อ่านความเป็นไทย Thailand Pavilion ใน World Expo 2020 (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

อ่านความเป็นไทย

Thailand Pavilion

ใน World Expo 2020 (1)

 

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ในที่สุด WORLD EXPO 2020 DUBAI ก็ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องเลื่อนการจัดงานมา 1 ปี เพราะการระบาดของโควิด-19

ไฮไลต์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในงาน World Expo ทุกครั้งคือ การแข่งขันกันเพื่ออวดโชว์การออกแบบ pavilion ของชาติต่างๆ เพราะด้วยความยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมปริมาณคนเข้าชมงานหลายสิบล้านคน ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการจัดงาน ทำให้งาน World Expo กลายเป็นเวทีระดับโลกที่แต่ละประเทศจะใช้เป็นโอกาสในการสร้างและนำเสนอ “แบรนด์ของชาติ” (Nation Brand) ออกสู่ชาวโลกผ่านการออกแบบ pavilion ของตนเอง

pavilion ในงาน World Expo มีความหมายที่พิเศษแตกต่างจากงานประเภท International Trade Expo (งานแสดงสินค้านานาชาติ) เพราะงานประเภทหลัง ตัวอาคารอาจมีบทบาทหน้าที่เพียงเปลือกที่ห่อหุ้มพื้นที่ขายของภายในเท่านั้น แต่งานประเภทแรก ตัวอาคารจะต้องทำหน้าที่ประกาศตัวตน ศักยภาพ และวิสัยทัศน์ในอนาคตของชาติต่อสายตาชาวโลก

ด้วยเหตุนี้ การวิจารณ์และเปรียบเทียบงานออกแบบ pavilion ของแต่ละชาติว่าอันไหนสะท้อนอัตลักษณ์ของชาติได้อย่างชาญฉลาดหรือทื่อๆ ล้าสมัย อันไหนดี ไม่ดี อันไหนน่าสวย น่าเกลียด จึงเกิดขึ้นเป็นประจำ

ซึ่งศาลาไทย (Thailand Pavilion) ใน World Expo หลายปีที่ผ่านมาก็หนีไม่พ้นปรากฏการณ์ดังกล่าวเช่นกัน

แต่ที่น่าสังเกตคือ ความเห็นส่วนใหญ่แทบทุกครั้งซึ่งรวมถึงครั้งล่าสุดด้วย ดูไม่ค่อยพอใจกับการออกแบบเท่าไรนัก โดยเฉพาะในแวดวงด้านการออกแบบสร้างสรรค์และวิชาชีพสถาปัตยกรรม

ผมเองเป็นหนึ่งในคนที่ไม่พอใจ และมีความเห็นว่าศาลาไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาล้มเหลวในการสร้างแบรนด์ของชาติไทยที่ควรจะเป็นในโลกศตวรรษที่ 21

หากนับในแง่รางวัล ไม่ปฏิเสธว่าศาลาไทยที่ผ่านมาได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในการเข้าชม จนได้รับรางวัล Popular Pavilion และ Popular Vote หลายครั้ง

แต่คำถามสำคัญคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การออกแบบศาลาไทยในเวทีระดับโลกเช่นนี้จะวาง position ตัวเองขึ้นไปอีกขั้น

ไปสู่การแข่งขันในมิติของการสร้างสรรค์ให้มากขึ้นกว่าการฉวยใช้รูปแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมมาใช้อย่างตรงไปตรงมาเพียงเพื่อสร้างความรู้สึก exotic ในหมู่ผู้ชมชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่ศาลาไทยตลอดร้อยปีที่ผ่านมาเลือกใช้

พูดให้เป็นรูปธรรมคือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ศาลาไทยจะมุ่งหวังรางวัลประเภทอื่น เช่น The Creative Display Award, The Pavilion Design Award, The Innovation Award, The Best Sustainable Construction Project ฯลฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย

ภาครัฐรณรงค์กันมานานแล้วไม่ใช่หรือ เรื่องสร้างไทยให้เป็นสังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์ เห็นโครงการอะไรๆ ก็ชอบใส่คำว่า creative เข้าไปจนแทบจะกลายเป็นยาสามัญประจำโครงการของรัฐอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Creative Economy, Creative Thailand, Creative District ฯลฯ

