เมืองใหม่คณะราษฎร ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (4)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองใหม่คณะราษฎร

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (4)

 

พื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน คือ หนึ่งในนโยบายสำคัญหลังการปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎร หากกล่าวเฉพาะในพื้นที่เมืองเก่ากรุงเทพฯ จากการมองเทียบกับระหว่างแผนที่ 2475 และแผนที่ 2490 เราจะเห็นถึงการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญของพื้นที่ประเภทนี้

“สวนสัตว์ดุสิต” หรือ “เขาดินวนา” หรือที่มักเรียกกันอย่างลำลองว่า “เขาดิน” คือตัวอย่างแรก ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ เขาดินคือสวนสัตว์สาธารณะแห่งแรกในประเทศไทย

แม้สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การสร้างพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ที่มีการนำสัตว์ประเภทต่างๆ มาใส่กรงตั้งไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อเป้าหมายในการเยี่ยมชมและเพลิดเพลิน จะเป็นสิ่งที่มีอยู่มาก่อนแล้ว อย่างน้อยจากหลักฐานที่มีเก่าที่สุดคือ สวนสราญรมย์ สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ดังที่เคยอธิบายไปก่อนหน้านี้แล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวมิได้เปิดสาธารณะสำหรับประชาชนแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดคือพื้นที่ชั้นสูงสำหรับเจ้านาย ผู้ดี และแขกบ้านแขกเมืองเท่านั้น

เขาดิน ก่อน 2475 ก็ไม่ต่างกัน กล่าวคือ หลังจากที่รัชกาลที่ 5 สร้าง “พระราชวังดุสิต” ขึ้นบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพฯ ราว พ.ศ.2441 พื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนอู่ทองใน (เขาดิน) ได้ถูกทำให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ สระน้ำขนาดใหญ่ พร้อมคูคลอง และถนนอย่างสวยงาม โดยออกแบบขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเสด็จประพาสเป็นการส่วนพระองค์ และของข้าราชการฝ่ายใน

หรือนิยามให้เข้าใจอย่างง่ายๆ เลยนะครับ เขาดินในสมัยรัชกาลที่ 5 คือสวนส่วนตัวภายในบ้าน

แม้จะมีเรื่องเล่าว่า รัชกาลที่ 7 มีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนเขาดิน เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้งานได้ แต่ก็มิได้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

พื้นที่แห่งนี้จวบจนวันสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังคงมีสถานะเป็นดั่งพื้นที่ส่วนพระองค์เช่นเดิม

แต่หลังการปฏิวัติ 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ดำเนินการขอพื้นที่เขาดิน (รวมถึงสนามเสือป่า และสวนอัมพรด้วย) มาทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อใช้ในการพักผ่อนของประชาชน

โดยในสวนเขาดินได้ปรับปรุงให้เป็นสวนสัตว์ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ.2481 ซึ่ง ณ จุดนั้นเอง เขาดินจึงได้เปลี่ยนสภาพกลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน เป็นครั้งแรก (ก่อนที่จะปิดตัวลงไปเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ.2561)

โมเดลสวนสัตว์และสวนสาธารณะเช่นนี้ หรือที่ในยุคนั้นนิยมเรียกว่า “รมณียสถานสำหรับประชาชน” คณะราษฎรได้นำไปใช้กับเมืองอื่นๆ อีกหลายแห่ง ที่สำคัญที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ สวนสัตว์ลพบุรี ซึ่งเปิดเมื่อ พ.ศ.2483

พื้นที่อีกประเภทที่ควรกล่าวถึงคือ สนามกีฬาสาธารณะสำหรับประชาชน ซึ่งจากการอ่านแผนที่ 2475 และแผนที่ 2490 เราสามารถมองเห็นการขยายตัวของพื้นที่ประเภทนี้อย่างชัดเจน โดยที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ สนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) และสนามมวยเวทีราชดำเนิน

สำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ย่อมทราบดีว่า นโยบายด้านพลศึกษาของคณะราษฎรนั้นโดดเด่นมาก ในฐานะเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนมีจิตใจนักกีฬา และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเป็น “พลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ”

หนังสือ “ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ” ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2482 ได้กล่าวถึงนโยบายด้านนี้ไว้ชัดเจนว่า

“การพลศึกษาเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งแห่งความเป็นอยู่ของพลเมือง รัฐบาลได้จัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นและมอบหมายการงานที่เกี่ยวกับการกีฬา การกายบริหาร การสุขาภิบาลโรงเรียน การอนุสภากาชาด และการลูกเสือให้ ต่อมาได้ลงทุนสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่อจะเพาะความมีน้ำใจอันหนักแน่นของนักกีฬา ซึ่งเป็นสาระสำคัญของพลเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญให้บังเกิดโดยแพร่หลาย”

