รายงานพิเศษ : นักวิชาการถอดรหัส หลัง “ทรัมป์” ดีเลย์พบ “บิ๊กตู่” เตือนไทยระวังเสียเปรียบสหรัฐ!

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในเร็ววันนี้ จะยังไม่มีการไปเยือนสหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังได้คุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ แล้วมีการให้ข้อมูลจากทางฝั่งรัฐบาลเราว่า “ทรัมป์” ได้เชื้อเชิญให้ “บิ๊กตู่” ไปพบ

ซึ่งทางการไทยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล้วน “ตื่นเต้น” และ “เตรียมการ” อย่างเต็มที่

เพราะนี่คือ “กุญแจสำคัญ” ที่จะทำให้เกิดการ “ยอมรับ” จากนานาอารยประเทศได้ หลังการเข้ามาบริหารประเทศ 3 ปี

รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญอเมริกันศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อธิบายว่า “ปธน.ทรัมป์” มองด้านหนึ่งเป็น “เสือปืนไว” เหมือนเป็นคนดูง่ายๆ ไม่ชอบขั้นตอนมากมาย ชอบทำอะไรไวๆ พูดไม่ได้คิดอะไรมาก

ในทางกลับกันมองได้อีกด้านหนึ่งว่ามีความแยบยล ในการดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศ มากกว่าที่หลายๆ คนคาดคิด หรือให้เครดิตไว้

ในวันแรกที่ทรัมป์รับตำแหน่ง รศ.ดร.ฐิตินันท์ เล่าว่าได้ไปประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนักวิชาการหลายประเทศ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ทรัมป์น่าจะให้ความสำคัญกับกลุ่มอาเซียนน้อยมากๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโอบามาเคยให้ความสำคัญไว้มากและมีการเดินสายพบปะผู้นำในภูมิภาคนี้อย่างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นผลงานสำคัญที่โอบามาเลือกปักหมุดภูมิภาคนี้

ขณะที่ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการก่อการร้าย ปัญหาซีเรียกับตะวันออกกลาง และเห็นชัดสุดคือเกาหลีเหนือที่มองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอย่างใหญ่หลวง กรณีพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ เกิดความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งช่วงต้นทรัมป์แทบจะไม่พูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย และไม่มีวี่แวว เสมือนเขาไม่เคยสนใจว่ามีอาเซียนอยู่

แต่เมื่อรับตำแหน่งผ่านมา 6 เดือนเริ่มให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งมาจาก “เกาหลีเหนือ” สหรัฐจึงจำเป็นต้องหาเพื่อนหาพวก และกระชับสายสัมพันธ์กับพันธมิตร คือไทยและฟิลิปปินส์ที่เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญามายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันในช่วงสงครามเย็น

เลยต้องเบนเข็มมาทางนี้มากขึ้น เพื่อ “โดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ”

ส่วนการยกหูโทรศัพท์ระหว่างผู้นำนั้น การดำเนินนโยบายทางการทูตไม่ว่าระดับไหน จะมีครรลอง-ช่องทางอยู่แล้ว แต่ด้วยบุคลิกของทรัมป์ที่ชอบใช้ความเป็นส่วนตัวสูง ชอบจับมือทักทายเดินสายตรง พบเอง พูดเอง ไม่ชอบใช้กระทรวงต่างประเทศ แต่ใช้กลไกตัวต่อตัวแบบนี้

ฉะนั้น กรณีการคุยกับประยุทธ์ผ่านทางโทรศัพท์ ตามธรรมเนียมโดยมากจะมีต้นเรื่อง ตามช่องทาง เพราะถ้าตัวต่อตัวมักจะมาจากการเจอกันในที่เวทีประชุมอื่นๆ เจอกันก็เชิญกันว่าให้มาเยี่ยมประเทศเขาประเทศเรา

แต่กระนั้นต้องดูจังหวะ ในช่วงที่ทรัมป์โทร.หาผู้นำ 3 ประเทศ พล.อ.ประยุทธ์, ดูแตร์เต (ฟิลิปปินส์) และ ลี เซียน ลุง (สิงคโปร์) เกิดขึ้นหลังประชุมเอเซียนซัมมิต สิ้นเดือนเมษายน ถ้าใครจำได้จีนเดินหมากหนักในช่วงนั้น และเป็นช่วงเดียวกับที่เกาหลีเหนือทดสอบอาวุธ ทำให้สหรัฐต้องเดินเกม

