เขย่าสนาม/เด็กเก็บบอล/ปัญหาเก็บตัวทีมชาติ อีกครั้งที่ ‘ช้างศึก’ ถูกละเลย!

เขย่าสนาม/เด็กเก็บบอล

ปัญหาเก็บตัวทีมชาติ
อีกครั้งที่ ‘ช้างศึก’ ถูกละเลย!

หลังจากมีการถกเถียงกันไปมา ก็ได้ข้อสรุปว่า “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดใหญ่ จะมีเวลาฝึกซ้อมเพียงแค่ 6 วันเท่านั้นก่อนที่จะลงเล่นศึกชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020” กับ ติมอร์เลสเต ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้
เดิมทีมีการหาแผนรองรับเอาไว้หลายด้าน ทั้งการเลื่อนฟุตบอลถ้วยทั้งหมดที่จะต้องแข่งขัน ไปอยู่ในช่วงเลก 2 เพื่อปรับลีกให้แข่งเร็วขึ้น จะได้มีเวลาเพิ่มอย่างน้อยเป็น 10 วัน
แต่สุดท้ายเจอไม้เด็ดจากสโมสรว่าถ้าเลื่อนโปรแกรมจนถี่มากๆ ก็จะไม่ปล่อยนักเตะตัวหลักในทีมมาร่วมทีมชาติ ก็เลยต้องยึดโปรแกรมลีกแบบเดิมเอาไว้ เพื่อให้ได้นักเตะที่ดีที่สุดมาร่วมทีม
หลายคนบอกว่าฟุตบอลทีมชาติไทยแค่ได้ผู้เล่นที่ดีที่สุดมา แต่ละคนมีแมตช์ฟิตดีอยู่แล้ว แค่มาจับยัดแท็กติกจากโค้ชในช่วง 5-6 วันก่อนการแข่งขันก็เพียงพอ เหมือนแบบนักฟุตบอลอาชีพต่างประเทศ ที่เวลารวมตัวก็มีเวลาแค่ไม่กี่วันเท่านั้น
แต่คงลืมนึกกันไปว่าฟุตบอลต่างประเทศ ใน 1 ปี เขามีเวลารวมตัวกันอย่างน้อย 5-6 ครั้ง มีการฝึกซ้อมร่วมกันเป็นประจำ รู้จักแท็กติกของโค้ชที่คุมทีมเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากในการจะฝึกซ้อมเพื่อทำการแข่งขัน

ต้องย้อนถามกลับไปเลยว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทีมชาติไทยได้มีโอกาสเรียกตัวมารวมกันกี่ครั้ง?
คำตอบคือ 2 ครั้งเท่านั้น!
ครั้งแรกคือช่วงฟีฟ่าเดย์ เดือนพฤศจิกายนปีก่อน ที่ อากิระ นิชิโนะ ได้เรียกนักเตะเข้ามาฝึกซ้อม ซึ่งก็ไม่ใช่ชุดที่ดีที่สุดเพราะนักเตะตัวหลักๆ ทยอยกันถอนตัวไปจนเกือบหมดทีม บางทีมก็ไม่ปล่อยผู้เล่นมาร่วมทีมด้วย
ครั้งที่สอง คือการเก็บตัวก่อนจะไปแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง ที่ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีเวลาเก็บตัวราวๆ เดือนหนึ่งก็จริง แต่ถามว่าได้น้ำได้เนื้อหรือไม่ ก็คงไม่ เพราะเก็บตัวได้สัปดาห์เดียวมีนักเตะติดโควิดในแคมป์ จนต้องแยกซ้อม กว่าจะได้ซ้อมร่วมกันอีกที ก็ตอนเดินทางไปยูเออีแล้ว แถมยังพกไป 40 กว่าคน
แล้วมันจะได้อะไรไหม สภาพ!!!!!!

ในขณะที่ทีมชาติไทยมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่ จากนิชิโนะ มาเป็น มาโน่ โพลกิ้ง แน่นอนว่าด้วยแท็กติก, วิธีการเล่น, การยืนระบบต่างๆ มันไม่เหมือนกัน และของแบบนี้ไม่ใช่ว่าใช้เวลาแค่ 4-5 วันจะช่วยได้
ยิ่งลองนับดู ไทยลีกเตะนัดสุดท้ายเลกแรก วันที่ 28 พฤศจิกายน รวมตัวตอนเช้ารุ่งขึ้นเดินทาง เข้ากระบวนการกักตัว กว่าจะได้ซ้อมอย่างต่ำคือวันที่ 30 พฤศจิกายน หรือช้าสุดเลยก็วันที่ 1 ธันวาคมด้วยซ้ำ ถึงวันที่ 5 ธันวาคม ต้องลงเล่นเกมแรกกับติมอร์เลสเตแล้ว
จริงๆ เราเห็นตัวอย่างจากทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ไปแข่งรายการชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ที่ประเทศมองโกเลีย ถึงจะบอกว่าตัวผู้เล่นเป็นระดับรองๆ ไม่ใช่ตัวจริงทั้งหมด แต่ก็มีดีกรีระดับไทยลีกหลายคน
ซึ่งถ้ามีเวลาซ้อมมากกว่านี้ ได้ปรับตัวเข้ากับทีมและแท็กติกของโค้ชมากกว่านี้ จะทำให้มีผลงานที่ดีกว่านี้ได้ เพราะจากที่เห็นเลยคือเรื่องการเข้าทำขาดความเป็นทีมเวิร์ก ต้องใช้เทคนิคส่วนตัวเสียเป็นส่วนใหญ่
และปัญหานี้ทาง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะผู้จัดการทีมพยายามสะท้อนออกมาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล

