ห้องสมุด (รัฐ) ไทย ในโลกที่เปลี่ยนแปลง (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ห้องสมุด (รัฐ) ไทย

ในโลกที่เปลี่ยนแปลง (1)

 

นับตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่สังคมอินเตอร์เน็ต สมาร์ตโฟน และโซเชียลมีเดีย “พื้นที่” หลากหลายแบบในโลกเก่าก็ถูกท้าทายและตั้งคำถามว่าจะมีอนาคตต่อไปในโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้หรือไม่

ห้องสมุดคือพื้นที่หนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวการณ์ดังกล่าว มีการคาดการณ์กันมากพอสมควรนับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ว่า ห้องสมุดจะสูญสิ้นบทบาทต่อสังคมและสูญหายไปในไม่ช้า เหลือไว้เพียงบทบาทของสถานที่ที่เก็บรักษาหนังสือเก่าอันมีค่าที่ไม่ต่างมากนักกับพิพิธภัณฑ์

แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ห้องสมุดหลายแห่งทั่วโลกปรับตัวเองอย่างขานใหญ่ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อความอยู่รอด

เปลี่ยนตัวเองไปสู่นิยามใหม่ของการเป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงรุกที่มิได้ยึดติดอยู่กับตัวเล่มหนังสือเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

“วัฒนธรรมการอ่าน” ที่เคลื่อนย้ายออกจากสิ่งพิมพ์ที่เป็นตัวเล่มไปสู่สมาร์ทโฟน คือสิ่งที่ห้องสมุดทั้งหลายรับรู้และเริ่มทำการเปลี่ยนตัวเล่มหนังสือในคอลเล็กชั่นของตนเองไปสู่หนังสือออนไลน์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ

ไม่เพียงแค่นั้น ห้องสมุดหลายแห่งขยายบทบาทของตนเองไปสู่การเป็นพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชน

ที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนพื้นที่อ่านหนังสือแบบเดิมสู่การเป็นพื้นที่ co-working space ที่เพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเปิดรับกลุ่มผู้ใช้สอยแบบใหม่

 

Oodi Helsinki Central Library ในฟินแลนด์ เปิดตัวในปี 2562 ด้วยการออกแบบพื้นที่สำหรับหนังสือลงน้อยลงเหลือเพียง 1 ใน 3 โดยพื้นที่ส่วนที่เหลือถูกออกแบบเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพบปะพูดคุยและทำงาน, ร้านอาหาร, คาเฟ่, ห้องฉายภาพยนตร์, ห้องอัดเสียง ฯลฯ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ “ห้องสมุดไร้หนังสือ” ในแคนาดา (เปิดตัวเป็นทางการ ปี 2562) ชื่อ Idea Exchange Old Post Office Library ห้องสมุดแห่งนี้ พื้นที่ทั้งหมดถูกออกแบบให้เป็นสถานที่พบปะและสร้างสรรค์ของคนทุกเพศวัย ภายในประกอบด้วยสตูดิโอ, ห้องฉายหนัง, พื้นที่เล่นเกม, พื้นที่บริการเครื่องดนตรีสำหรับคนที่อยากเล่นดนตรีผ่อนคลาย, พื้นที่สำหรับเด็ก, พื้นที่ให้บริการ 3D printing ฯลฯ

หรือในสถานการณ์โควิด Somerville Public Library สหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2562 ได้ตัดสินใจขยายบทบาทใหม่ให้เอื้อต่อชุมชนด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ว่างหน้าอาคารเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับคนในพื้นที่ พร้อมบริการ Wi-Fi ฟรี ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2564

 

แต่น่าแปลกนะครับ กระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกข้างต้น เมื่อมองย้อนกลับมาพิจารณาห้องสมุดในสังคมไทย กลับพบการปรับตัวที่น้อยมาก จนอาจเรียกได้ว่าแทบไม่มีการปรับตัวเลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มห้องสมุดที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐทั้งหลาย (ห้องสมุดเอกชนมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่า แต่มิใช่ประเด็นหลักของบทความนี้ เลยจะขอยกไว้ไม่กล่าวถึง)