ซึ่งเมื่อพิจารณา-ดูปฏิกิริยาเปรียบเทียบ ดูแตร์เตไม่ให้ค่าสหรัฐเท่าไหร่ บอกว่ายุ่งอยู่ ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ตอบรับ ส่วนหนึ่งเพราะไม่พอใจโอบามามากในอดีต ทำให้ความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-สหรัฐตึงเครียด ประกอบกับบุคลิกของดูแตร์เตเป็นตัวของตัวเองสูง คะแนนนิยมในประเทศสูง มีจุดยืนชัดเจน ไม่ได้นอบน้อมอ่อนข้อ และมีเรื่องราวอื้อฉาวเรื่องการปราบยาเสพติด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ฟิลิปปินส์ไม่ต้องการมีเงื่อนไขหรือถูกวิจารณ์ รวมทั้งถูกแทรกแซงใดๆ จากมหาอำนาจ

อีกประการหนึ่งคือฟิลิปปินส์เป็นประธานอาเซียนปีนี้ และทรัมป์มีคิวต้องมาประชุมที่กรุงมะนิลาอยู่แล้ว อำนาจต่อรองสูงจะไปเป็นแขกทำไม

ขณะที่ ลี เซียน ลุง เพิ่งพบเจอทรัมป์ไม่นานมานี้ และมีคิวที่จะเจอกันอีก

สิ่งที่ต้องวิเคราะห์คือ ไทยเราซึ่งไม่มีวี่แววเลย

3ปีที่ผ่านมาไทยไม่เป็นที่ยอมรับตั้งแต่มีการยึดอำนาจ ฉะนั้น ต้องไปดูว่าการเชิญทางโทรศัพท์อันนี้เป็นมั่นเป็นเหมาะขนาดไหน มีลักษณะแบบไหน ได้รับการยืนยันเพียงใด

ปฏิกิริยาที่น่าสนใจคือทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ยังคงสงวนท่าที มิเช่นนั้นต้องมีการประสานและดำเนินขั้นตอนต่างๆ ให้

จึงมองได้ว่าเป็นการพูดในเชิง เพื่อความเป็นมิตร แต่ฝั่งเราด้วยความที่ไม่ได้รับการต้อนรับหรือยอมรับเลยกระตือรือร้นมาก พอได้ฟังคำสองคำก็จะรีบไปเยือน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการยอมรับ และมีความชอบธรรมระดับหนึ่ง

ซึ่งในตอนแรกมีการเผยวันมาว่าเป็นวันที่ 19 กรกฎาคม แต่เอาเข้าจริงก็เลื่อนออกไปก่อน ส่วนหนึ่งเป็นห่วงว่าการกระตือรือร้นมากไปเราจะเสียอำนาจต่อรอง

ยกตัวอย่างคือผู้นำเวียดนามเพิ่งไปเยือนมา กลับต้องเป็นฝ่ายซื้ออาวุธจากสหรัฐ เพื่อลดการเสียเปรียบดุลการค้าของสหรัฐ

ทรัมป์ไม่ได้ให้ใครกลับไปมือเปล่า ตามประสานักธุรกิจชอบดีลตัวต่อตัว และไทยก็ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐ เช่นเดียวกับเวียดนาม ฉะนั้น เราไม่ต้องกระตือรือร้นมาก เราจะเสียอำนาจต่อรอง

การจะพบเจอกันต้องมี “ดุลยภาพ” หากเรากระตือรือร้นมากๆ แต่อีกฝ่ายเฉยๆ

“เราจะเสียเปรียบ”

รศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าว

อีกสิ่งที่เป็นไปได้ คือกระทรวงต่างประเทศสหรัฐคงต้องแจ้ง ปธน.ทรัมป์ ว่าหากมีการให้ไทยมาพบจะเป็นการเปลี่ยนแปลงค่านิยมจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งขัดกับหลักการและค่านิยมที่สหรัฐยึดถือมาตลอด เป็นอีกเหตุผลที่เขาอาจจำต้องชะลอ หรือไม่ก็ทางทรัมป์เองก็มีภารกิจยุ่งมากๆ อยู่แล้วด้วย

