ผู้หญิงในสถาปัตยกรรมไทย / พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ผู้หญิงในสถาปัตยกรรมไทย

 

เคยสังเกตไหมว่า เมื่อเราพูดถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังมรดกงานสถาปัตยกรรมไทยในอดีตทั้งหลาย ภาพของผู้ออกแบบก่อสร้างงานและผู้อุปถัมภ์งานก่อสร้างเกือบทั้งหมดคือภาพของผู้ชายแทบทั้งสิ้น

ก่อนที่จะมีคำว่า “สถาปนิก” (คำนี้เกิดขึ้นจากการแปลคำว่า architect ในสมัยรัชกาลที่ 6) สังคมไทยเรียกผู้ทำหน้าที่ออกแบบและก่อสร้างว่า “ช่าง” และ “นายช่าง” การใส่คำว่า “นาย” ลงไปข้างหน้าคำว่า “ช่าง” ก็สะท้อนอย่างชัดเจนถึงเพศของผู้ทำการออกแบบก่อสร้าง

ผู้อุปถัมภ์ก็เช่นกัน บันทึกทั้งหลายที่เหลืออยู่ล้วนชี้ไปที่บทบาทของผู้ชาย ไล่ตั้งแต่กษัตริย์ เจ้านายผู้ชาย ขุนนางผู้ชาย ฯลฯ

มีเพียงเจ้านายฝ่ายหญิงเพียงน้อยนิดที่จะปรากฎชื่อเสียงเรียงนามในการเป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ลักษณะ “ความเป็นชาย” ก็ถือเป็นลักษณะเด่นที่ปรากฏอยู่ในงาน ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง วัดวาอาราม ป้อม กำแพงเมือง ฯลฯ นารายณ์ทรงครุฑ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พญานาค สิงห์ ครุฑ ยักษ์ ลิง ฯลฯ ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นศิลปกรรมประดับตกแต่งนั้น แทบทั้งหมดก็แสดงออกถึงลักษณะความเป็นชายมากกว่าหญิงอย่างไม่ต้องสงสัย

พระพุทธรูปที่อ่อนช้อยงดงามถูกอธิบายว่าเป็นเส้นสายของความเป็นทิพย์ รูปทรงในอุดมคติ ไร้เพศสภาพ มากกว่าที่จะอธิบายว่าเป็นเส้นสายที่ถ่ายทอดมาจากความเป็นผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาพของผู้ชาย บทบาทของผู้ชาย และลักษณะ “ความเป็นชาย” ที่ครอบครองพื้นที่ในงานสถาปัตยกรรมไทยไปเกือบทั้งหมดนั้น โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยอยากจะเชื่อนักว่า ภาพของผู้หญิง บทบาทของผู้หญิง และลักษณะ “ความเป็นหญิง” จะไร้พื้นที่และตัวตนเสียทีเดียว

ในโอกาสที่วันสตรีสากลกำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ ผมเลยอยากจะลองชวนมองและค้นหาภาพของผู้หญิงและความเป็นหญิงในงานสถาปัตยกรรมไทยดูบ้าง

วัดเทพธิดาราม เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงวัดนี้สิ่งที่จะถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ “รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยม” สมัยรัชกาลที่ 3 ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน

อีกเรื่องคือ “กุฏิสุนทรภู่” กวีเอกยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งผมคิดว่าทั้งสองเรื่องนี้ไม่ใช่สาระสำคัญอันโดดเด่นของวัดนี้แต่อย่างใดเลย

ภาพของผู้หญิงและลักษณะความเป็นหญิงต่างหากคือสิ่งที่โดดเด่นที่สุด

วัดเทพธิดารามสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อพระราชทานแด่ “กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”

และแม้ว่ารัชกาลที่ 3 จะเป็นผู้มีพระราชดำริสร้าง แต่ตามประวัติก็ระบุเอาไว้ว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากร่วมด้วยในการก่อสร้าง

