เมื่อกระทะเทพกว่ากฎหมาย? ตื่นเถิดพี่น้องชาวไทย…

ประเด็นเรื่องกระทะเกาหลียี่ห้อหนึ่งที่มีคนจุดประกายเรื่องราคาสินค้าขึ้นมาว่าราคาขายที่สิงคโปร์ราคาถูกกว่าไทยมาก และได้นำมาโพสต์จนทำให้เกิดกระแสการแสดงความคิดเห็นกันต่างๆ นานาออกไปอย่างมากมายในสังคมออนไลน์

ซึ่งเท่าที่อ่านเจอมาบ้างก็ว่ากันว่าเป็นเรื่องการตลาด เป็นเทคนิคการตั้งราคาแบบ Willingness To Pay หมายถึงแพงเท่าไหร่ถ้าคนซื้อเต็มใจจ่ายก็ซื้อไป

ถ้าพูดถึงกฎในทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องอุปสงค์-อุปทาน ที่ว่าสินค้าเมื่อราคาแพงเกินไปแล้วย่อมไม่มีคนซื้อ คนย่อมมีเหตุผลในตนเอง คนที่ซื้อมีเหตุผลว่าอยากได้ของดี ราคาแพงก็ควรจะซื้อต่อไป

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ออกมาบอกว่าเป็นการตั้งราคาแบบ Fake Original Price หรือการตั้งราคาหลอก

และเมื่อเรื่องไปถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในเบื้องต้น สคบ. บอกว่า กระทะไม่ถือเป็นสินค้าควบคุมราคา พร้อมทั้งจัดให้มีการทดสอบพิสูจน์คุณภาพของสินค้า

คราวนี้ถ้าจะมาดูในประเด็นด้านกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย

จนต้องออกมาตั้งคำถามแทนพี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์

การมีกระแสเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงกลยุทธ์การขายที่มีมานานแล้ว เช่น ส่งจดหมายไปตามบ้านแล้วบอกว่าคุณคือผู้โชคดีได้รับคูปองส่วนลดซึ่งแจกเพียงไม่กี่ใบ ให้นำคูปองมาซื้อสินค้าแล้วจะได้ส่วนลดเยอะมาก

สินค้าก็จะเป็นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยี่ห้อที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เช่น เครื่องฟอกอากาศ แอร์ ตู้เย็น หม้อหุงข้าวในราคาแพงที่ผู้ขายตั้งราคาไว้สูงเป็นหลักหมื่น ความจริงสินค้าพวกนั้นราคาไม่แพง เพราะปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกลงกว่าแต่เดิมมาก

คนขายใช้กลยุทธ์นำเรื่องทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าตัวเองโชคดีได้รางวัล ได้รับส่วนลดเยอะมาล่อให้ไปซื้อของที่แพงเกินราคา (คล้ายกับให้รีบโทร.มาสั่งซื้อภายใน 5 นาที จะได้รับส่วนลดเพิ่มและได้ของแถมอีกมากมาย ถ้าโทร.ไปแย่งซื้อทันเราก็จะรู้สึกโชคดี)

ตรงนี้ดูเหมือนว่าผู้ซื้อก็เต็มใจจ่ายเองไม่ใช่เหรอ? เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้รับส่วนลดราคาเยอะจนเป็นที่น่าพอใจและคุ้มค่าที่ซื้อมาก จากราคาสินค้าที่แพงมากแล้วซื้อได้ถูกขนาดนั้น ก็เลยตัดสินใจที่จะจ่ายเงินซื้อไปในที่สุด

กลยุทธ์การขาย การหลอกล่อให้ซื้อสินค้าในรูปแบบนี้ยังคงมีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้าตามต่างจังหวัด

และรวมถึงมีการขายที่เข้าไปถึงตัวชาวบ้านในชุมชนหรือหมู่บ้านตามต่างจังหวัดด้วย

และเป้าหมายหนึ่งที่มักจะโดนหลอกให้ซื้ออยู่บ่อยๆ คือกลุ่มผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 โดยในมาตรา 4 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า

ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้

1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ

2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าและบริการ

3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

4. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

เมื่อมีการนำวิธีการโฆษณามาใช้ประกอบกับการจำหน่ายสินค้าและบริการด้วยแล้ว ในบางครั้งโฆษณาก็อาจจะไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดในด้านคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้า ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ

ในพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 ก็ได้ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาไว้ด้วยเช่นกัน โดยการโฆษณาที่ถือได้ว่าเป็นการโฆษณาที่ละเมิดต่อสิทธิของผู้บริโภคแยกออกได้ใน 4 ลักษณะ ดังนี้คือ

1. เป็นการใช้ข้อความโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เช่น ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง (มาตรา 22 (1)) หรือข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าโดยใช้หรือการอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม (มาตรา 22 (2))

2. เป็นการใช้ข้อความโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยส่วนรวม เช่นสนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ (มาตรา 22 (3)) หรือทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน (มาตรา 22 (4))

3. เป็นการใช้ข้อความโฆษณาที่ผิดตามกฎกระทรวง (มาตรา 22 (5))

4. การโฆษณาจะต้องมีลักษณะที่ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจ หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้บริโภค (มาตรา 23)

นอกจากพระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 8 ความผิดเกี่ยวกับการค้า มาตรา 271 ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวง” ด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดังนั้น กรณีที่มีการขายสินค้าที่ทำให้ผู้ขายหลงเชื่อในคุณภาพ เช่น สินค้าความจริงทําด้วยทองแดง ทองเหลือง ชุบให้เหมือนทอง หลอกว่าเป็นทองแท้ นำมาขาย เช่นนี้ก็เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรานี้ได้เช่นกัน

เมื่อกลับมาพิจารณาในกรณีของกระทะยี่ห้อนี้ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งให้มีการดำเนินการเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งเอกสารการโฆษณาทั้งหมด และจัดให้มีการทดสอบพิสูจน์คุณภาพของสินค้าด้วย

หากผลพิสูจน์ออกมาอย่างเป็นทางการว่าคุณภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ก็คงจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่ทั้งนี้ก็คงจะขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน และเชื่อว่าพี่น้องชาวไทยทุกคนก็คงจะรอดูอยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ ที่คนมักจะออกมาจับจ่ายซื้อของ ห้างสรรพสินค้าหลายๆ แห่ง เช่น J.C.Penney, Macy”s, Sear และ Kohl”s ต่างออกมาทำการลดราคาสินค้าอย่างมาก โดยมีการใช้กลยุทธ์ Fake Sale ด้วยเหมือนกัน

ซึ่งก็สามารถล่อให้นักช้อปทั้งหลายเข้าไปซื้อเพราะเชื่อว่าราคาสินค้านั้นถูกลดราคาลงมาเยอะมาก ห้างทั้ง 4 แห่งที่กล่าวมา เคยถูกฟ้องโดยอัยการเมืองลอสแองเจลิส (Los Angeles) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ในข้อหาการตั้งราคาสินค้าหลอกซึ่งทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดคิดว่ามีการลดราคาลงเป็นจำนวนมาก โดยใช้วิธีการตั้งราคาสินค้าให้สูงเพื่อว่าการลดราคาลงจะได้ดูว่าเป็นราคาที่ดีและจูงใจผู้ซื้อ

โดยอัยการได้กล่าวว่าลูกค้ามีสิทธิที่จะรับรู้ความจริงของราคาที่เค้ากำลังจะจ่าย และรับรู้ว่ามีการลดราคาลงเป็นจำนวนที่แท้จริงเท่าไหร่

ซึ่งเป็นหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าผู้ขายที่จะต้องรับผิดชอบและทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง

นอกจากกฎหมายที่จะเข้ามาช่วยคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ในปัจจุบันที่ธุรกิจมีมากมายหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจบางแห่งมุ่งแต่สร้างกำไรโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผลสังคมส่วนใหญ่ ทำให้ผู้บริโภคต้องฉลาดที่จะค้นคว้าหาข้อมูล หรือเปรียบเทียบราคา และคุณภาพด้วยตัวเองด้วย…

ตื่นเถิดพี่น้องชาวไทย…