ด้วยเหตุนี้ สนามกีฬาแห่งชาติ (เรียกในขณะนั้นว่า กรีฑาสถานแห่งชาติ) โครงการเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ทางด้านการกีฬาจึงได้ถูกคิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2478 ภายใต้แนวคิดของ นาวาโทหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก โดยสถานที่ตั้ง ได้เลือกพื้นที่บริเวณที่เคยเป็นวังวินด์เซอร์ (แต่ไม่เคยมีสถานะเป็นวังแต่อย่างใด เนื่องจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวังเสด็จทิวงคตเสียก่อนที่จะได้มาอาศัยในวังแห่งนี้) ซึ่ง ณ ขณะนั้น พื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยถูกใช้เป็นโรงเรียนหอวัง (ดูภาพแผนที่ประกอบ)

การก่อสร้างอาคารในส่วนแรก แล้วเสร็จใน พ.ศ.2481 ซึ่งได้กลายเป็นสนามกีฬาสาธารณะสำหรับประชาชนแห่งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การจัดกีฬาขนาดใหญ่จะจัดขึ้นในพื้นที่สนามของโรงเรียนสวนกุหลาบหรือไม่ก็บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งมิได้มีมาตรฐานมากนัก

สนามมวยเวทีราชดำเนิน เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่มีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์กีฬามวยไทย

แน่นอนนะครับ มวยไทยเป็นกีฬายอดนิยามมายาวนานแล้ว และการจัดเวทีชกมวยในรูปแบบกีฬาแบบสมัยใหม่ก็เริ่มมีมาแล้วเช่นกันตั้งแต่ในระบอบเก่า

แต่ประเด็นคือ ก่อน พ.ศ.2475 การจัดเวทีชกมวยแทบทั้งหมดเป็นแค่เวทีชั่วคราว เช่น สนามมวยในบริเวณสวนเจ้าเชตุหรือกรมการรักษาดินแดนในปัจจุบัน, สนามมวยสวนกุหลาบที่ปรับใช้สนามฟุตบอลของโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นคราวๆ ไป และสนามมวยสวนสนุก ที่ตั้งอยู่ในสวนลุมพินี เป็นต้น พูดให้ชัดก็คือ ไม่มีเวทีมวยไทยที่ได้มาตรฐานสากลและทันสมัยมาก่อนเลยภายใต้การปกครองในระบอบเก่า

แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ราวปี พ.ศ.2484 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น มีคำสั่งให้ทำการก่อสร้างสนามมวยขนาดใหญ่ขึ้น บริเวณริมถนนราชดำเนินนอก ในตำแหน่งตรงข้ามกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (ดูภาพแผนที่ประกอบ)

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ต้องหยุดชะงักลงหลายปีอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้รับการรื้อฟื้นใหม่อีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลก และตัวอาคารได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2488

คงไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรมากนักนะครับสำหรับสนามมวยแห่งนี้ เพราะตัวมันเองได้กลายเป็นโครงการสาธารณะสำหรับประชาชนที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ได้รับความนิยมแทบจะทันทีเมื่อเปิดใช้งาน กลายเป็นพื้นที่ที่ยกระดับมาตรฐานการแข่งขันมวยไทยของประเทศให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้วยความนิยมล้นหลาม ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนสนามมวย จากที่เป็นอาคารเปิดโล่งกลางแจ้ง มาสู่การสร้างหลังคาคลุมพื้นที่อาคารทั้งหมด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่มากในยุคนั้นสำหรับกีฬาประเภทนี้ที่นิยมเวทีกลางแจ้งมาโดยตลอด หลังคาคลุมสนามมวยได้รับการออกแบบเป็นหลังโดมคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ รับผิดชอบโดยบริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลสัน ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.2494 ก็ได้ทำให้อาคารนี้กลายเป็นเวทีมวยที่ทันสมัยมากที่สุด และได้กลายต้นแบบให้กับการสร้างสนามมวยในเวลาต่อมาอีกหลายแห่ง

สนามมวยเวทีราชดำเนิน คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของโครงการก่อสร้างที่ตอบสนองวิถีชีวิตและรูปแบบการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ที่เริ่มได้รับความสนใจและความสำคัญมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังจากการปฏิวัติ 2475

จากโครงการทั้งสามที่กล่าวมา ผมคิดว่าคงไม่เกินไปนักที่เราจะสรุปว่า พื้นที่เมืองเก่ากรุงเทพฯ หลัง พ.ศ.2475 ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การขยายตัวขึ้นอย่างน่าสังเกตของพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะสำหรับประชาชน

ทั้งในรูปแบบที่ทำให้พื้นที่พักผ่อนที่เคยจำกัดเฉพาะแต่ผู้ดี กลายมาเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม (กรณีเขาดินและสนามกีฬาแห่งชาติ)

หรือในรูปแบบที่เป็นการพัฒนากีฬาแบบสามัญชน ให้สามารถยกระดับมาตรฐานจนสามารถที่จะมีอาคารที่ทันสมัย สะดวกสบาย และมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการของประชาชนจำนวนมากได้ (กรณีสนามมวยเวทีราชดำเนิน)

ซึ่งทั้งหมดถือเป็นคุณูปการที่สำคัญยิ่งของคณะราษฎรที่หลายคนอาจมองข้ามไป