อาจเรียกว่าเป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้างที่สำคัญเลยก็ว่าได้

และผมอยากจะคิดว่าพระองค์น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการออกแนวคิดในการออกแบบด้วย

ทำไมจึงคิดเช่นนั้น คำตอบคือ ด้วยหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าเจ้านายพระองค์นี้มีบทบาทสำคัญที่สุดในราชการของฝ่ายใน และเป็นที่รักอย่างมากของรัชกาลที่ 3

กล่าวกันว่า ทรงเป็นผู้ถือกุญแจพระคลังข้างใน และมักออกปฏิบัติราชกิจร่วมกับรัชกาลที่ 3 อยู่เสมอ

ถึงขนาดที่บางคนนิยามว่าเป็น “นางแก้ว” (หนึ่งในแก้ว 7 ประการของพระมหาจักรรดิราช) ของรัชกาลที่ 3

ซึ่งด้วยอำนาจและบารมีดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องแปลกเลยที่พระองค์จะมีส่วนในการกำหนดแนวคิดในการออกแบบวัดเทพธิดาราม ถ้าไม่มีส่วนในการแสดงความเห็นใดๆ เลยต่างหาก ถึงจะเรียกว่าน่าแปลก

 

ยิ่งเมื่อมองลงไปในรายละเอียดการออกแบบก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะเกือบทุกองค์ประกอบถูกสร้างขึ้นด้วยความต้องการที่จะสะท้อน “ความเป็นหญิง” ออกมาอย่างชัดเจน

ตั้งแต่ลวดลายหน้าบันพระอุโบสถและวิหารที่ทำเป็นรูป “พญานก” สัญลักษณ์ที่สื่อความเป็นหญิง

พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระปางมารวิชัยทำจากหินสีขาวบริสุทธิ์ซึ่งพุทธลักษณะมีความอ่อนช้อยและเมื่อเป็นสีขาวจึงดูนุ่มนวลสะท้อนความเป็นผู้หญิงได้ดี

นอกจากนี้ บานหน้าต่างภายในยังทำเป็นลายรดน้ำรูปนางอัปสรอยู่ภายในวิมานอีกด้วย

สำคัญที่สุดคือ ภายในวิหารจะประดิษฐานรูปปั้นพระภิกษุณีจำนวน 52 องค์อยู่บนแท่นหินอ่อนหน้าพระประธาน ซึ่งเป็นการแหวกจารีตประเพณีของงานศิลปะไทยอย่างมาก

ยิ่งมองภายใต้บริบทพุทธศาสนาในสังคมไทยที่ไม่เปิดพื้นที่ให้แก่การบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีแล้ว

การปรากฏรูปภิกษุณีทั้งหมดโดยไม่มีรูปปั้นพระสงฆ์เลยนั้น ผมคิดว่ามีนัยยะสำคัญ

ยิ่งเมื่อเราออกไปเดินรอบๆ วัด เราจะพบตุ๊กตาศิลาจีนตั้งอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งโดยปกติตามวัดต่างๆ ตุ๊กตาศิลาเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะเป็นเพศชาย

แต่ที่วัดแห่งนี้เป็นเพศหญิงแทบทั้งหมด

 

ศิลปะและสถาปัตยกรรมที่นำเสนอ “ความเป็นหญิง” อย่างมากในทุกองค์ประกอบเช่นนี้ ผมอยากจะมองว่าเป็นความพยายาม (ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ?) ที่จะสร้างพื้นที่ความเป็นผู้หญิงลงในงานสถาปัตยกรรมไทย รวมไปถึง เราจะมองได้หรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้คือการสนทนาแม้กระทั่งโต้ตอบ (อาจโดยไม่ตั้งใจ) กับพุทธศาสนากระแสหลักในสังคมไทย โดยเฉพาะในกรณีการสร้างรูปปั้นภิกษุณีภายในวิหาร

