งิ้ว ครูและหนังสือพิมพ์ กับแรงบันดาลใจของเด็กชายปรีดี พนมยงค์ : ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

คอลัมน์ My Country Thailand โดย ณัฐพล ใจจริง

 

งิ้ว ครูและหนังสือพิมพ์ กับแรงบันดาลใจของเด็กชายปรีดี พนมยงค์

 

การไหลบ่าของสำนึกสมัยใหม่และการสื่อถึงความก้าวหน้าของโลกภายนอกมายังสังคมไทยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถูกส่งผ่านหนังสือพิมพ์ คำสอนของครู หรือแม้กระทั่งบนเวทีงิ้วถึงความสำเร็จของเก็กเหม็งในจีน และความล้มเหลวของคณะ ร.ศ.130

ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้กับนายปรีดี พนมยงค์

 

ความทรงจำของเด็กชายปรีดีถึงเก็กเหม็งในจีน

นายปรีดี พนมยงค์ แกนนำพลเรือนใน “คณะราษฎร” เล่าย้อนถึงแรงดลใจในวัยเยาว์ของเขา ในหนังสือประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ถึงข่าวการเก็กเหม็งในจีนที่เขารับรู้ผ่านเวทีงิ้วที่ตลาดหัวรอ ว่า

“ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือ มีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัดพนัญเชิง) นั้น ก็เปลี่ยนเรื่องเล่นใหม่ให้สมกับสมัย คือ เล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกด้วย”

ต่อมา เขาเห็นชายจีนทุกคนที่อยุธยาตัดผมเปียทิ้ง ทั้งๆ พวกเขาไว้เปียมาเป็นเวลานาน ชาวจีนอธิบายกับเขาว่า ที่ตัดผมเปียทิ้งเพราะจีนเปลี่ยนการปกครองใหม่และราชวงศ์ชิงเป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียได้ถูกล้มล้างไปแล้ว นอกจากนี้ เขายังชอบอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ของญาติอยู่เสมอ

เขาเล่าทวนความทรงจำสมัยยังเป็นนักเรียนที่กรุงเก่าว่า ครูประวัติศาสตร์สอนให้เขารู้จักรูปแบบการปกครองแบบต่างๆ ในโลก และเล่าเหตุการณ์ปฏิวัติจีนให้ฟังว่า

“ต่อมาในไม่ช้า ความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรยๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีน ยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน 2 ประเทศนี้ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน”

จากนั้น นายปรีดีไปเรียนต่อในกฎหมายที่พระนคร และเขาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสในปี 2463 พร้อมนำแรงดลใจจากไทยไปยังปารีส ต่อมา เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “คณะราษฎร”

และได้ร่วมนำการปฏิวัติ 2475 ในอีกไม่กี่ปีต่อมาจากนั้น

คุกและระบอบที่ขังได้เพียงแต่ร่างกาย

นายปรีดี พนมยงค์ ในวัยเยาว์ที่ฝรั่งเศส

ทว่าดวงจิตนั้นยังโลดเถลิง

ในหมอเหล็งรำลึก เล่าว่า ในระหว่างที่ “คณะ ร.ศ.130” ถูกจำคุกระหว่าง 2455-2467 นั้น ความคิดทางการเมืองของพวกเขายังคงสว่างไสว พวกเขายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปด้วย การลักลอบเขียนบทความแสดงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเขียนนวนิยายเพื่อเลี้ยงชีพครอบครัวส่งไปลงตามหนังสือพิมพ์การเมืองหลายฉบับ

หลังพ้นโทษ พวกหลายคน เช่น ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาส ร.ต.จือ ควกุล ไปทำงานหนังสือพิมพ์ “บางกอกการเมือง” ซึ่งมีอุทัย เทพหัสดินทร์ เพื่อนนักปฏิวัติผู้มีหุ้นส่วนในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว

ส่วน ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธุ์ ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต.สอน วงษ์โต ร.ตโกย วรรณกุล และ ร.ต.เนตร ทำงานที่ “ศรีกรุง” และ “สยามราษฎร์” ของมานิต วสุวัต

บทบาทของเหล่าผู้มาก่อนกาลยังคงต้องการผลักดันอุดมคติต่อไป ดังที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจเล่าว่า ในขณะที่เขามียศเพียง ร.ต.สังกัดกรมทหารมหาดเล็กฯ นั้น เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคณะ ร.ศ.130 ว่า

“พวกทหารที่คิดเก็กเหม็งหรือคิดปฏิวัติในรัชกาลก่อน (รัชกาลที่ 6) นั้น ก็มาทำงานตามโรงพิมพ์หนังสือรายวันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพิมพ์ศรีกรุง เชิงสะพานมอญ และคำภาษาไทยใหม่ๆ ก็ได้เกิดขึ้นขนานคู่กับลัทธิไตรราษฎร์ของ ดร.ซุนยัตเซนที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง เช่น คำว่า เสมอภาค ภราดรภาพ ดังนี้เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเร้าอารมณ์ของนายทหารหนุ่มๆ ยิ่ง หนังสือพิมพ์หลักเมืองถูกปิด โรงพิมพ์ศรีกรุงถูกปิด ก็ทำให้มีนายทหารเป็นจำนวนมากแอบซื้อหนังสือพิมพ์นี้มาอ่าน”

เผ่าบันทึกต่อไปว่า ด้วยความกระหายใคร่รู้ของนายทหารมหาดเล็กฯ ส่วนหนึ่งเริ่มต้นหาความหมายของคำว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เคยเป็นแต่เสียงกระซิบกระซาบ ก็เกิดมีการค้นคว้ากันว่า มันคืออะไร”

