ในดนตรีมีบาตอง : บทความพิเศษ

บาตอง หรือ Baton คือไม้ชิ้นน้อยหรือไม้ขนาดเล็กและสั้นที่วาทยกรผู้อำนวยเพลงใช้ในการอำนวยเพลง สำหรับเป็นเครื่องชี้และเคาะให้สัญญาณความหมายสำหรับคุมจังหวะ

และใช้บอกให้ใช้ความเร็วเพิ่มมากขึ้นหรือน้อยลง

ชี้บอกให้ความรู้สึกหรือให้ปฏิบัติเสียงดังขึ้นหรือเบาลง สำหรับการบรรเลงโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ

ปัจจุบันนี้ บาตองเป็นไม้ชิ้นเล็กและเป็นที่คล่องตัว สำหรับมือที่ใช้จับเพื่อผู้ถือคือวาทยกรใช้ความพลิกแพลงได้อย่างง่ายไม่ลำบาก มีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร หรือ 18 นิ้วฟุตหรือฟุตครึ่ง

ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าบาตองมีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อไร

กล่าวกันว่าในสมัยศตวรรษที่ 15 คณะนักขับร้องโบสถ์ซิสตีน (Sistine) ในวาติกัน (Vatican) ของกรุงโรม อิตาลี สมัยสันตะปาปาเลโอที่สิบ (Leo X) ค.ศ.1513-1521 ซึ่งมีจำนวนนักขับร้อง 32 คน ประวัติศาสตร์ได้มีบันทึกไว้ว่า มาเอสโตร ดี คัปเปลลา (maestro di cappella) ศาสตราจารย์ดนตรีของโบสถ์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยเพลง บ่อยครั้งมักจะใช้มือถือม้วนกระดาษที่สมัยหนึ่งเรียกกันว่า “ซอล-ฟา” (sol-fa) ปฏิบัติการ

ต่อมาถึงศตวรรษที่ 17 เป็นแฟชั่นสำหรับวาทยกรผู้อำนวยเพลงที่ใช้บาตองเป็นไม้หนาและหนักกระทุ้งพื้น

ฝรั่งเจ้าตำราคนหนึ่งได้ให้ความหมายของบาตองไว้ว่าเป็นไม้ยาวประมาณเกือบ 3.25 ฟุตหรือกว่านั้น สำหรับหัวหน้าวงโยธวาทิตหรือดรัมเมเยอร์ ใช้ในการนำขบวน

อีกคนหนึ่งบอกว่า บาตองนี้ใช้เป็นแท่งโลหะกลวงก็ได้ ตรงปลายใช้หุ้มด้วยยาง ประดับด้วยเกลียวทองหรือเงินพร้อมดิ้นเงินดิ้นทองสำหรับใช้ในเครื่องยศ

ใช้สำหรับผู้นำวงโยธวาทิต (drum major/majorette) หรือใช้ในบางโอกาส ที่เป็นไม้เล็กที่หัวหน้าพนักงานใช้ถือแสดงถึงความเป็นสัญลักษณ์ของสำนักงานได้

Baton เป็นคำฝรั่งเศสโบราณ มาจากคำละติน คือ บัสตุม (bastum) แต่ในฝรั่งเศสเองกลับเรียกไม้สำหรับใช้ในการอำนวยเพลงนี้ว่า บาแก๊ต (baguette) หมายถึง ไม้เรียว, ไม้ถือ, ไม้, เครื่องชี้ บางทีหมายถึงไม้ตีกลอง, ไม้ถือ, ไม้ยาว หรือกระบองก็ได้

ในระหว่างศตวรรษที่ 18 การอำนวยเพลงปฏิบัติโดยนักดนตรีผู้บรรเลงจากเครื่องคีย์บอร์ดคือเปียโนหรือออร์แกน ต่อมาในตอนต้นศตวรรษที่ 19 ให้ผู้เล่นไวโอลินหนึ่ง ในช่วงที่ปลอดจากการบรรเลง ใช้คันชักของตนในมือควบคุมการบรรเลงของนักดนตรีในวง

บางตองเริ่มมีใช้ประโยชน์ในเยอรมนีในศตวรรษที่ 18 เบโธเฟน (Beethoven) เป็นคีตกวีผู้ริเริ่มในระยะแรกที่มีการใช้บาตองควบคุมวงดนตรีในเยอรมนี โดยที่ยังไม่มีมาตรฐานใดแสดงปรากฏไว้เป็นหลักฐาน