ถ้าเราลองมองไปยังคู่แข่งในซูซูกิ คัพครั้งนี้ ตัดเพียงเฉพาะที่อยู่กลุ่มเดียวกับทีมชาติไทย แต่ละทีมมีเวลาเก็บตัวอย่างไรบ้าง
ติมอร์เลสเต ฟุตบอลลีกจะจบฤดูกาลในวันที่ 12 พฤศจิกายน เท่ากับว่ามีเวลาเก็บตัวอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่ ฟิลิปปินส์ เองฟุตบอลลีกยกเลิกไปแล้ว
พม่า ตอนนี้เดินทางไปเก็บตัวที่ประเทศตุรกี และเริ่มมีเกมอุ่นเครื่องไปบ้างแล้ว ส่วน สิงคโปร์ เจ้าภาพ ก็บุกไปเก็บตัวถึงยูเออี เรียกได้ว่าทุกทีมนั้นเตรียมพร้อมอย่างมากสำหรับทัวร์นาเมนต์ครั้งนี้
ในขณะที่ไทยแค่ขอเวลาเก็บตัวเพิ่มเล็กน้อย ยังทำไม่ได้เลย…
มองโลกในแง่ดี (มากๆ) ความโชคดีของทีมชาติไทยคือโปรแกรมนัดแรก คือการเจอกับทีมที่ไม่แข็งมากอย่างติมอร์เลสเต ถ้าวัดด้วยคุณภาพผู้เล่น เล่นกันแบบแค่พอเข้าใจแท็กติก เหมือนเป็นการซ้อมใหญ่ไปในตัว ก็อาจจะพอเอาตัวรอดได้
แล้วหลังจากนั้นไทยจะมีเวลาอยู่ 5 วันก่อนจะถึงนัดที่ 2 พบกับพม่า เมื่อบวกกับตัวหลักจากต่างประเทศอย่าง “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์, “อุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน หรือ “พี” ศศลักษณ์ ไหประโคน มา ก็น่าจะทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้น มีเวลาฝึกซ้อมกับแท็กติกมากขึ้น
มองว่าออกสตาร์ตช้า แต่ถ้าไปอย่างมั่นคงได้ ก็ยังเป็นเรื่องที่ดีอยู่

สุดท้ายแล้วถ้าซูซูกิ คัพครั้งนี้ทีมชาติไทยสอบผ่าน คว้าแชมป์กลับมาครองได้ มันคือเรื่องที่ดี แต่ถ้าทำไม่ได้ บางครั้งก็ต้องกลับมามองตัวเองกันดูบ้าง
จุดสำคัญเลยคือการละเลยช่วงฟีฟ่าเดย์ต่างๆ นำมาปรับให้สโมสรใช้แข่งขันเกมฟุตบอลลีกกัน จนทีมชาติไม่มีเวลาได้เก็บตัว ได้เข้ามาทบทวนแท็กติก หรือเข้ามาละลายพฤติกรรมร่วมกันบ้าง หาเกมอุ่นเครื่องให้ได้ลองทีมบ้าง
ในขณะที่กระแสของฟุตบอลไทยมีแต่สาละวันเตี้ยลงๆ สินค้าหลักของวงการฟุตบอลไทยอย่างทีมชาติ กลับถูกปล่อยปละละเลยมาอย่างต่อเนื่อง แชมป์ครั้งสุดท้ายที่ได้ก็คือเหรียญทองซีเกมส์ เมื่อปี 2017 หรือเกือบ 4 ปีที่แล้ว
ครั้งหนึ่งกระแสของฟุตบอลไทย มันดีได้ก็เพราะผลงานของทีมชาติติดลมบน ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังฟุตบอลลีก ฉะนั้น ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับฟุตบอลทีมชาติ สักวันหนึ่งฟุตบอลลีกมันจะค่อยๆ ตายลงไปช้าๆ
แล้วก็คงต้องมานั่งเสียเวลาปลุกกระแสกันใหม่อีกครั้ง