มีอะไรในเรื่องสั้นทั่วไป รางวัล “Matichon Award 2016”

มติชนหลังประกาศผลรางวัล “Matichon Award 2016” จากผลงานทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วย เรื่องสั้นทั่วไป เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ และกวีนิพนธ์ ซึ่งมีนักเขียนและกวีได้รับรางวัลจำนวน 9 คน

จึงขอแสดงความยินดีบนหน้ากระดาษนี้และเป็นที่น่าเสียดายที่โครงการประกวดดังกล่าวต้องเว้นวรรคพักสักระยะ

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องสั้นทั่วไป รางวัลชนะเลิศ เรื่อง ตายแล้วตายอีก ของ ชิตะวา มุนินโท รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง ปราสาทใยแมงมุม ของ องอาจ หาญชนะวงษ์ และรางวัลชมเชย เรื่อง ปรารถนา ของ มีเกียรติ แซ่จิว ตามลำดับ

ว่ามีอะไรอยู่ในเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลบ้าง

อ่านเรื่องสั้น ตายแล้วตายอีก (คลิก)

ตายแล้วตายอีก ของ ชิตะวา มุนินโท เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนปมความขัดแย้งปัจเจกของตัวละครที่ต่อสู้กับความรู้สึกภายในจิตใจ (Man against himself) โดยให้ตัวละครหลักเป็นผู้เล่าเรื่องของตัวเอง (I-narrator หรือ First person perspective) ในแบบรู้แจ้ง (Omniscient perspective)

ตายแล้วตายอีก เป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึงความตายครั้งแรกและความตายครั้งที่สองของชีวิตตัวละคร

ความตายครั้งแรกของผมหรือพ่อเกิดจากอุบัติเหตุ แต่วิญญาณของผมหรือพ่อกลับเข้าร่างลูกชาย กลายเป็นว่าผู้ใหญ่อยู่ในร่างเด็ก จึงเล่าเรื่องราวทุกอย่างที่ประสบพบเห็นแบบวิพากษ์วิจารณ์ แต่แฝงด้วยอารมณ์ขันขื่น

ใช้ภาษาลื่นไหลและเสียดสีประเด็นปัญหาสามัญในสังคมร่วมสมัยได้อย่างถึงแก่น

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าวัดทำบุญปฏิบัติธรรม

การตั้งคำถามถึงเรื่องนิพพาน บุญ-กรรม

รวมไปถึงการเสพสังวาสระหว่างพระและฆราวาส

ซึ่งสะท้อนคำว่า “ศาสนาพุทธ” ที่เป็นได้ทั้งที่ยึดเหนี่ยวและครอบงำคนในสังคม

พล็อตเรื่องสั้นเรื่องดังกล่าวเหมือนไม่มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากภาษาที่ ชิตะวา มุนินโท นำมาเล่าด้วยน้ำเสียงเสียดเย้ยได้อย่างน่าติดตาม

ใช้คำคล้องจองมองเห็นภาพและสามารถเดาเนื้อเรื่องบางส่วนว่าจะเกิดขึ้นแบบใดต่อไป

แม้สุดท้ายจะจบแบบหักมุมและสะท้อนถึงเรื่องบุญทำกรรมแต่ง การเวียนว่ายตายเกิดตามคติความเชื่อพุทธ-ผี-ไสยศาสตร์ที่แยกกันแทบไม่ออก

ซึ่งทุกเรื่องล้วนมีที่มาที่ไปและปัจจัยปรุงแต่ง

มนุษย์ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง พระหรือฆราวาส ล้วนตกอยู่ในกระแสธารของรัก โลภ โกรธ หลง กิเลสและตัณหา

มันคือแรงปรารถนาที่ผลักดันให้แต่ละตัวละครถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด จิตใจและอารมณ์ผ่านพฤติกรรมที่ทั้งขัดแย้งและสมเหตุสมผล

อ่านเรื่องสั้น ปราสาทใยแมงมุม (คลิก)

ส่วน ปราสาทใยแมงมุม ของ องอาจ หาญชนะวงษ์ เป็นเรื่องสั้นที่ให้ตัวละครสัตว์เป็นผู้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบถึงความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครและความขัดแย้งระหว่างสัตว์ด้วยกัน ที่ส่งผลถึงชีวิตและชะตากรรมที่เกิดขึ้นในป่าแห่งหนึ่ง