แล้วทำไมเมื่อถึงโอกาสประชันความสร้างสรรค์ในเวทีระดับโลกจริงๆ กลับไม่สนใจที่จะออกแบบให้ได้รางวัลตระกูล creative อะไรบ้างเลย

 

ในประเด็นเรื่องการตีความ “ความเป็นไทย” ในเวทีโลกก็น่าผิดหวังไม่แพ้กัน การออกแบบทุกครั้งล้วนตีความในทิศทางเดิมมาโดยตลอด

ไร้ซึ่งการนิยามความเป็นไทยในแง่มุมใหม่ที่สอดคล้องไปกับโลกศตวรรษที่ 21

ความใหม่เพียงด้านเดียวที่มีคือการใช้เทคโนโลยีที่มีมากขึ้นทุกครั้งในทุกการจัดงาน แต่การใช้ก็เป็นเพียงเพื่อนำเสนอความเป็นไทยในนิยามเดิมผ่านเทคนิคสมัยใหม่เท่านั้น

ในบทความ Image of a Nation : Country branding at World Expos ของ Dr. Jian Wang ซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของ The Bureau International des Expositions ได้นำเสนอเงื่อนไข 6 ข้อสำหรับการสร้างแบรนด์ของชาติผ่าน pavilion ในโลกยุคปัจจุบัน โดยหนึ่งในนั้น คุณ Wang เสนอว่า

มันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับการออกแบบ National Pavilion ที่ประสบความสำเร็จ ที่จะต้องสร้างประสบการณ์หรือความรู้สึกเซอร์ไพรส์ให้เกิดขึ้นต่อผู้เข้าชม แน่นอน ในด้านหนึ่งมันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องนำเสนอสัญลักษณ์ของชาติซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่เป็นภาพจำทั่วไปที่สามารถเข้าใจได้ในทันทีให้เกิดขึ้นกับผู้เข้าชม แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งหากการนำเสนอที่เน้นแต่การสร้างภาพจำที่คุ้นเคยทั่วไปมากเกินพอดี pavilion นั้นก็จะล้มเหลวในการทำหน้าที่จุดประกายความสนใจและจินตนาการใดๆ ในหมู่ผู้เข้าชม

ดังนั้น “องค์ประกอบของความเซอร์ไพรส์” (an element of surprise) คือสิ่งจำเป็นอันขาดไม่ได้

กล่าวโดยสรุป การสร้างแบรนด์ของชาติจะต้องมีสมดุลกันระหว่างการสร้าง “ความคุ้นชิน” จากภาษาสัญลักษณ์ในแบบเดิม กับการสร้างความรู้สึกของ “ความคาดไม่ถึง” อันสดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าค้นหาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เข้าชม

 

ศาลาไทยใน World Expo ที่ดูไบ หากคิดบนเกณฑ์ข้างต้น คงไม่เกินไปนักที่จะสรุปว่า ยังขาดการคำนึงถึงการสร้างแบรนด์ไทยในโลกสมัยใหม่ในมิตินี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ตัวอาคารมุ่งเน้นแต่การใช้ภาษาสัญลักษณ์ความเป็นไทยที่คุ้นเคยทั่วไปในการสื่อสารทางการตลาดระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นหลังคาจั่วทรงสูง ม่านดอกรัก พวงมาลัยดอกรัก เรือสุพรรณหงส์ การไหว้ และสีทอง แต่ขาดการสร้างองค์ประกอบของ “ความคาดไม่ถึง” และ “เซอร์ไพรส์” ในความเป็นไทย

ยิ่งไปกว่านั้น การออกแบบพื้นที่ภายใน (architectural space) แทบไม่มีอะไรที่อาจเรียกได้ว่าเป็น การสร้างแคเร็กเตอร์ของความเป็นไทยใหม่ที่คาดไม่ถึงและน่าเซอร์ไพรส์เลย

ขนาดพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร ถูกออกแบบในลักษณะเป็นห้องนิทรรศการปิดทึบ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสื่อสารกับผู้ชมเป็นหลัก ทั้งมัลติมีเดีย จอขนาดใหญ่ การแสดงบนเวที เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ mobility ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของไทย

ผลที่ปรากฏคือ ศาลาไทยไม่ได้ออกแบบให้พื้นที่ภายในทำหน้าที่ในการสื่อสารความหมายใหม่อะไร ไม่มีทั้งการตีความพื้นที่แบบไทยหรือ mobility for the future ผ่านสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น อาศัยเพียงสร้างห้องมืดในลักษณะห้องฉายมัลติมีเดียเป็นสื่อกลางเพียงอย่างเดียว

