พิศณุ นิลกลัด : เรื่องปวดหัว ของนักกีฬาหญิงมาดแมน

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ประจำปี 2017 หรือ IAAF World Championships ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ความยาว 10 วัน เพิ่งจบลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา กรีฑารายการนี้จัด 2 ปีครั้ง

ไฮไลต์ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกปี 2017 คือ สองยอดนักกรีฑาตลอดกาลของโลก ยูเซน โบลต์ และ โม ฟาราห์ ลงแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ซึ่งแฟนกีฬาก็หวังว่าจะได้เห็น Golden Goodbye คือทั้ง 2 คนได้เหรียญทองไปครองก่อนอำลาลู่

น่าเสียดายที่ ยูเซน โบลต์ ยอดนักวิ่งชาวจาเมกา เจ้าของเหรียญทองวิ่ง 100 เมตร โอลิมปิก 3 สมัยติดกัน นับตั้งแต่โอลิมปิก ปี 2008, 2012 และ 2016 และเหรียญทองโอลิมปิก วิ่งผลัด 4 x 100 เมตร 2 สมัยติดกัน ในปี 2012 และ 2016 ไม่ได้เหรียญทองในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกปีนี้ทั้งสองประเภท

การแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ยูเซน โบลต์ เข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 3 เพราะออกสตาร์ตช้ามากจนไล่ไม่ทัน

ส่วนการแข่งขันวิ่งผลัด 4 x 100 เมตร ยูเซน โบลต์ วิ่งเป็นไม้สุดท้าย

เขารับไม้เป็นคนแรก แต่วิ่งได้ประมาณ 15 เมตร ก็ล้มนอนคว่ำบนลู่วิ่ง เพราะกล้ามเนื้อต้นขาซ้ายเป็นตะคริว ทำให้ทีมนักวิ่งผลัดจาเมกา ซึ่งเป็นแชมป์เก่าพลาดเหรียญรางวัล แต่ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ ที่ชมการแข่งขัน เพราะเพื่อนร่วมทีมอีก 3 คน ช่วยกันประคองยูเซน โบลต์ ให้ลุกขึ้นและเดินเข้าเส้นชัยพร้อมกัน

 

สําหรับ โม ฟาราห์ นักวิ่งระยะไกล ชาวอังกฤษ เชื้อสายโซมาเลีย วัย 34 ปี เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก วิ่ง 5,000 เมตร และ 10,000 เมตร 2 สมัยซ้อน ในโอลิมปิก ปี 2012 และ 2016 ลงแข่งขันอำลาลู่วิ่งในกรีฑาชิงแชมป์โลกคราวนี้ไปอย่างตื่นเต้นทั้งสองรายการ

โม ฟาราห์ ได้เหรียญทอง วิ่ง 10,000 เมตร และเหรียญเงิน วิ่ง 5,000 เมตรแบบบดบี้กันมันหยดติ๋งๆ ช่วง 400 เมตรสุดท้ายของทั้ง 2 รายการ

โม ฟาราห์ กล่าวอำลาชีวิตนักวิ่งไว้อย่างซาบซึ้งตรึงใจว่า การที่เขาได้แชมป์ในการวิ่งระยะไกล ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะแต่ก่อน คนไม่คิดว่าจะมีนักกีฬาชาติไหนเอาชนะนักวิ่งเอธิโอเปีย หรือเคนยา ได้ในการวิ่งระยะกลางและระยะไกล ซึ่งชีวิตบทนี้ของเขาได้จบลงแล้ว และพร้อมที่จะเริ่มสิ่งท้าทายใหม่ในชีวิต

 

นักกีฬาอีกคนที่เป็นข่าวดังในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่ผ่านมา คือ คาสเตอร์ ซีเมนย่า (Caster Semenya) ยอดนักวิ่งหญิงระยะกลาง ชาวแอฟริกาใต้ วัย 26 ปี เจ้าของเหรียญทองวิ่ง 800 เมตร โอลิมปิก ปี 2016 และเหรียญเงินโอลิมปิก ปี 2012

ล่าสุด ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่เพิ่งผ่านมา คาสเตอร์ ซีเมนย่า ได้เหรียญทอง วิ่ง 800 เมตร เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

นับตั้งแต่ คาสเตอร์ ซีเมนย่า ได้เหรียญทอง วิ่ง 800 เมตร ตอนอายุเพียง 18 ปี ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ปี 2009 เธอตกเป็นข่าวดังและเป็นประเด็นที่คนในวงการกีฬาถกเถียงทุกครั้งที่ลงแข่งขัน

เพราะเธอเป็นนักกีฬาหญิงมาดแมน เสียงทุ้ม ที่ไม่เพียงแต่ภายนอกที่ดูแมน ภายในร่างกายของคาสเตอร์ก็แมนกว่าผู้หญิงทั่วไป เพราะระดับฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสทอสเทอโรนในตัวเธอก็สูงกว่าผู้หญิงทั่วไป ซึ่งเป็นอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า ไฮเปอร์แอนดรอจีนิสซึ่ม (Hyperandrogenism)

จากการศึกษาของสหพันธ์กรีฑาโลกพบว่า นักกีฬาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าจะแสดงผลงานการแข่งขันกีฬาบางประเภทได้ดีกว่า 1.4% ถึง 4.5% เมื่อเทียบกับนักกีฬาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำกว่า