เมื่อแมงมุมหนุ่มมีหน้าที่ชักใยดักแมลงกินเป็นอาหาร แต่กลับดื่มกินน้ำค้างน้ำหวานแทน

ซึ่งดูผิดแผกแตกต่างจากพฤติกรรมของสัตว์ประเภทเดียวกันแล้ว

กลายเป็นว่ามันถูกสัตว์ตัวอื่นๆ ในสังคมป่าแห่งนั้นดูหมิ่น เหยียดหยามและสบประมาทต่างๆ นานา

ทั้งที่สัตว์แต่ละตัวต่างมีสิทธิ์ที่จะเลือกทำหรือดำรงชีวิตตามความคิดและจิตใจตัว แต่กลับถูกกฎเกณฑ์ธรรมชาติมากำหนดบทบาท ซึ่งสามารถสะท้อนการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์โดยปริยายได้อย่างแยบยล ว่าตัวเราจะยอมให้กรอบครอบงำหรือกล้าทำลายความคิด ความเชื่อเพื่อหาเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่

นอกจากนี้ องอาจ หาญชนะวงษ์ ยังแฝงสำนึกขบถให้ตัวละครในเรื่องสั้นดังกล่าวได้อย่างน่าตีความถึงตัวตนและจิตวิญญาณที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง

รวมถึงประเด็นความกล้าที่จะแตกต่างเพื่อการดำรงอยู่ของตน ไม่ยอมให้กระแสสังคมพัดพาหรือตัดสินชีวิตจากตัวตนที่เป็นอยู่

และผู้อ่านอาจมองย้อนกลับมาถามตัวเราว่าจะเป็นแมงมุมประเภทใดในสังคมโลกใบนี้

ย้อนอ่านเรื่องสั้น ปรารถนา (คลิก)

ปรารถนา ของ มีเกียรติ แซ่จิว เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนปมความขัดแย้งของปัจเจกตัวละครที่ต่อสู้กับความรู้สึกภายในจิตใจ (Man against himself) โดยให้ตัวละครหลักเป็นผู้เล่าเรื่องของตัวเอง (I-narrator หรือ First person perspective) ในแบบกระแสสำนึก (Stream of consciousness voice)

คำว่าปรารถนา หมายถึง ความต้องการ, ความอยากได้, มุ่งหมาย นอกจากจะเป็นชื่อเรื่องเรื่องสั้นนี้แล้ว ยังเป็นชื่อเรียกตัวละครผู้เล่าเรื่องด้วย

ฉัน-ต้องการที่จะเรียนรู้ความรักโดยปราศจากความสัมพันธ์ทางกาย แต่เขา (ทั้งคนแรกและคนล่าสุด) มีความต้องการที่จะรักบนความใคร่ ความกระหาย ความกระเหี้ยนกระหือรือในเรื่องเซ็กซ์ ที่อาจกล่าวได้ว่าผู้ชายทุกคนบนโลกยากปฏิเสธ เพราะมันคือการสืบพันธุ์!

ชีวิตคือนามธรรมและร่างกายคือรูปธรรมล้วนสัมพันธ์กับจิตวิญญาณ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่า และร่างกายของเธอคือวัตถุปรารถนาของบรรดาผู้ชาย

ความต้องการในเรือนร่าง แปรเป็นความอยากได้ อยากครอบครอง อยากเสพสุข มันไม่ใช่ความรักที่แท้จริงหรือในแบบที่เธอต้องการ ชายคนแรกจึงเลือกจบชีวิตด้วยความตาย กลายเป็นผลพลอยได้ให้ชายคนต่อมา-เขาได้รับการปรนเปรอ เพราะความรู้สึกผิดติดค้างคาใจ

การสูญเสียบางยิ่งย่อมได้รับบางอย่างกลับคืน การเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อภาวะชีวิตและการตัดสินใจ สุดท้ายไม่ว่าใครต่างล้วนพ่ายแพ้ให้กับแรงปรารถนา