เนื้อหาในมัลติมีเดียทั้งหลายคงวิจารณ์อะไรไม่ได้เพราะยังไม่มีโอกาสชม แต่ถึงแม้จะคิดในแง่บวกว่าทำออกมาได้ดี ก็ยังน่าเสียดายอยู่นั่นเองที่ผู้รับผิดชอบศาลาไทยไม่สนใจที่จะออกแบบหรือนำเสนอแบรนด์ไทยผ่าน space อาคารเลย

แตกต่างจากชาติอื่นหลายชาติที่เล่นกับการสร้างพื้นที่ภายในได้น่าสนใจ

 

ในการบรรยายของผู้รับผิดชอบศาลาไทยผ่านเพจ School of Architecture, Art, and Design – KMITL เมื่อ 22 กันยายนที่ผ่านมา มีการตอบโต้กระแสวิจารณ์นี้ว่า ขอให้มองที่งบประมาณที่ได้รับด้วยก่อนที่จะเรียกร้องในเรื่องเหล่านี้ พร้อมยกตารางเทียบงบประมาณกับอาคารของชาติอื่นประกอบ

แต่น่าแปลกที่ผู้รับผิดชอบเลือกที่จะเปรียบเทียบเฉพาะ pavilion ของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อชี้ให้เห็นงบประมาณที่ต่างกันมหาศาล แต่ละเลย pavilion ของประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น

ฟิลิปปินส์ ใช้งบราว 350 ล้านบาท ในโครงการนี้ และสร้าง pavilion ขนาด 1,300 ตารางเมตร

โปแลนด์ ใช้งบราว 360 ล้านบาท เพื่อสร้าง pavilion ขนาด 2,000 ตารางเมตร

เปรู ใช้งบราว 440 ล้านบาท ในโครงการนี้ และสร้าง pavilion ขนาด 2,500 ตารางเมตร

ทั้ง 3 ประเทศมีการออกแบบอาคารที่น่าสนใจทั้งภายนอกภายในต่างจากของไทยมาก แต่เมื่อลองคิดค่าเฉลี่ยงบต่อตารางเมตรกลับพบว่าไม่ต่างกันมากนักกับศาลาไทย

(ในส่วนของฟิลิปปินส์และเปรู งบนี้รวมทุกอย่าง ไม่ใช่แค่การสร้างอาคาร)

 

ความไม่น่าสนใจของศาลาไทยดังกล่าว ได้นำมาสู่อีกข้อวิจารณ์ คือ มีการเรียกร้องให้ทำการประกวดแบบและเปิดให้สาธารณะแสดงความเห็นหรือโหวตแบบที่ควรจะเป็น มากกว่าที่จะใช้ระบบประมูลและจัดซื้อจัดจ้างพิเศษในแบบที่เป็นอยู่

ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการตอบคำถามนี้ไว้น่าสนใจมากว่า การประกวดแบบและการโหวตไม่ใช่คำตอบ โดยเทียบเคียงไปถึงการโหวตเลือก ส.ส. ในระบอบประชาธิปไตยที่อาจไม่ได้นำมาซึ่ง ส.ส. ที่ดีมีคุณภาพ

ฟังเหตุผลแล้วแปลกใจมาก เพราะในขณะที่ตัวเองไม่ยอมรับว่าการโหวตตัดสินแบบว่าจะนำมาซึ่งแบบที่ดีได้ แต่กลับภาคภูมิใจมากกับรางวัล Popular Vote ที่ศาลาไทยได้รับว่าเป็นตัวชี้วัดว่าศาลาไทยที่ตัวเองทำมานั้นดีและประสบความสำเร็จ

สรุปแล้ว ผู้รับผิดชอบโครงการนี้เชื่อมั่นในการโหวตแสดงความเห็นของสาธารณชนหรือเปล่า หรือว่ายินดีกับคะแนนโหวตเฉพาะที่ตนเองได้ประโยชน์เท่านั้น

ยังมีอีกหลายประเด็นสำหรับ Thailand Pavilion ใน World Expo 2020 แต่หน้ากระดาษหมดแล้ว ต้องขอยกยอดไปว่ากันต่อในครั้งหน้า