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตกรณีที่เรามีการดำเนินการเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มข้นแม้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในประเทศ จนมองว่าเป็นการทำไปเหมือนเป็นการเอาใจสหรัฐหรือไม่นั้น รศ.ดร.ฐิตินันท์กล่าวว่า ประเทศไทยในอดีตเรามีศักดิ์ศรีในการต่างประเทศสูงมาก การทูตเป็นอันดับหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกว้างขวาง ไม่เคยต้องยอม ไม่ต้องเอาใจใครเป็นพิเศษ จะเอาใจมหาอำนาจไหนก็ต้องมี “ความสมดุล”

ถ้ามีความชอบธรรมไม่ต้องเอาใจสหรัฐขนาดนั้น ซึ่งก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าเขาจะให้อะไรแก่เรากลับคืนมาบ้าง

หรือการที่เราเลือกหันไปคบค้ากับจีนอย่างหนัก มีการซื้ออาวุธและอีกหลายระดับความร่วมมือระหว่างกันจนทำให้เราอาจจะเสียสมดุล

ส่วนมุมมองที่เขามีต่อเรา เขาจะมองไทยแบบเดียวกันกับในความสัมพันธ์ฟิลิปปินส์ และชาติอื่นๆ ในอาเซียนคือ เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญา โดยต้องการความร่วมมือจัดการเกาหลีเหนือ ซึ่งด้วยปัญหาในประเทศเรา ไม่เดินหน้าร่วม 10 ปี ทำให้อำนาจต่อรองของไทยลดลงตามลำดับ ส่วนอินโดนีเซีย เวียดนาม กลับพุ่งขึ้นมาในภูมิภาคนี้

ซึ่งเราจะเห็นได้ชัด 3 ปีที่ผ่านมา ญีปุ่น/อินเดียก็สองจิตสองใจกับไทย ยุโรปและฝั่งตะวันตกไม่ให้การยอมรับ แต่ถ้าเรามีรัฐบาลที่มีความชอบธรรม มาจากเสียงของประชาชนจะเป็นที่ยอมรับถ้วนหน้า

วันนี้จีนรับรัฐบาลเผด็จการ แต่จีนก็ไม่ปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชน ถ้าเราได้รัฐบาลที่มีผู้แทนจากประชาชน จะทำให้การยอมรับเรามีขึ้นอย่างทั่วถึง

อีกปีครึ่ง ไทยจะเป็นประธานอาเซียน ถ้าเราพร้อมกว่านี้เราจะขึ้นท็อป 20 ในโลกนี้ได้เลย เพราะขนาดเศรษฐกิจไทยมีน้ำหนักพอ เพียงแต่เรากลับอยู่ในวังวนของความขัดแย้งยาวนาน มีแต่ความไม่แน่นอน ทำให้ย่ำอยู่กับที่เดิม ส่งผลให้อันดับเราก็ตกไปเรื่อยๆ เมื่อไม่ได้รับการยอมรับ ก็ทำให้เรามีสองอย่างคือ “ทรงกับทรุด” เท่านั้น จะผงาดขึ้นคงยาก

สุดท้ายหากวันหนึ่งในรัฐบาลนี้ หากไทยเราได้เยือนสหรัฐนั้น คิดว่าสหรัฐก็คงคิดหนัก ถ้าเขาฉลาดเขาจะใช้วิธีแบบญี่ปุ่นคือให้มาเยือนได้ แต่ต้องยืนยันว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนในเร็ววัน ซึ่งญี่ปุ่นทำแบบนี้มาแล้ว

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็อาจทำให้ไทยมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น นำไปสู่การปรับความสัมพันธ์กับยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่กับเงื่อนไขว่าเราจะต้องไปให้อะไรกับเขาหรือว่ายื่นหมูยื่นแมวกัน เราต้องยืนหยัดตั้งสติให้ดีๆ การเยือนต้องแบบแฟร์ๆ หรือจะให้เขามาก็ได้ (ถ้าเขายอมมา) หรือไปพบกันในเวทีอื่นๆ

เราจะได้ไปวันไหนเมื่อไหร่ไม่สำคัญเท่าว่าประเทศไทยได้หรือเสียอะไร!

 

ผู้อ่านสามารถรับชมคลิปสัมภาษณ์พิเศษ  รศ.ดร.ฐิตินันท์ ย้อนหลังได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ (ออกอากาศครั้งแรก 14 ก.ค. 60)