ส่วนนักกีฬาหญิงแท้และนักกีฬาชายแท้นั้น โดยธรรมชาติ นักกีฬาชายสามารถแสดงผลงานในกีฬาบางประเภทได้ดีกว่า 10-12% เมื่อเทียบกับนักกีฬาหญิง

ในปี 2009 หลังจากที่คาสเตอร์ได้เหรียญทอง วิ่ง 800 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก โดยวิ่งเข้าเส้นชัย ทิ้งนักวิ่งคนอื่นเป็นสิบเมตร สร้างความสงสัยว่าคาสเตอร์เป็นหญิงหรือชายกันแน่ ทำให้สหพันธ์กรีฑาโลกหรือ IAAF ขอตรวจเพศ (Gender Tasting) โดยตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศชาย, ตรวจภายใน และทำอัลตราซาวด์ ซึ่งตามกฎผลการตรวจจะปิดเป็นความลับไม่บอกกับสื่อมวลชน

อย่างไรก็ตาม ตามข่าวที่อ้างกันแต่ไม่ได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการมีว่า ร่างกายคาสเตอร์ผลิตฮอร์โมนเพศชายมากกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 3 เท่า และเธอไม่มีมดลูกและรังไข่ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ คาสเตอร์ไม่ได้ฉีดฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอามดลูกออก

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าทาง IAAF ได้มีคำสั่งให้คาสเตอร์ใช้ยาควบคุมฮอร์โมนเพศชายไม่ให้สูงเกินผู้หญิงปกติ แต่ก็ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเป็นความจริงหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2015 ทาง IAAF ยกเลิกการบังคับให้นักกีฬาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติต้องกินยากดฮอร์โมน เพราะ ณ เวลานี้ ยังไม่มีการศึกษาและหลักฐานสนับสนุนเพียงพอว่าการที่นักกีฬาหญิงที่มีฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกตินั้นจะช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการเล่นกีฬา

แม้คาสเตอร์จะตกเป็นเป้าวิจารณ์จากสื่อในหลายประเทศว่าความได้เปรียบทางฮอร์โมนเพศชายของเธอ เป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมกับนักกีฬาหญิงคนอื่น

แต่สำหรับคนแอฟริกาใต้ คาสเตอร์เป็นฮีโร่ของประเทศ ได้รับเกียรติให้เป็นคนถือธงชาติแอฟริกาใต้ ในพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก ปี 2016 และในโซเชียลมีเดีย ก็มีการปกป้องคาสเตอร์ ภายใต้แฮชแท็ก #handsoffcaster หรือ อย่าแตะคาสเตอร์

คาสเตอร์รู้สึกซึ้งใจอย่างมากกับแรงใจที่ชาวแอฟริกาใต้มีให้อย่างล้นหลาม ซึ่งเธอบอกเสมอว่า เธอลงแข่งขันเพื่อชาวแอฟริกาใต้ หากไม่ได้แรงสนับสนุน เธอบอกว่าคงไม่มีวันประสบความสำเร็จ

เมื่อปี 2015 คาสเตอร์จัดพิธีแต่งงานกับแฟนสาวชื่อ ไวโอเล็ต เรสโบย่า (Violet Raseboya) ที่คบหาดูใจกันมานาน 10 ปี

คาสเตอร์เล่าว่า พบกันครั้งแรกในห้องน้ำนักกีฬาหญิง โดยไวโอเล็ตเป็นนักวิ่งเหมือนกัน นึกว่าคาสเตอร์เป็นผู้ชาย และถามว่าเข้ามาทำอะไรในห้องน้ำหญิง ซึ่งคาสเตอร์ไม่พอใจ และสวนกลับไปว่าไม่ได้เป็นผู้ชาย นึกว่าหลงทางเข้ามาหรือไง

เป็นการพบกันครั้งแรกที่ต่างคนต่างไม่ถูกชะตา

ต่อมาก็เริ่มสนิทกัน แต่ไวโอเล็ตมีแฟนเป็นผู้ชาย ไม่เคยเป็นดี้มาก่อน และพยายามปฏิเสธใจตัวเองว่าตกหลุมรักคาสเตอร์

แต่ในที่สุดก็ยอมรับ

คาสเตอร์เล่าว่า ตั้งแต่เด็ก พ่อพยายามจะให้เธอสวมชุดกระโปรง ซึ่งเธอก็เถียงพ่อว่าถ้าอยากให้สวมกระโปรงนัก เมื่อพ่อซื้อให้ พ่อต้องสวมเป็นตัวอย่างให้ดูก่อน

คาสเตอร์บอกว่า เสียงวิจารณ์ทางลบ ไม่ได้ทำร้ายจิตใจเธอ เพราะเธอรู้ดีว่าตัวเองเป็นอย่างไร เธอบอกว่าเป็นอย่างที่เธอเป็นนั้นดีแล้ว พระเจ้าได้ประทานมา ซึ่งเธอก็ไม่ตั้งคำถามกับพระเจ้า

ทุกครั้งที่ตื่นนอน ก็จะบอกกับตัวเองว่า พอใจในความเป็นตัวของตัวเอง