ในทัศนะผม หากมีการศึกษาในประเด็นนี้จริงจังอาจเผยให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในงานสถาปัตยกรรมไทยที่ไม่ค่อยได้รับเครดิตเท่าที่ควรในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

กรณีนี้ทำให้ผมนึกถึงกรณีที่คล้ายคลึงกันในต่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่นักวิชาการเริ่มค้นพบบทบาทของศิลปินหญิงเป็นจำนวนมากที่เคยถูกมองข้ามไป หรือแม้กระทั่งถูกขโมยผลงานของตนเองไปมอบให้แก่ศิลปินผู้ชาย

กรณีที่สำคัญเช่น งานศิลปะอันโด่งดังชื่อ Fountain ที่เชื่อกันว่า Marcel Duchamp เป็นเจ้าของไอเดีย

แต่ปัจจุบันเริ่มมีการตั้งคำถามว่างานชิ้นนี้น่าจะเป็นผลงานของศิลปินหญิงชื่อ Elsa von Freytag-Loringhoven เป็นต้น

เมื่อย้อนมามองวัดเทพธิดารามก็เช่นกัน ตามประวัติดูจะยกเครดิตให้รัชกาลที่ 3 และ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ในฐานะแม่กองการก่อสร้างเพียงเท่านั้น โดยละเลยบทบาทของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมากเกินไป

 

ไม่เพียงแค่วัดนี้เท่านั้น หากเรากวาดตาดูสถาปัตยกรรมชิ้นอื่นๆ เราจะพบร่องรอยที่ชวนตั้งคำถามในลักษณะนี้อีกมาก

เช่น วัดคณิกาผล ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นกัน โดยผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า “ยายแฟง” ซึ่งเป็นเจ้าสำนักโสเภณี บริเวณตรอกเต๊า ถนนเยาวราช

โดยยายแฟงนำเงินจากการกิจการค้าประเวณีมาสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2376

การทำแบบนี้ได้ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาอย่างมาก ทั้งการเป็นวัดที่สร้างโดยผู้หญิง สถานะก็เป็นเพียงชาวบ้าน

และเงินที่สร้างยังมาจากธุรกิจสีเทาในสายตาคนทั่วไป

แต่น่าแปลกที่ประวัติของวัดนี้หลงเหลืออยู่น้อยมาก

อีกทั้งยังมีการสร้างเรื่องเล่าที่ดูถูกยายแฟงอีกด้วย คือ เล่ากันต่อมาว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จ ยายแฟงได้นิมนต์ขรัวโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี) มาเทศน์ฉลอง

ซึ่งขรัวโตเทศน์สั่งสอนยายแฟงว่า สร้างวัดเป็นการทำบุญเอาหน้า แม้จะเป็นบุญใหญ่ ก็ได้บุญน้อย เพราะเงินของยายแฟงได้มาโดยไม่บริสุทธิ์

เรื่องเล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการอธิบายการกระทำที่เป็นบุญใหญ่ของคนในอดีตที่ควรเป็นเรื่องน่ายกย่องอย่างยิ่งของผู้ที่ทำได้ ให้กลายเป็นเรื่องของการเอาหน้าและยังได้บุญไม่เต็มอีกต่างหาก

ซึ่งไม่ว่าเรื่องเล่านี้จะมีความจริงอยู่มากน้อยแค่ไหน

แต่ตัวมันก็เข้ามาทำหน้าที่ลดทอนบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงชาวบ้านที่ชื่อยายแฟงลง

 

จากสองตัวอย่างที่ยกมา ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่มศึกษาภาพของผู้หญิง บทบาทของผู้หญิง และลักษณะ “ความเป็นหญิง” ในพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมให้ลึกซึ้งมากขึ้น

ผู้หญิงเหล่านี้คือใคร

ผลงานที่ผู้หญิงเหล่านี้สร้างสรรค์ขึ้นมีอะไรบ้าง

และอะไรคือแรงขับทางความคิดที่อยู่เบื้องหลัง

คำถามเหล่านี้ควรถูกถามให้มากขึ้นในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย