คุยเรื่อง 3 ปี คสช. กับ เนติวิทย์+นักวิทย์ชื่อดัง (แถมคลิปสัมภาษณ์พิเศษ)

จากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงเวลานี้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์และบริหารประเทศ ในแง่ของเศรษฐกิจ การเมืองม และเรื่องร้อนต่างๆ มีประเด็นกันไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ ตั้งแต่ปีแรกๆ จวบจนปัจจุบัน อาทิ เรื่อง การซื้อไมโครโฟน, อุทยานราชภักดิ์, เรือดำน้ำ, การใช้มาตรา 44, อภินิหารทางกฎหมายต่างๆ ใน “มิติทางการเมือง” เป็นเรื่องที่ทุกคน “สนใจ” กันอยู่แล้ว

หนึ่งในคนที่ยังเป็นที่พูดถึงอย่างร้อนแรงและเป็นกระแสอยู่ นั่นคือ “นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ที่สร้างปรากฏการณ์ถูกพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง หลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ประจำปีนี้

ทำให้โฟกัสและการถกเถียง รวมถึงการแสดงความเห็นเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

เนติวิทย์มองฝ่ายประชาธิปไตย

เป็นต้นเหตุรัฐประหารเกิดขึ้นง่ายและบ่อย?

เนติวิทย์พูดถึง 3 ปี คสช.-รัฐประหาร ว่า ถ้ารัฐบาลนี้หมดวาระไป ในอนาคตก็คงมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ตราบใดที่พวกเราทุกคนไม่ตระหนักถึง “สาเหตุ” ของปัญหาการเมืองไทยแบบจริงๆ

ฝ่ายประชาธิปไตยก็อย่ามัวแต่ไปโทษ กปปส. อย่าไปโทษกลุ่มคนอนุรักษนิยมพวกเดียว

ต้องดูด้วยว่าพวกประชาธิปไตย หรือพวกที่เรียกตัวเองว่า “หัวก้าวหน้า” “เสรีนิยม” มีส่วนหรือไม่ ที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้นได้ง่ายแบบนี้

ซึ่งเราต้องแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ทวงความยุติธรรมกลับเข้ามา

เพราะผมว่ารัฐประหารครั้งก่อน เกิดจากการไม่เตรียมพร้อมของฝ่ายประชาธิปไตยด้วยหรือไม่ และเป็นจุดอ่อนในการทำให้เกิดขึ้นได้ง่ายและยังคงต้องเกิดขึ้นอีก

ต้องบอกว่าสังคมไทยทุกวันนี้เป็น “สงครามตัวแทน” พอสมควร ฝ่ายอนุรักษนิยมระดมสรรพกำลังมาโจมตีผม ต้องเรียกว่าอย่างนั้น และไม่รู้ว่าในอนาคตจะมาในรูปแบบไหนยังไงอีก

“ฝ่ายที่เรียกตัวประชาธิปไตยพยายามยกย่องหรือมาเชิดชู ชื่นชมผมนั้น “เป็นสิ่งที่ผิด” เขาควรจะต้องปลุกให้ทุกพื้นที่ในสังคม หรืออย่างน้อยๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ลุกขึ้นมาสู้บ้าง ให้ผ่านระบบการเลือกตั้งในทุกมหาวิทยาลัยต้องเกิด ไม่ใช่ผลักภาระให้ผมออกมาต่อสู้อยู่แถวหน้ากับอนุรักษนิยมอย่างเดียว แล้วสังคมมันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่เหมือนกัน”

ดร.เจษฎา ชี้จุดอ่อน

งานวิทยาศาสตร์ไม่โดดเด่น

นอกจากมุมมองต่อ คสช. และการรัฐประหารแล้ว หากจะให้พูดถึงผลงานของรัฐบาลนอกจากคนวิจารณ์การซื้อรถถัง เรือดำน้ำ นโยบายทางการศึกษา การสาธารณสุข ด้านการคมนาคมแล้ว หากพิจารณาในแง่กระทรวงที่คน “ไม่ค่อยพูดถึงนัก” หรืออาจจะ “หลงลืม” ไปบ้าง หนึ่งในนั้นอาจมี “กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ” อยู่ในลิสต์นี้ด้วย

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ติดตามผลงานกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อย่างใกล้ชิด และเคยประกาศตัวว่า “อยากเป็นรัฐมนตรี” กระทรวงนี้สักครั้ง บอกกล่าวว่า จริงๆ แล้วถือว่า 3 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ในยุคที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศแล้วจะสามารถปฏิรูปได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจาก “การเปลี่ยนเจ้ากระทรวงเท่านั้น” แต่คนวงในเองก็จะพอรู้ว่ามีนโยบายหรือทำอะไรกันอยู่ นอกจากภาพที่คนนอกมองว่าเป็นกระทรวงเกรดซีที่มีหน้าที่ “ซัพพอร์ตชาวบ้าน” เท่านั้น หน่วยงานที่กลับโดดเด่นกลับเป็น สวทช. / ท้องฟ้าจำลอง กลุ่มดาราศาสตร์เสียมากกกว่า

ทั้งที่ในความเป็นจริงกระทรวงนี้ควรจะลุกขึ้นปรับโฉมและเป็นผู้นำเรื่องทุกเรื่อง ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ และด้านอื่นๆ หรือแม้กระทั่ง “สื่อสารกับประชาชน” ในเรื่องที่เขา “สงสัย” หรือ “สนใจ”

เช่น กรณีชาวบ้านยกมือไหว้ต้นไม้ประหลาด สัตว์ที่มีอวัยวะเกิน หากมีคำอธิบายหรือช่องทางจากกระทรวงในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้ถือเป็นเรื่องที่ดี ควรต้องทำให้ชัด ทุกวันนี้ในบ้านเราไม่มีใครที่เป็น “เจ้าภาพ”

นโยบายที่เด่นชัดก่อนหน้านี้สำหรับคนวงในคือการให้โอกาสคนในภาควิชาการไปทำงานหน่วยงานเอกชน มีทุนสนับสนุนนักวิจัยต่างๆ และมาช่วงหลังที่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้สั่งการให้กระทรวงสื่อสารวิทยาศาสตร์มากขึ้น สอดรับกับประเทศไทย 4.0 ต้องมีภาพสะท้อนจากกระทรวงสู่สังคมมากกว่านี้ ทำทีวี ทำช่องทางการสื่อสารไป

ปัญหาหลักๆ ของภาพลักษณ์กระทรวงวิทย์ที่ทำให้ “ดูเงียบ” แบบนี้ ในฐานะที่เคยเข้าไปช่วยงาน มาจากปัญหา “เชิงโครงสร้างภายใน” ซึ่งไม่ค่อยมีกรมเหลือแล้ว ส่วนใหญ่จะแยกตัวออกไปหมด สวทช., พลังงาน ปรมาณูเพื่อสันติภาพ แตกออกไปหมด เหลือแต่ส่วนกลาง-สำนักปลัด บวกกับไม่มีการนำเสนอผลงาน

เคยถามว่าตัวเองทำไมคนจำได้เวลามีเคสต่างๆ คนจะนึกถึงผม ในทางกลับกันกระทรวงวิทย์ไม่คิดทำหรือ “สร้างกระแส” ส่วนนี้ขึ้นมาเลยหรือ

กระทรวงวิทย์ยังต้องปรับอีกเยอะ ต้องกล้าออกไปข้างหน้า ทำแนวฉีกกรอบไป

อาทิ ผมเคยเสนอไอเดียหนึ่งและมีคนในกระทรวงเห็นด้วยว่า จะเป็นไปได้ไหมในการ “ส่งคนไทยคนแรกไปอวกาศ” อย่างที่มาเลเซียและญี่ปุ่นเคยทำ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในทางความคิดและวงการวิทยาศาสตร์ไทย จะเป็นไอดอลให้คนในชาติ สร้างความรู้สึกตื่นเต้น แถมเด็กรุ่นหลังอยากเป็น อยากเข้ามาสู่วงการนี้ได้ คนก็หันไปด้านวิศวะ หรือด้านอื่นหมด

หากต้นทางไม่ปรับปรุงแนวคิดหรือเปลี่ยนกรอบความคิดก็ยาก

ต้องบอกว่าคนไทยไม่ได้ไกลกับวิทยาศาสตร์เลย เวลาโพสต์เรื่องใดลงไปในโซเชียลมีแต่คนตื่นเต้นสนใจ และวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องรอบตัว ในเมื่อประเทศเราอยากเป็น 4.0 แต่ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าวงการวิทยาศาสตร์บ้านเราไปถึงไหนแล้วก็เฉยๆ ไปอย่างนี้เรื่อยๆ

อยากให้ดูจีนเป็นตัวอย่างในการนำด้านเทคโนโลยี แต่ทุกวันนี้บอกจะเน้นการนำอุตสาหกรรมมากขึ้นก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ชัดเจน หากอนาคตงบประมาณไม่เพิ่มจะยิ่งแย่กว่านี้

ถ้าให้มองย้อนภาพรวมกระทรวงนี้ ที่ผ่านมา คนที่มาเป็นรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ในรัฐบาลก่อนๆ ก็ไม่มีคนที่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์มาเป็น กลายเป็นกระทรวงที่เอาคนมากองตำแหน่งไว้เพื่อให้มีชื่อในคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ถ้าจะให้นึกก็มีแต่ “อดีตรัฐมนตรี กร ทัพพะรังสี” ที่เคยเอ่ยปากว่าอยากมาทำงานในกระทรวงนี้จริงๆ พร้อมทิ้งนโยบาย “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” เอาไว้ จนทำให้กระทรวงโดดเด่นขึ้นมา นอกนั้นไม่เห็นภาพหลักๆ เด่นๆ

กลายเป็นกระทรวงที่เงียบมากๆ หากหายไปก็คงไม่มีใครรู้สึกอะไร

ถามว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์ ให้คะแนนนิสิตมาเยอะ หากจะให้คะแนนกระทรวงจะให้เกรดอะไร

อาจารย์เจษฎาบอกว่า ผมให้เกรดซี ถ้ากระทรวงรู้จักเปลี่ยนแปลง ดึงเทคนิคการสื่อสารตอบสังคมให้ไทย ในสเกลใหญ่ๆ มีประเด็นอะไรก็ตอบ อย่างเรื่องที่กลุ่มทันตแพทย์ร้องเรียนเรื่องการห้ามใช้เครื่องเอ็กซเรย์เพราะมีปัญหารังสี ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ผมจะจัดแถลงและเสวนาเรื่องเหล่านี้ชี้แจงและทำความเข้าใจให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมเลย ซึ่งอยากให้คนในกระทรวงกล้าและลุกขึ้นมาสื่อสารแบบนี้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อ.เจษฎามองว่า กระทรวงนี้ยังมี “ความหวัง” แม้ภาพรวมรัฐบาลอยากให้สังคมก้าวสู่ความเป็นสังคม 4.0 แต่กลับยังหลงทางค่อนข้างเยอะ ไปเข้าใจผิดว่า 4.0 ต้องเพิ่มสตาร์ตอัพ หรือดิจิตอลเยอะๆ ทั้งนี้ จุดหลักคือเรื่องการคิดขึ้นและมีนวัตกรรมใหม่ๆ อยากทำแบบนี้ต้องให้กระทรวงวิทย์เป็นเจ้าภาพนำ ให้ทุนสนับสนุนการคิดค้นผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ

แต่ที่ทำอยู่ในการปรับปรุงคุณภาพโรงงาน มีหุ่นยนต์ ก็แค่ 2.0, 3.0 เท่านั้น

ต้องลุกทำอะไรใหม่!

อ.เจษฎามองสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเราว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ที่เราเจอมายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีความปรองดองเกิดขึ้นดังที่พูด กลับกลายเป็นเหมือนความเก็บกดของคน “ถูกกดเอาไว้รอวันระเบิด” เหมือนผู้คนเก็บกดกันมาหลายๆ เรื่อง

และมองว่ายังไง “การเลือกตั้งคือทางระบายอย่างหนึ่ง” ตราบใดที่เราไม่เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เชียร์ก็สุดโต่งไม่สนใจเหตุผล ไม่มีทางสงบได้ ซึ่งต้องมีกระบวนการเพื่อลดความร้อนแรง

เช่น หากเรามีอิสระการแสดงออกแบบเมื่อก่อน จะช่วยลดความรุนแรงไปได้ ไม่ใช่ปล่อยให้คนอดทนเก็บซ่อนไว้