‘สัมพันธภาพระหว่างประเทศ’ (2480) : การนำความรู้ที่หวงห้ามมาสู่ประชาชนของ ‘นายศิลปี’/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘สัมพันธภาพระหว่างประเทศ’ (2480)

: การนำความรู้ที่หวงห้ามมาสู่ประชาชนของ ‘นายศิลปี’

 

นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ สามีของ ก.สุรางคณางค์ เขียนตำราวิชาการเมืองระหว่างประเทศ

“ขออุทิศให้แก่ชาติไทยและประเทศสยาม” (นายศิลปี, 2480)

 

แต่เดิม ความรู้เรื่องรัฐ การเมืองการปกครอง การระหว่างประเทศ เป็นวิชาที่ชนชั้นนำสงวนการถ่ายทอดอย่างจำกัดในชนชั้นตน

แต่ความกระหายใคร่รู้ของสังคมไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็วสะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนของหนังสือการเมืองหรือหนังสือสารคดีกึ่งวิชาการเกี่ยวกับเหตุการณ์โลกร่วมสมัยที่มีราคาถูกพรั่งพรูออกมามากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

นักเขียนจำนวนมาก หลากหลายสำนักพิมพ์ร่วมกันเขียนหนังสือสรุปเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ทันสมัยให้กับสังคมไทยในขณะนั้น

ควรบันทึกด้วยว่า หนังสือการเมืองเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีราคาถูกตีพิมพ์ครั้งละหลายพันเล่ม ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า หนังสือดังกล่าวสามารถตอบสนองความสนใจของสังคมไทยที่มีต่อเหตุการณ์โลกอย่างกว้างขวาง

หมายความว่า พลเมืองใหม่มีความสนใจโลกรอบตัวมากไปกว่าครอบครัวและชาติของตนมากยิ่งขึ้น

ปกรณ์ บูรณปกรณ์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ค่ายประชาชาติ

สําหรับป่วน บูรณปกรณ์ ( 2447-2495) หรือปกรณ์ บูรณปกรณ์ หรือ ป.บูรณปกรณ์ ผู้แปลและเรียบเรียงหนังสือ “สัมพันธภาพระหว่างประเทศและการเมืองยุคสำคัญ” (2480) นั้น เคยศึกษาทีโรงเรียนเทพศิรินทร์แต่ไม่จบ เนื่องจากเขามีเรื่องขัดแย้งกับครู เขาเห็นว่า ครูลงโทษเขาอย่างไม่ยุติธรรมจึงกระโดดออกจากรั้วโรงเรียนและไม่หันกลับสู่โรงเรียนอีก

ช่วงนั้นครอบครัวลำบาก เนื่องจากบิดาผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว นักหนังสือพิมพ์ที่สยามอ๊อฟเซอร์เวอร์ได้เสียชีวิตลง เขาจึงเข้าไปทำงานที่หนังสือพิมพ์นั้น

ด้วยทักษะภาษาอังกฤษดี จึงรับจ้างแปลบทภาพยนตร์ให้กับนิตสารภาพยนตร์สยาม และหนังสือสรุปเรื่องภาพยนตร์ของนาย ต.เง็กชวน

เขาทำหน้าที่นักแปลบทภาพยนตร์ประจำบริษัท และเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง

ด้วยความสามารถที่หลากหลาย เขาได้รับคำชมจากกุหลาบ สายประดิษฐ์ เพื่อนนักเรียนเทพศิรินทร์ของเขาอย่างมาก

เขามีผลงานสำคัญหลายเล่ม เช่น รวมเรื่องสั้นชุด ชีวิตจากมุมมืด เรือนใจ มลฤดีวิลาศ และสารคดีประวัติศิลปินของโลก และยอดคน

เขาเขียนงานในหลายรูปแบบ เช่น เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ สารคดี บทวิจารณ์ต่างๆ รวมถึงบทวิจารณ์มวยด้วย

 

รวมเรื่องสั้นแบบสัจนิยมของเขา ที่กะเทาะสังคมมือถือสากปากถือศีลของไทย

ต่อมาเขาสมรสกับนางสาวกัญหา วรรธนะภัฏ (ก.สุรางคนางค์) เมื่อปี 2479 โดยในครั้งนั้น ฝ่ายชายมีเงินติดตัวเพียง 80 บาท และฝ่ายหญิงมีเงินเพียง 35 บาท

ภายหลังเธอกลายเป็นนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงจากผลงานบ้านทรายทอง

เขาเป็นผู้มีความสามารถมาก เคยทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์มากมายหลายหัว เช่น กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ต่อมาไม่นานหลังการปฏิวัติ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ เป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติถูกปิดลง เขาจึงย้ายมาทำงานกับประชาชาติของพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมาก

อีกทั้งพระองค์วรรณฯ ทรงเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการเมืองระหว่างประเทศ นักหนังสือพิมพ์สมัยนั้นต่างยอมรับในความเป็นผู้รู้ของพระองค์วรรณฯ เป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น ข่าวสารการเมืองระหว่างต่างประเทศจึงถูกตีพิมพ์ในประชาชาติอย่างต่อเนื่อง อันมีผลกระทบต่อความสนใจเหตุการณ์โลกของหนุ่มน้อยผู้สันทัดภาษาอังกฤษเช่นเขาด้วย

ในช่วงวัยหนุ่มเขาทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน เช่น การแปลบทภาพยนตร์ให้กับบริษัทสหซินีมา พร้อมกับงานหนังสือพิมพ์ที่ประชาชาติ

แต่ด้วยเขารักงานหนังสือพิมพ์มากว่า จึงเลือกทำงานหนังสือพิมพ์เป็นหลัก อันสะท้อนให้เห็นว่า เขามีความสุขกับการเป็นนักหนังสือพิมพ์ของประชาชาติมากกว่า

หนังสือประมวลและวิเคราะห์ข่าวการเมืองระหว่างประเทศราคาถูกที่เฟื่องฟูมากหลัง 2475

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ขอบฟ้าแห่งความรู้ได้เปิดออก ตลาดหนังสือกลายเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย

ด้วยความรักในหนังสือและเป็นนักอ่านตัวยง เขาและเพื่อนร่วมกันลงทุนเปิดร้านขายหนังสือต่างประเทศและสำนักพิมพ์ขึ้น ชื่อว่า “สำนักงานนายศิลปี” ตั้งที่ถนนจักรพรรดิพงษ์ ต่อมาย้ายมาที่ถนนเฟื่องเกษม ร้านหนังสือของเขาจัดเป็นร้านหนังสือที่มีเนื้อหาหลากหลายและมีหนังสือที่ก้าวหน้าวางขายทำให้เป็นแหล่งพึ่งพาทางปัญญาให้กับนักเขียนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ เขาจัดตั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารขึ้นหลายหัว มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว เช่น หนังสือพิมพ์ผิวเหลือง นิตยสารวัฒนธรรม เอกชน ศิลปิน สวนอักษร เป็นต้น

ด้วยเหตุที่เขารักหนังสือและมีคลังหนังสือต่างประเทศมากมายในร้านหนังสือของเขา ประกอบกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและบรรยากาศทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหลัง 2475 ทำให้ประชาชนมีความสนใจในความรู้ต่างๆ มาก รวมทั้งวิชาการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศจึงอาจเป็นเหตุอำนวยให้เขาแปลและเรียบเรียงหนังสือ “สัมพันธภาพระหว่างประเทศและการเมืองยุคสำคัญ” (2480) โดยใช้นามปากกาว่า “นายศิลปี”

หนังสือเล่มนี้ ถือได้ว่าเป็นเสมือนตำราว่าด้วยสัมพันธภาพระหว่างประเทศ หรือเรียกในภาษาปัจจุบันก็คือ ตำราวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตเล่มแรกๆ ที่จัดจำหน่ายทั่วไปแก่ประชาชนที่สนใจ ในราคาเล่มละ 5 บาท

เนื้อหาภายในหนังสือเล่มเขื่องหนากว่า 400 หน้า บรรจุเนื้อหาที่แบ่งออกเป็น

บทที่ 1 ความรู้สึกแห่งสัญชาติ โลกมนุษย์ ผู้เขียนแบ่งหัวข้อย่อยเป็น ชาติลักษณะ อำนาจความเกี่ยวดองทางภูมิศาสตร์และภาษา ค่าของประเทศเล็ก สากลวัฒนธรรม

บทที่ 2 ปณิธานหรือสัญญาใจ เหตุแห่งปณิธานหรือสัญญาใจ ปณิธานในประวัติศาสตร์และกฎหมาย ปณิธานเกี่ยวกับการประชุมสันติภาพ การเปิดสิทธิรับมติมหาชน การพิจารณาเรื่องปันเขต ใครเป็นผู้ปันเขต ปัญหาชายแดน

