คนโดนสิงห์ : เอาไงดี…อิตาลี

คอลัมน์ Technical Time-Out


เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติขึ้นมาทันที หลังทีมชาติ อิตาลี ยุคกลับไปใช้โค้ชเฒ่า จาน เปียโร่ เวนตูร่า ไม่ได้ไปบอลโลกในรอบ 60 ปี!

และเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ต่อจากปี 1958 ที่ตกรอบคัดเลือก

รวมทั้งเป็นครั้งที่ 3 กับการไม่ได้ปรากฏตัวในรอบสุดท้าย

ถ้ารวมบอลโลกครั้งแรก 1930 ที่พวกเขาไม่ได้ร่วมแข่ง แถมยังเป็น 1 ใน 2 สัญชาติ จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่าเจ้าของรายการอีกด้วย

กระนั้นก็ตาม หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ “อัซซูรี่” คงเตรียมทำใจไว้เนิ่นๆ แล้วว่า ทีมชุดนี้จะไปได้สักกี่น้ำ

เพราะนอกจากจะถอยหลังลงคลองกับการใช้กุนซือตกยุควัยหย่อนๆ หลัก 70 ปีอย่างเวนตูร่าแล้ว อิตาลียังไม่มีตัวตายตัวแทนที่ฝากผีฝากไข้ระดับเดียวกับดาราของทีมชุดก่อนๆ มาพักใหญ่

แต่หลายคนไม่คิดว่าจะไปเร็วตั้งแต่รอบคัดเลือกแบบนี้

อิตาลีอาจมีดีกรีเป็นถึงแชมป์โลก 4 สมัย สูงสุดอันดับ 2 ร่วมตลอดกาลก็จริง

ทว่า ครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการได้แชมป์สมัยฟุตบอลโลกครั้งที่ 2 และ 3 หรือพูดง่ายๆ ภาษาบ้านๆ เป็นแชมป์ยุคบอลโบราณ 70-80 ปีก่อน และต้องรอถึง 44 ปีถึงจะคว้าแชมป์ได้อีกครั้งในปี 1982

รวมทั้งรออีก 24 ปีกับแชมป์สมัยล่าสุดปี 2006

เห็นได้ว่า 2 ครั้งหลังที่อิตาลีเป็นแชมป์ คือยุคที่เกมลูกหนังไม่ง่าย และมีพัฒนาการกว่าตอนได้แชมป์ปี 1934 และ 1938

ถ้าตัดแชมป์ยูโรหนึ่งเดียวในปี 1968 และเริ่มวิเคราะห์เฉพาะห้วงเวลาแชมป์โลก 1982 และ 2006 พวกเขาไม่เคยขาดคนเก่งในประเทศ

 

รากฐานการได้แชมป์โลก 1982 มาจากชุดอันดับ 4 ทั้งฟุตบอลโลก 1978 และยูโร 1980 ในถิ่นตัวเอง จนได้บทสรุปเป็น ดิโน่ ซอฟฟ์, เปาโล รอสซี่, เคลาดิโอ เจนติเล่, ไกตาโน่ ชีเรียอา, มาร์โก ทาร์เดลลี่, ฟรานเชสโก้ กราเซียนี่, บรูโน่ คอนติ และ อันโตนิโอ คาบรินี่ แม้แชมป์โลกอย่างอิตาลีจะเสียท่าตกรอบคัดเลือกยูโร 1984 และไปได้เพียงรอบน็อกเอาต์รอบแรกบอลโลก 1986

แต่อย่างที่บอกไว้ว่า อิตาลีมักมีนักเตะที่ขึ้นมารับไม้ต่อจากรุ่นพี่แบบไว้ใจได้ และเกือบเข้าชิงยูโร 1988 ด้วยฝีเท้าพวกหน้าใหม่ ทว่า ฝีเท้าไม่ธรรมดา เช่น เปาโล มัลดินี่, ฟรังโก้ บาเรซี่, จูเซ็ปเป้ แบร์โกมี่, จานลูก้า วิอัลลี่, จูเซ็ปเป้ จานนินี่, แฟร์นันโด เด นาโปลี และ โรแบร์โต้ โดนาโดนี่

