SearchSri : “พยองชางเกมส์” กับ “คูล รันนิ่งส์” ภาคต่อ

คอลัมน์ Technical Time-Out

ย้อนไปในยุค 90 ภาพยนตร์ตลกเรื่อง “คูล รันนิ่งส์ (Cool Runnings)” เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้พอสมควร กับพล็อตแปลกแหวกแนวเมื่อนักกีฬาจากประเทศแถบแคริบเบียนอย่างจาเมการ่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวในประเภทเลื่อนหิมะ (bobsled) ทั้งที่ประเทศตัวเองไม่มีหิมะให้ฝึกซ้อม

แต่ความแปลกนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะคูล รันนิ่งส์ อาศัยเค้าโครงจากเหตุการณ์จริงหลังจากนักกีฬาเลื่อนหิมะจากจาเมกากลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อสามารถส่งทีมร่วมแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 1988” ที่เมืองอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ทั้งที่เป็นประเทศเขตร้อน โดยมีอดีตนักกีฬาทีมชาติสหรัฐ “ฮาวเวิร์ด ซีเลอร์” มาเป็นโค้ชให้

เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ของวงการกีฬา เนื่องจากเป็นตัวอย่างของการก้าวข้ามขีดจำกัดและความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ นานา เริ่มจากทำความคุ้นเคยกับการแข่งขันกีฬาเขตหนาว ต้องขอยืมอุปกรณ์เก่าของทีมชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช้แล้ว ผ่านการลองผิดลองถูก และอุบัติเหตุระหว่างฝึกซ้อมและแข่งขันหลายครั้ง กว่าจะผ่านการคัดเลือก

นับตั้งแต่สร้างประวัติศาสตร์ดังกล่าว ทีมเลื่อนหิมะจาเมกาก็ยังสามารถผ่านเข้าไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวได้อย่างสม่ำเสมอในปี 1992, 1994, 1998, 2002, 2014

และในปีนี้ที่กำลังแข่งขันกันอยู่ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้

 

หลังจากนั้น เวลานักกีฬาจากประเทศเขตร้อนหรือประเทศที่ไม่เคยสัมผัสหิมะส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ก็มักจะได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกซึ่งรวมถึงไทยเราที่ “ดร.ปรวรรธน์ นาควัชระ” เป็นคนไทยคนแรกที่ร่วมแข่งขันใน “โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2002” ที่เมืองซอลต์เลก ซิตี้ สหรัฐอเมริกา ในประเภทสกีครอสคันทรี

และหลังจากนั้นก็มีตัวแทนไทยเข้าร่วมแข่งขันได้เกือบทุกครั้งยกเว้นปี 2010 ที่แวนคูเวอร์เท่านั้น

มาปีนี้ ไฮไลต์สำคัญของ “พยองชางเกมส์” ตั้งแต่การแข่งขันยังไม่เปิดฉาก คือเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดีๆ คล้ายๆ กับหนังคูล รันนิ่งส์

ซึ่งคราวนี้ตัวเอกของเรื่องเป็นฝ่ายหญิงแทน

 

ตัวเอกคราวนี้คือทีมเลื่อนหิมะจากไนจีเรีย ประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยสัมผัสกับหิมะแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต

เรื่องราวของพวกเธอเริ่มต้นจาก “เซอุน อาดิกุน” อดีตนักกีฬาวิ่งข้ามรั้วทีมชาติไนจีเรียในโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน 2012 ซึ่งถือพาสปอร์ต 2 สัญชาติ (ไนจีเรีย-สหรัฐ) ต้องการสานฝันที่จะกลับไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์อีกครั้ง

ตอนแรก อาดิกุนตั้งใจจะร่วมทีมเลื่อนหิมะของสหรัฐซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ สถานที่ฝึกซ้อม และสต๊าฟโค้ชพร้อมสรรพ แต่เธอมองว่าทุกอย่างมันง่ายเกินไป และตัดสินใจเริ่มต้นความท้าทายที่หลายคนไม่คิดจะทำได้ขึ้นมา

เธอเริ่มจากชวนเพื่อนร่วมทีมกรีฑาระดับมหาวิทยาลัยที่มีสัญชาติไนจีเรียเหมือนกันมารวมทีมเพื่อแข่งขันเลื่อนหิมะโดยมีเป้าหมายที่โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2018

ความที่เริ่มต้นจากศูนย์ อาดิกุนจึงเปิดแคมเปญทางเว็บไซต์ “GoFundMe” ซึ่งเป็นเว็บเรี่ยไรเงินออนไลน์สำหรับโปรเจ็กต์หรืองานบุญงานกุศลต่างๆ ช่วงปลายปี 2016 โดยขอเรี่ยไรเงินจากชาวเน็ตเพื่อเป็นทุนในการเริ่มต้นเรียนรู้

และทำทุกอย่างเพื่อสานฝันสู่โอลิมปิกเกมส์

 

หลังจากได้เงินทุนถึงเป้าหมาย 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (4.95 ล้านบาท) ที่ตั้งไว้ อาดิกุนก็ไปหว่านล้อมองค์กรกีฬาในประเทศไนจีเรียให้ร่วมสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้

แล้วจึงเริ่มออกสตาร์ตด้วยการต่อเลื่อนหิมะคันแรกขึ้นมากับมือตัวเอง และอาศัยอุปกรณ์ทำมือในการฝึกซ้อม โดยเริ่มตั้งแต่เรียนรู้ภาคทฤษฎี วิธีการขี่เลื่อนหิมะ การทิ้งน้ำหนัก การวางแท็กติกการเร่งและลดสปีด

จากนั้นจึงตระเวนฝึกซ้อมตามแทร็กต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ก่อนจะร่วมแข่งขันรายการคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์

เมื่อทุกอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก็เริ่มมีสปอนเซอร์มาให้การสนับสนุนจนสามารถซื้ออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน กระทั่งผ่านการคัดเลือกได้สำเร็จ

อาดิกุนและเพื่อนจึงเดินทางกลับประเทศและได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ประหนึ่งวีรสตรีของเพื่อนร่วมชาติ

เรื่องราวของการฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่เกินคาดนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวไนจีเรียและมิตรประเทศร่วมทวีปแอฟริกาอื่นๆ ว่าแม้จะเป็นเรื่องไกลตัวอย่างกีฬาของเมืองหิมะ พวกเขาก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ขอเพียงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

ไม่แน่ว่าโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวครั้งต่อๆ ไป อาจจะได้เห็นตัวแทนหน้าใหม่จากประเทศที่คาดไม่ถึงตามมาอีกเรื่อยๆ