เขียว) อีก

นอกนั้นแกนนำคนอื่นๆ อาทิ หมอเหวง, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กรณีปราศรัยหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์, กรณีก่อการร้าย, กรณีที่พัทยา เป็นต้น ทุกคนมีคดีจ่อไปหมด ซึ่งหลายคดีถึงชั้นฎีกาแล้วด้วย

ฉะนั้น แนวโน้มสิงหาคม-กันยายน แกนนำหลายคนจะต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ไม่ต้องพูดเรื่องประกันตัว ถึงวันหนึ่งอาจจะไม่มี นปช. ก็จะมีกลุ่มอื่นๆ แต่อย่าคิดว่าประชาชนจะหยุด ประชาชนคืออาวุธที่สำคัญกว่าแกนนำ หากผู้มีอำนาจมุ่งแต่เรื่องแกนนำ ก็เหมือนฟันดาบลงในทราย

ดาบสัมผัสส่วนหนึ่ง แต่ไม่อาจทำลายผืนทรายได้!