อาจไม่เป็นธรรมเสียทีเดียวที่พูดว่า “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ไร้ความเปลี่ยนแปลง ในช่วงหลายปีมานี้

ห้องสมุดหลายแห่งมีโครงการเปลี่ยนหนังสือเล่มมาสู่หนังสือออนไลน์ และเผยแพร่สาธารณะอยู่มากพอสมควร แต่กระนั้นหากมองในเชิงปริมาณก็ถือว่ายังน้อยมาก ตามไม่ทันวัฒนธรรมการอ่านที่เปลี่ยนไปมากแล้ว

ในแง่ของการปรับปรุงการใช้สอยพื้นที่ใช้งาน แม้มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่แทบทั้งหมดคือการปรับปรุงทางกายภาพเปลือกนอก

เช่น เปลี่ยนวัสดุตกแต่งให้สวยงามทันสมัย, ขยายช่องเปิดรับแสงจากภายนอกให้มากขึ้น, และเพิ่มปริมาณคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการสืบค้น เป็นต้น โดยมิได้ลงไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้สอยพื้นที่ที่ตอบสนองวัฒนธรรมการใช้งานห้องสมุดที่เปลี่ยนไปแต่อย่างใด

ในส่วนบทบาทเชิงรุกใหม่ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยนะครับ เราแทบไม่พบการปรับตัวในด้านนี้เลย โครงสร้างการบริหารและบทบาทหน้าที่ของ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ในปัจจุบันยังแทบไม่แตกต่างเลยจากห้องสมุดในศตวรรษก่อน

 

ประเด็นนี้สำคัญมาก และผมคิดว่าคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้การปรับตัวเกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” จะยิ่งแยกตัวเองออกห่างจากผู้คนและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเพียงโกดังเก็บหนังสือโบราณ

ในทัศนะผม การเปลี่ยนทัศนะในการมองบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดที่มีต่อผู้คนและสังคม คือหัวใจสำคัญของความเปลี่ยนแปลง

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติ บทบาทของห้องสมุด คือ พื้นที่รวบรวม จัดเก็บ และรักษามรดกอารยธรรมของมนุษย์ บทบาทดังกล่าวที่สืบทอดมานับพันปี ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของห้องสมุดแยกไม่ออกจากความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ยิ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์ ห้องสมุดสำคัญในโลกส่วนใหญ่ก็ล้วนถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ทางศาสนาเกือบทั้งสิ้น ซึ่งนั่นทำให้ความหมายของหนังสือ ห้องสมุด และ ความรู้ เชื่อมเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แม้ในเวลาต่อมา “รัฐ” กับ “ศาสนา” จะถูกแยกออกจากกัน และห้องสมุดก็เคลื่อนย้ายตัวเองออกมาจากปริมณฑลทางศาสนาแล้ว แต่ความหมายว่าด้วยการเป็นสถานที่รวบรวมมรดกอรยธรรมของมนุษยชาติ ภายใต้แนวคิดแบบมนุษยนิยม ก็ยังคงทำให้ หนังสือ ห้องสมุด และความรู้ ดำรงสถานะของความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งอยู่เช่นเดิม แม้จะมิใช่ในความหมายทางศาสนาอีกต่อไปก็ตาม

การออกแบบพื้นที่ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก ห้องสมุดมีสถานะไม่ต่างจากวิหารแห่งความรู้ในโลกสมัยใหม่ที่เรียกร้องการแสดงออกถึงบรรยากาศแห่งความขรึมขลัง ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นทางการอยู่เช่นเดิม

 

ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 20 แม้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายแค่ไหน แต่ในเชิงการจัดวางพื้นที่และบรรยากาศของห้องสมุดแทบทั้งโลกก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดิม

ชั้นหนังสือสูงใหญ่ท่วมหัวที่โอบล้อมเราเกือบทุกด้าน ฟ้าเพดานสูง ความเงียบสงบในระดับที่ไม่ต่างมากนักจากเวลาเรานั่งสวดภาวนาในโบสถ์ ตลอดจนระเบียบและมารยาทมากมายในการใช้พื้นที่ ทั้งหมดนี้คือภาพลักษณ์ของห้องสมุดในศตวรรษที่ผ่านมา