ก่อนต่อยอดกำเนิด โรแบร์โต้ บาจโจ้ ในฟุตบอลโลก 1990 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ ทว่า พลาดเข้าชิงเพราะอาร์เจนตินาของ “เสือเตี้ย” ดีเอโก้ มาราโดน่า

ถึงจะสะดุดแค่รอบคัดเลือกยูโร 1992 อิตาลีกลับมีกำลังสำคัญเพิ่มมาอีก ทั้ง อเลสซานโดร คอสตาคูร์ต้า, เดเมทริโอ อัลแบร์ตินี และ ดิโน่ บาจโจ้ ที่ทีมได้รองแชมป์โลก 1994 ในอากาศอันร้อนระอุของสหรัฐอเมริกา และรอบแบ่งกลุ่มยูโร 1996

2 ปีถัดมาในบอลโลก 1998 เป็นจุดเปลี่ยนแกนหลักใหม่อย่าง ฟาบิโอ คันนาวาโร่, อเลสซานโดร เดล เปียโร่ และ อเลสซานโดร เนสต้า รอบ 8 ทีมสุดท้าย ก่อนทะลุรองแชมป์ยูโร 2000 และต่อให้ถูกเกาหลีใต้เจ้าภาพร่วมโกงจนตกแค่รอบ 16 ทีมฟุตบอลโลก 2002 แต่การได้ จานลุยจิ บุฟฟ่อน นายทวารมือกาวก้าวขึ้นเบอร์ 1 เต็มตัวคุ้มค่ากว่า

เนื่องจาก 4 คนที่ว่ามา มีส่วนผลักดันให้อิตาลีผงาดแชมป์โลก 2006 และยังได้ อันเดรีย ปีร์โล่ กับ ดานิเอเล่ เด รอสซี่ เป็นของแถมล้ำค่าคู่ทีมชาติเกินทศวรรษ

ตามด้วย 3 แนวรับสุดแกร่ง จอร์โจ้ คิเอลลินี่, อันเดรีย บาร์ซาญี่ และ เลโอนาร์โด โบนุชชี่ ในทัวร์นาเมนต์หลังจากนั้น

 

อย่างไรก็ตาม 4 รายการหลัง ถ้าไม่นับตำแหน่งรองแชมป์ยูโร 2012 อิตาลีล่มปากอ่าวรอบแบ่งกลุ่มบอลโลกล้วนๆ ปี 2010 และ 2014 ขณะที่ยูโร 2016 ไกลสุดรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งมีถึงครึ่งทีมตัวจริงที่ชื่อชั้นพึ่งไม่ได้ ประกอบสไตล์การเล่นแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน” ยังเป็นวัฒนธรรมที่แก้ไม่ตก และฝังลึกลงไปในทุกอณูแข้งมะกะโรนี ทำให้ทีมไปไม่ถึงไหน สวนทางหลายชาติที่เรียนรู้กับเกมลูกหนังยุคใหม่กันหมดแล้ว

แม้ อันโตนิโอ คอนเต้ จะพยายามคุมอิตาลีให้มีเกมรุกดุดัน เหมือนตอนพายูเวนตุสกลับมาครองความยิ่งใหญ่กับแชมป์กัลโช่เซเรียอา อิตาลี 3 ฤดูกาลติด 2011-2012, 2012-2013 และ 2013-2014 ทว่าด้วยปัญหาใหญ่ดังกล่าว ส่งผลให้ทีมขาดความคมในการเข้าทำสกอร์เมื่อถึงเวลาเจอของจริง แล้วยิ่งสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลีเลือกใช้กุนซือหัวโบราณเวนตูร่า

ทุกอย่างจึงไปกันใหญ่ และลงเอยจอดรอบเพลย์ออฟด้วยน้ำมือสวีเดนอย่างที่เห็น พร้อมการลาทีมชาติแสนเจ็บปวดของ จีจี้ บุฟฟ่อน

กลายเป็นอีกปีที่เสียเปล่า ไม่พ้นต้องนับหนึ่งใหม่ เพียงแต่จะเอาไงดีเท่านั้น