มีเกียรติ แซ่จิว กำลังตั้งคำถามถึงนิยามความรักและความใคร่ในความสัมพันธ์ของผู้คนบนโลก ที่สุดท้ายจะมาบรรจบพบกันและลงเอยในรูปแบบใด เมื่อมนุษย์ต่างวุ่นวายว่ายวนไปบนกระแสธารแห่งรัก โลภ โกรธ หลง กิเลสและตัณหาไม่สิ้นสุดหยุดนิ่ง

นอกจากนี้ ยังนำเสนอความต้องการของแต่ละตัวละครเพื่อตอบสนองสิ่งที่ตนอยากได้-ใคร่มี ซึ่งต่างผิดหวังพลั้งพลาดและสมหวังดังใจ จนทุกอย่างเดินไปสู่จุดมุ่งหมาย มันจึงสะท้อนความคิดและสภาพจิตใจของแต่ละตัวละครที่ถูกแรงปรารถนาชักจูงและครอบงำ ซึ่งบางครั้งพฤติกรรมการแสดงออกไม่ต่างจากสัตว์

ความปรารถนาในที่นี้อาจสรุปได้ว่า เขาต้องการเพียงเรือนร่าง ไม่ใช่ความรักไร้สาระหรือข้อแม้จากเธอ และเธอต้องการอะไรบางอย่างจากเขาไว้เป็นที่ระลึก นำไปสู่การตีความคุณค่าและความหมายของชีวิตที่ต้องเลือก-แลก-รับ ผลของการกระทำนั่นเอง

ปรารถนาเป็นเรื่องสั้นที่เล่าด้วยรูปประโยคสั้นกระชับ เหมือนกับความสัมพันธ์ของตัวละคร จะมีติดขัดอยู่บ้างในบางประโยค ซึ่งยังทำได้ไม่เรียบและนิ่งพอ

พฤติกรรมของแต่ละตัวละครสะท้อนอารมณ์เบื้องลึกของมนุษย์ได้อย่างสมจริง ที่ล้วนต่างเก็บกดอดกลั้นรอการระเบิดระบายออกมาทางใดทางหนึ่ง สุดท้ายแล้วเราต่างหลงทางไปบนความเปลี่ยวว้างจนต้องโหยหาบางสิ่งบางอย่างมาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปให้กับชีวิต

นอกจากนี้ มีเกียรติ แซ่จิว ยังนำองค์ประกอบของภาพถ่าย การตัดชิ้นส่วนอวัยวะและพฤติกรรมเลียนแบบหมามาใช้บรรยายภายในเรื่องสั้นได้อย่างน่าสนใจ

ภาพรวมของเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 เรื่องเน้นเนื้อหาสาระที่สะท้อนปัญหาระดับปัจเจกกับความขัดแย้งของตัวละครที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกภายในจิตใจ ก่อนจะขยายวงกว้างไปถึงประเด็นปัญหาทางสังคม

และผู้เขียนเห็นว่าเรื่องสั้นทั้งหมดยังขาดความละเอียดในเนื้อหาและภาษาวรรณศิลป์

เรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลล้วนมีความเชื่อมโยงกับเรื่องความตาย ที่ทั้งเลือกตายด้วยตัวเอง ในเรื่องสั้น ปรารถนา ตายด้วยอุบัติเหตุและหรือถูกทำให้ตาย ในเรื่องสั้น ปราสาทใยแมงมุมและตายแล้วตายอีก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเพศแทรกอยู่ในทุกเรื่อง ซึ่งถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกแตกต่างทั้งในรูปแบบของความคิดและการสัมผัสเคลื่อนไหว อันเป็นมายาคติที่แฝงฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสและตัณหา

นอกจากนี้ ในทุกเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัล มีเนื้อหาที่ผู้อ่านอาจคาดเดาเรื่องได้ แม้ตอนจบของทุกเรื่องจะหักมุมให้ฉุกคิดพิจารณา รวมไปถึงหาคำตอบให้กับคำถามถึงทุกปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคมโลกใบนี้กับพื้นที่ของตัวตนและการดำรงอยู่

มีอะไรในเรื่องสั้นรางวัล “Matichon Award 2016” ผู้เขียนคงบอกได้เพียงว่า “ตัวตนที่ขาดหายรอการค้นพบและศีลธรรมที่บกพร่องรอการแก้ไขในโลกของเรื่องเล่าที่ปะทะกันระหว่างโลกอุดมคติ มายาคติและความจริง” นั่นเอง!