แน่นอน ในสังคมไทยก็รับความหมาย บทบาทหน้าที่ และภาพลักษณ์ดังกล่าวเข้ามาเช่นกัน แต่ที่สำคัญคือ เราเองได้เสริมความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งให้มากขึ้นไปอีก ผ่านวัฒนธรรมการยกย่องหนังสือในฐานะวัตถุศักดิ์สิทธ์ที่ต้องกราบไหว้

นอกจากนี้ ระเบียบและเงื่อนไขการอ่านและการใช้พื้นที่ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ยังผูกรัดเข้ากับวัฒนธรรมการเคารพสถานที่ที่ได้กลายมาเป็นการควบคุมร่างกายของผู้ใช้ห้องสมุดในระดับที่มากจนเกินไป

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” (จริงๆ หน่วยราชการทุกแห่งก็เป็นแบบนี้) จึงจัดวางบทบาทหน้าที่ของตัวเอง (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ในรูปแบบที่มิได้เป็นเพียงพื้นที่ให้บริการความรู้แก่ประชาชนเท่านั้น

แต่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งอาจสำคัญกว่าด้านแรกด้วยซ้ำ คือ การเป็นสถาบันที่คอยควบคุมสอดส่องประชาชนที่เข้ามาอ่านหนังสือ ซึ่งได้กลายเป็นวัตถุที่ทั้งเป็นมรดกอารยธรรมของมนุษย์ในความหมายแบบสากล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความหมายแบบไทย

 

การจัดวางบทบาทหน้าที่ของห้องสมุดเช่นนี้ แม้หลายแห่งในปัจจุบัน (โดยเฉพาะพื้นที่ห้องสมุดในมหาวิทยาลัย) จะปรับตัวดีขึ้นมากแล้วก็ตาม แต่โดยภาพรวม ทัศนะเช่นนี้ยังคงฝังรากแน่นอยู่ในความเป็นห้องสมุดของภาครัฐ และนี่คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ แม้เราจะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่บทบาทหน้าที่ตลอดจนการออกแบบพื้นที่ “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ก็ยังคงไม่มีการปรับตัวมากเท่าที่ควรจะเป็น

แม้จะเริ่มโครงการทำหนังสือออนไลน์ แต่ก็ทำในระดับที่น้อยเกินไป

แม้จะปรับบรรยากาศห้องสมุดให้ดูสมัยใหม่ และมีคอมพิวเตอร์มากขึ้น แต่วัฒนธรรมการใช้งานก็ยังตกค้างอยู่ในศตวรรษก่อน

การแต่งกายต้องสุภาพและต้องอ่านเงียบๆ โดยไม่ยอมสร้างพื้นที่ใช้เสียงได้ และไม่ยอมสร้างพื้นที่ในลักษณะ co-working space ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการอ่านและเรียนรู้ในแบบใหม่ กลายเป็นว่าพื้นที่ co-working space ของสังคมไทยจึงไปขยายตัวนอกพื้นที่ห้องสมุด ทั้งๆ ที่สองพื้นที่นี้ควรจะรวมอยู่ด้วยกัน

การมองตัวเองเป็นสถาบันทางการในทัศนะแบบราชการที่มากเกินไป จนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าตนเองควรต้องเริ่มหันมาทำงานเชิงรุก เดินเข้าหาประชาชนและชุมชนให้มากขึ้น ต้องเปลี่ยนพื้นที่ของตัวเองให้สอดรับกับความต้องการของผู้คนในรูปแบบใหม่ๆ ที่มากกว่าการเป็นโกดังเก็บหนังสือ

ทั้งหมดทั้งปวง คือ วิกฤต “ห้องสมุด (รัฐ) ไทย” ที่ต้องรีบปรับตัวเองอย่างเร่งด่วน ซึ่งการปรับตัวควรมีอะไรบ้างนั้น ขอยกเอาไว้ไปพูดต่อในสัปดาห์หน้านะครับ