เขย่าสนาม | จับตา ‘กีฬาไทย’ เร่งปลดล็อก ‘วาด้า’ ปมร้อนแก้กฎหมายสารต้องห้ามกีฬา

เขย่าสนาม/เมอร์คิวรี่ [email protected]

จับตา ‘กีฬาไทย’ เร่งปลดล็อก ‘วาด้า’

ปมร้อนแก้กฎหมายสารต้องห้ามกีฬา

 

สั่นสะเทือนวงการกีฬาไทยครั้งใหญ่ หลังจากที่ องค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก หรือ “วาด้า” ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ระบุว่า ประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ ทำผิดกฎเรื่องสารต้องห้ามเกี่ยวกับนักกีฬา และจะถูกลงโทษ โดยในส่วนของไทยถูกชี้ความผิดว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญสารกระตุ้นของวาด้า ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่เกี่ยวกับมาตรฐานการตรวจสารต้องห้าม!

บทลงโทษของทั้ง 3 ชาติจะถูกการห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับชาติ ทวีป และระดับโลก ทุกรายการ

และคณะกรรมการของทั้ง 3 ชาติจะถูกสั่งให้ออกจากตำแหน่งคณะกรรมการวาด้า 1 ปี หรือจนกว่าจะมีคำสั่งคืนตำแหน่ง โดยผู้บริหารสหพันธ์กีฬาโลกทุกคนที่เป็นชาวไทย จะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ ถึงแม้การแก้ปัญหาแล้วเสร็จ ก็โดนระงับเป็นระยะเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ชาติยังสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในระดับโลกได้ แต่หากรายการไหนเป็นการแข่งขันที่วาด้า และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ “ไอโอซี” เป็นผู้ดูแลการแข่งขัน ทั้งโอลิมปิก และพาราลิมปิก ทั้ง 3 ชาติจะไม่สามารถใช้ธงชาติในนามประเทศลงแข่งขันได้

วาด้าจัดการล็อกวงการกีฬาไทยไม่ให้สามารถใช้ธงชาติไทยบนอกเสื้อ รวมถึงธงชาติไทยหากมีแข่งขันมหกรรมกีฬา ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าในห้วงเวลานี้นักกีฬาทีมชาติไทยจะต้องใช้ธง “TOC” ทดแทนจนกว่าไทยเราจะแก้ไขปัญหาตามที่วาด้าเรียกร้องจนลุล่วงและได้รับการปลดโทษแบนในที่สุด

 

ประเด็นนี้ต้องไล่เรียงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 วาด้าโดย วิโทลด์ บันก้า ประธานคนปัจจุบัน ลงนามส่งหนังสือมาเตือนไทยแล้วว่า วาด้าได้ตรวจสอบพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พบว่า มีข้อกำหนดในบางมาตราที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่สอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกฉบับล่าสุด ปี ค.ศ.2021

พร้อมกับขีดเส้นตายให้ระยะเวลา 3 เดือนให้ไทยแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555

รวมทั้งวาด้าต้องการให้ไทยดำเนินการแก้ไขคือ หมวดหมู่ว่าด้วยเรื่องบทลงโทษนักกีฬา หรือบุคลากรกีฬาที่มีส่วนสนับสนุน ส่งเสริมให้นักกีฬาใช้สารต้องห้ามจนถูกตรวจพบนั้น ยังถือว่าเบาเกินไป

อีกข้อที่สำคัญคือ ให้หน่วยงานที่วาด้าให้การรับรองในการดำเนินการเรื่องการเก็บตัวอย่างสารต้องห้ามในประเทศไทย อย่างสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาบริหารงานเป็นอิสระ

แยกออกจากองค์กรภาครัฐที่กำกับดูแลอยู่ในปัจจุบันอย่าง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

 

นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่วาด้าแจ้งเรื่องให้ไทยแก้ไขปัญหา ซึ่งทาง กกท. โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ได้ดำเนินการแก้ไขในกฎหมายลูกมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายไทยค่อนข้างมีหลายขั้นตอน และละเอียดอ่อนมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาที่วาด้ากำหนดเอาไว้ จนกลายเป็นเหตุบานปลายในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าวนี้ทาง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้แจงว่า กรณีของไทยแตกต่างจากกรณีเกาหลีเหนือ และอินโดนีเซีย ที่เขาโดนแบนจากการที่ไม่ได้ตรวจสอบ และควบคุมการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬา

แต่ของไทยมีประเด็นสำคัญเรื่องการแก้ไขตัวบทกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 บางประการที่ไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ของวาด้าในเรื่องบทลงโทษ ที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และการแยกเป็นองค์กรอิสระในการบริหารจัดการ ซึ่งก็ได้พยายามแก้ไขกฎหมายลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กระบวนการมีหลายขั้นตอน และละเอียดอ่อน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาของวาด้า

ทั้งนี้ กกท.ได้หารือกับรัฐบาล โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นปัญหาฉุกเฉิน และเห็นชอบในหลักการในการแก้ไขกฎหมายในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

รวมทั้งประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ให้เร็วที่สุด

โดยพิจารณารูปแบบความเหมาะสมที่จะตราเป็นกฎหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตราเป็นพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไปโดยเร็ว

 

แนวทางการแก้ไขปัญหา คือจะมีการออกกฎหมายพิเศษ เป็นพระราชกำหนด และเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกฎหมาย โดยวางกรอบเวลาภายใน 3-4 เดือน โดยได้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาคอยดูแลในการรายงานความคืบหน้าให้กับวาด้า, ไอโอซี และรัฐบาล ได้รับทราบ รวมทั้งจะประชุมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง พร้อมประกาศว่าจะทำให้เร็วที่สุดเพื่อให้ไทยกลับมาเชิดหน้าชูตาในเวทีกีฬาโลก

ขั้นตอนดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ กกท.ตั้งกรอบเวลาไว้ที่ 3-4 เดือน ซึ่งถ้าหากแก้ไขเสร็จสิ้น และได้รับการปลดล็อกจากวาด้าแล้ว ไทยสามารถจัดกีฬานานาชาติได้เลย แต่เรื่องกรรมการสหพันธ์กีฬา และใช้ธงชาติในการแข่งขันคงต้องพูดคุยกับวาด้าอีกครั้ง เพราะตามกำหนดเราต้องโดนลงโทษ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ส่วนการแยกออกเป็นองค์กรอิสระ แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง กกท. แต่จำเป็นต้องแยกออกจากภายใต้หน่วยงานรัฐ

ช่วงเวลา 3-4 เดือนหลังจากนี้ถือเป็นช่วงสำคัญของวงการกีฬาไทยกับการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาใหญ่จากองค์กรกีฬาระดับโลก ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยคงต้องผนึกกำลังร่วมกันคลายล็อกกีฬาไทยกลับคืนสู่สายตาเวทีกีฬาโลกให้ได้อีกครั้ง

เพราะไม่แค่ผลกระทบต่อวงการกีฬาไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลกอีกด้วย!