บทที่ 3 ความกระทบกระทั่งเรื่องผิว สงครามต่างผิว แห่งความระแวงในผิว ความจำเป็นในการแบ่งแยกผิว การเหยียดชาวตะวันออกในประเทศตะวันตก การเรียกร้องความเสมอภาคในผิว ปัญหาเรื่องเคนยา ข้อตกลงแบบสุภาพบุรุษ และประชาธิปไตยกับชุมชนต่างผิว

สำหรับบทที่ 4 แผนการชาตินิยม นั้น ผู้เขียนแบ่งหัวข้อย่อยเป็น อารยัน ติวเตอนิค และนอร์ดิค ความยุ่งยากเกี่ยวกับสัญชาติ แผนการรวมชาติของเยอรมัน แผนการรวมชาติของสลาฟ แผนการนอร์เด็น แผนการรวมชาติแอฟริกา แผนการละตินและสเปน แผนการอิสลาม แผนการวมชาติอาหรับ แผนการรวมชาติในเอเชีย อนาคตของการรวมสัญชาติ

บทที่ 5 ลัทธิโภคกิจแห่งชาติ การเรียกร้องสมรรถภาพในทางโภคกิจ ความแตกต่างของทรัพย์ธรรมชาติ อัตราภาษีและสัมพันธภาพระหว่างประเทศ การเจาะลงเก็บภาษีและการต่อสู้ทางโภคกิจ การเก็บภาษีสินค้าขาออก องค์การรวมสินค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลแห่งชาติให้การสนับสนุนการเดินเรือ ผลการดำเนินลัทธิโภคกิจแห่งชาติ ความเคลื่อนไหวของโภคกิจและสงคราม การพิจารณาลัทธิโภคกิจแห่งชาติ

หนังสือที่ว่าด้วยสัมพันธภาพระหว่างประเทศที่เขาเรียบเรียงเขาเล่มนี้ จัดเป็นสำนักสัจนิยมในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เป็นมุมที่มองโลกอย่างระแวดระวัง เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองตามที่เป็นจริง ให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ มองว่ารัฐคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก

การอธิบายเน้นรัฐเป็นตัวแสดงหลักในสัมพันธภาพระหว่างประเทศ

รัฐแสวงหาความอยู่รอดปลอดภัยจากการเนินการอย่างมีเหตุมีผล บางครั้งจำต้องใช้สงครามเป็นเครื่องมือตัดสิน ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมเป็นผู้อยู่รอดท่ามกลางความยุ่งเหยิงของโลกซึ่งเป็นแนวที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่ความไร้ระเบียบระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นก่อนโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ เนื้อหาโดยรวมของหนังสือสะท้อนให้เห็นถึงกระแสชาตินิยมในการเมืองระหว่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นในยุโรป เอเชียและแอฟริกา การแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยม พร้อมกระแสความขัดแย้งเริ่มประทุขึ้นในขณะนั้น

นอกจากนี้ เขายังเป็นนักเขียนแนวสัจนิยมที่เปิดเผยกะเทาะเปลือกความจอมปลอมของค่านิยมและศีลธรรมในสังคมไทยตามแบบวรรณกรรมแบบสัจนิยมที่มีคตินิยมในการสร้างสรรค์วรรณกรรมอย่างสมจริง

หนังสือรวมเรื่องสั้นของเขาเป็นงานเขียนที่ทรงพลัง บ่อนเซาะและตั้งคำถามในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังในดาวเงิน และชีวิตจากมุมมืด

อย่างไรก็ตาม หนังสือและผลงานของเขาหาอ่านได้ยาก แม้บางเล่มจะมีการพิมพ์ใหม่ก็ตาม แต่หนอนหนังสือมักไม่ค่อยปล่อยผลงานเขาออกสู่ตลาดหนังสือมือสองนัก

ดังนั้น หากพิจารณาบริบทของหนังสือสัมพันธภาพระหว่างประเทศเล่มนี้ จะเห็นได้ว่า บรรยากาศความพรั่งพรูของหนังสือการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศที่ออกสู่ตลาดหนังสือภายหลังการปฏิวัติ 2475 มีความเฟื่องฟูมากอันสะท้อนให้เห็นถึงความกระหายใคร่รู้ของพลเมืองไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ไม่มีมาก่อนในระบอบเก่า