ต่อมาไม่นานคีตกวีอื่น เช่น เมนเดลโซห์น (Mendelssohn) ก็ใช้ตาม

วากเนอร์ (Wagner) กับบือโลว์ (Bulow) ก็ใช้บาตองซึ่งเป็นไม้ท่อนเล็กๆ มีขนาดความยาวต่างๆ กัน

ผู้อำนวยเพลงบางคน เช่น ริชเตอร์ (Richter) กับบุลต์ (Boult) ใช้บาตองขนาดยาว โดยทั่วไปแล้วจะมีน้ำหนักเบา ที่สามารถใช้ชี้ได้คล่องมากกว่าที่จะให้จังหวะในฐานะเป็น “เทคนิคการใช้ไม้”

ตราบจนกระทั่งประเทศอังกฤษมาใช้กันทั่วไปในปี ค.ศ.1820 ผู้อำนวยเพลงบางคนเลิกใช้บาตองและกลับไปใช้มือทั้งสองข้างแทน และแน่นอนที่สุดยังใช้ตาทั้งคู่บนใบหน้าเป็นสัญญาณด้วย

ในประวัติดุริยางคศาสตร์สากล ได้มีบันทึกเล่าไว้ถึงนักดนตรีคีตกวีเอกคนสำคัญคนหนึ่งแห่งยุค ซึ่งเดิมเป็นอิตาเลียนที่มามีชื่อเสียงในฝรั่งเศส คือ ชาง บัปติสเต ลัลลี (Jean Baptiste Lully) หรือ (Giovanni Battista Lulli) ค.ศ.1632-1687 เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ถูกนำตัวมาฝรั่งเศสตั้งแต่วัยเยาว์เมื่ออายุได้ 14 ปี ได้งานทำเริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงานล้างชาม

ต่อมาเข้ารับราชการในตำแหน่งนักไวโอลินในวงเครื่องสายราชสำนัก คือวง Les Vingt-quatre Violons du Roi (The Twenty-four Violins of the King) ซึ่งมีชื่อเสียงมากในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

เมื่อปี ค.ศ.1652 ได้เป็นคีตกวีผู้อำนวยเพลงประจำราชสำนัก ประพันธ์ดนตรีให้แก่ราชวรมหาวิหารและได้รับสัญชาติฝรั่งเศส ค.ศ.1661 อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของการดุริยางค์แห่งฝรั่งเศส

นอกเหนือไปจากตำแหน่งใหญ่ทางดนตรีอีกมากมาย เช่น ผู้อำนวยการละครบัลเล่ต์ ประพันธ์และควบคุมดนตรีศาสนาของมหาวิหาร เรื่อยมาจนถึงเป็นผู้ผูกขาดการอุปรากร จนกระทั่งเป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยการดนตรีแห่งชาติ ฯลฯ

คีตกวีลัลลีถึงแก่ชีวิตด้วยอุบัติเหตุขณะอำนวยเพลง เต เดอุม (Te Deum) โดยไม้ขนาดยาวใหญ่ที่ใช้เป็นบาตองสำหรับกระทุ้งพื้นควบคุมจังหวะดนตรี ซึ่งกระทุ้งพลาดจากพื้นไปถูกโดนเท้าของตนเองเข้าเต็มที่ ทำให้เกิดเป็นแผลอักเสบลุกลามจนถึงแก่ชีวิต

ตามคำพังเพยของไทยเราบทหนึ่งว่า “หมองูตายเพราะงู” ฉันใด “หมอดนตรีก็ตายด้วยไม้ดนตรี” ฉันนั้น

เรื่องราวดังที่กล่าวเล่ามาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ จึงเป็นอันจบครบถ้วนกระบวนความของ “บาตอง” ซึ่งอาจขาดความสมบูรณ์ไปบ้าง เป็นประหนึ่งเรื่องราวบอกเล่าสู่กันฟังอย่างไว้ซึ่งความพิสดารว่า ในโลกของดนตรีที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่ทุกวันนี้มีปรากฏว่าเคยได้มีวาทยกรผู้อำนวยเพลงชั้นนำของโลกที่ตายเพราะไม้บาตองของตนเองมาแล้ว ดังนี้แล