เมื่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทราบจึงหวาดระแวง นำไปสู่การจัดตั้ง “สมาคมลับแหนบดำ” ขึ้นเป็นหน่วยสายลับเพื่อทำการสืบหาข้าราชการที่มีหัวก้าวหน้าในกองทัพ

กระนั้นก็ดี ร.ต.บ๋วย สมาชิกคณะ ร.ศ.130 ยังคงเพียรเข้าไปเผยแพร่แนวความคิดในสโมสรนายทหารมหาดเล็กฯ ผ่านวงเหล้า และส่งหนังสือพิมพ์มาให้ห้องสมุดนายทหารเสมอ แม้นต่อมาทางการระแคะระคาย พวกเขาจึงย้ายวงเหล้าออกไปนอกกรมทหาร การพบปะสังสรรค์ทำให้นายทหารเริ่มรับรู้และเห็นด้วยกับความคิดทางการเมืองนั้น

ดังที่เผ่าบันทึกไว้ว่า “เรื่องกบฏเก็กเหม็งในเมืองไทยและที่ในเมืองจีนซึ่งกำลังต่อสู้กันอยู่ก็เริ่มกระจ่างแจ้งในใจของผู้บังคับหมวด คือ ร.ต.เผ่า ศรียานนท์”

คณะ ร.ศ.130 ขณะถูกจองจำในคุก

การบรรจบกันของผู้มีอุดมคติ

เมื่อนายปรีดีเดินทางกลับสู่สยาม ภายหลังเรียนจบและร่วมจัดตั้งคณะราษฎรที่ปารีสแล้ว เขาเคยพบกับ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ แกนนำของคณะ ร.ศ.130 เมื่อมีความคุ้นเคยระหว่างกันมากขึ้น เขาจึงถามถึงสภาพชีวิตในคุก และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อโศกนาฏกรรมที่เหล่าผู้มาก่อนกาลประสบ รวมทั้งซักถามถึงสาเหตุของความล้มเหลวที่ผ่านมาด้วย

นายปรีดีเล่าว่า “ปรีดีสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่า เมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ.130 รักชาติกล้าหาญ เตรียมเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยายามสอบถามแก่ผู้รู้เพื่อทราบเรื่องของ ร.ศ.130 ด้วยความเห็นใจมาก” นายปรีดีเรียนรู้บทเรียนเป็นประสบการณ์ว่า “ผมก็เอาบทเรียนที่เขาพลาดพลั้งมาศึกษา…”

เมื่อความสัมพันธ์พิเศษระหว่างผู้มีอุดมคติมีความแนบแน่นมากขึ้น จนนำไปสู่ความร่วมมือกัน ดังสมาชิกคณะ ร.ศ.130 บันทึกถึงบทบาทของพวกเขา ว่า

“เราในโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีสมองปฏิวัติอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเห็นเขาเต้นเขารำก็อดไม่ได้ มิหนำซ้ำมีบางคนได้ตกปากรับคำกับสายสื่อของคณะ พ.ศ.2475 เป็นทางลับไว้ด้วยว่า จะขออนุญาตเจ้าของโรงพิมพ์ใช้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงเป็นปากเสียง (organ) ของคณะ 2475 ก็เผอิญนายมานิต วสุวัต ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีนิสัยใจคอใคร่เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทันสมัยอยู่แล้วได้อนุญาตอย่างลูกผู้ชายนับแต่นั้นเป็นต้นมา”

พลันที่การปฏิวัติเริ่มต้นขึ้น ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในช่วงบ่าย พระยาพหลฯ ได้เชิญ ร.อ.เหล็งและคณะ ร.ศ.130 มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เขายื่นมือสัมผัสกับผู้ก่อการรุ่นก่อนหน้า และกล่าวกับคณะ ร.ศ.130 ว่า “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่เยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนเป็นแน่”

ส่วนพระยาทรงสุรเดช แกนนำของคณะราษฎร และเพื่อนนักเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกับ ร.ต.บ๋วย ถามเพื่อนว่า “พอใจไหมบ๋วย ที่กันทำในครั้งนี้” อดีตนักปฏิวัติได้กล่าวตอบว่า “พอใจมากครับ เพราะทำอย่างเดียวกับพวกผม” และในบ่ายวันนั้น พวกเขาพบนายปรีดี นายปรีดีกล่าวกับเหล่าผู้มาก่อนกาลว่า “พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ.130 ว่า พวกพี่ๆ ต่อไป”

บรรดาเหล่าคณะ ร.ศ.130 เข้าสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้อย่างแข็งขัน พวกเขาบางคนได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประวัติศาสตร์ เช่น ร.ต. เนตร ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง ต่อมา สมาชิกบางส่วนได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้กล้าหาญและมีฝีปากคม เช่น ร.ต.สอน วงศ์โต (ชัยนาท) ร.ท.ทองคำ คล้ายโอภาส (ปราจีนบุรี) และ ร.ต.ถัด รัตนพันธุ์ (พัทลุง) สมาชิกบางส่วนกลับเข้ารับราชการภายหลังที่คณะราษฎรนิรโทษกรรมความผิดที่ผ่านมาให้ สมาชิกบางส่วนก็หันไปประกอบกิจการค้าตามปกติและประกอบสัมมาอาชีพตามปกติ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความรู้และจิตวิญญาณและความใฝ่ฝันย่อมถูกส่งผ่านไปยังคนรุ่นถัดไป ดังแรงดลใจของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475