ไทม์เอาต์ | นิวคาสเซิลกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่?

Newcastle United supporters celebrate outside the club's stadium St James' Park in Newcastle upon Tyne in northeast England on October 7, 2021, after the sale of the football club to a Saudi-led consortium was confirmed. - A Saudi-led consortium completed its takeover of Premier League club Newcastle United on October 7 despite warnings from Amnesty International that the deal represented "sportswashing" of the Gulf kingdom's human rights record. (Photo by - / AFP)

ไทม์เอาต์/SearchSri

นิวคาสเซิลกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่?

 

ข่าวฮือฮาที่สุดของวงการลูกหนังโลกในช่วงนี้คงไม่พ้นการเข้าเทกโอเวอร์สโมสร นิวคาสเซิล ของกลุ่มทุน พับลิก อินเวสต์เมนต์ ฟันด์ (พีไอเอฟ) จากซาอุดีอาระเบีย

การเข้าเทกโอเวอร์ครั้งนี้ได้รับความสนใจและเป็นที่จับตามองของคนในวงการลูกหนังอย่างมาก

เพราะไม่ใช่แค่นักธุรกิจต่างชาติระดับกลางๆ เข้าไปลงทุนกับสโมสรฟุตบอลเหมือนกับหลายๆ เคสที่ผ่านมา

แต่พีไอเอฟเป็นกลุ่มทุนที่มีรัฐบาลประเทศซาอุดีอาระเบียหนุนหลัง และทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์ โกล ระบุว่า พีไอเอฟมีทรัพย์สินรวม (อ้างอิงจากปี 2019) 430,000 ดอลลาร์สหรัฐ (14.2 ล้านล้านบาท)

ขณะที่อันดับ 2 รองลงมาคือ ชีก มานซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน ของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับทรัพย์สินรวม 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.6 แสนล้านบาท) เรียกว่าต่างกันแบบไม่เห็นฝุ่น!

แฟนบอลได้เห็นตัวอย่างจากหลายๆ สโมสรที่พอเจ้าของทีมผู้มั่งเข้าไปเป็นเจ้าของ และยอมลงทุนในการสร้างทีมด้วยการหานักเตะและโค้ชเก่งๆ ไปเป็นกำลังหลัก ก็ผลิดอกออกผลเป็นความสำเร็จแบบจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น แมนฯ ซิตี้, เชลซี หรือ ปารีส แซงต์แชร์แมง

ประกอบกับ ไมก์ แอชลีย์ นักธุรกิจเจ้าของกิจการ “สปอร์ตส์ ไดเรกต์” เจ้าของเดิมของนิวคาสเซิล ไม่เป็นที่รักของแฟนบอลนัก เนื่องจากมองว่าเขาคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นหลัก ไม่ค่อยลงทุนหรือใส่ใจดูแลทีม

จึงไม่น่าแปลกใจที่เหล่า ตูน อาร์มี่ แฟนบอลสาลิกาดงจะฉลองกันยกใหญ่ทันทีที่ทราบข่าวว่า พีไอเอฟซื้อหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 300 ล้านปอนด์ (13,500 ล้านบาท) เข้าเป็นเจ้าของใหม่ของทีมเป็นที่เรียบร้อย

 

แต่ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า 19 สโมสรพรีเมียร์ลีกที่เหลือต่างแสดงความไม่พอใจทางลีกที่ปล่อยให้พีไอเอฟเข้าเทกโอเวอร์ทีมได้โดยง่าย ทั้งที่เคยโดนต่อต้านหนักเมื่อปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2020 พีไอเอฟเคยยื่นซื้อนิวคาสเซิลแล้วครั้งหนึ่ง แต่ถอนตัวหลังจากนั้น 4 เดือน เพราะพิจารณาแล้วว่าน่าจะไม่ผ่านหลักเกณฑ์การประเมินคุณสมบัติเจ้าของทีมและผู้บริหารสโมสรของลีก

เนื่องจาก เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารของซาอุดีอาระเบีย โดนวิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเองโดนโจมตีเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับสัญญาณถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกของช่อง บีอิน สปอร์ตส์ สถานีโทรทัศน์กาตาร์ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ปัญหาเรื่องกาตาร์กับซาอุฯ นั้นเคลียร์กันไปเมื่อต้นปีนี้ ว่ากันว่านั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พรีเมียร์ลีกไฟเขียวให้พีไอเอฟยื่นซื้อนิวคาสเซิลได้

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่อีก 19 สโมสรไม่พอใจนั้น ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งเพราะพรีเมียร์ลีกปล่อยให้ทำอย่างลับๆ แม้กระทั่งการประชุมสโมสรพรีเมียร์ลีกครั้งสุดท้าย 2 สัปดาห์ก่อนการซื้อ-ขาย ก็ไม่มีประเด็นนี้หยิบยกขึ้นมา

แต่การประชุมฉุกเฉินดังกล่าวก็เป็นแค่การส่งเสียงสะท้อนไปยังลีกว่าสโมสรที่เหลือไม่พอใจเท่านั้น เพราะเลยจุดที่จะไปคัดค้านอะไรได้แล้ว

 

ส่วนความเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้นั้น สื่อรายงานว่า สตีฟ บรู๊ซ กุนซือคนปัจจุบันที่พาทีมรั้งตำแหน่งบ๊วยของตาราง มีแววโดนปลดมากๆ

ขณะที่ อแมนด้า สเตฟลีย์ นักการเงินหญิงผู้อยู่เบื้องหลังดีลประวัติศาสตร์นี้ และน่าจะมีตำแหน่งใหญ่ในระดับบริหาร ประกาศว่า ทีมพร้อมซื้อนักเตะระดับเวิลด์คลาสเสริมทัพ แต่จะไม่ใช้เงินมือเติบแบบไร้เหตุผลเป็นอันขาด แรกสุดคือการพิจารณาภาพรวมของทีมในปัจจุบันว่าควรต้องแก้ไข เสริม หรือปรับปรุงตรงไหน แล้วค่อยแก้ไปเป็นจุดๆ

แต่ที่แน่ๆ สเตฟลีย์ย้ำว่านิวคาสเซิลไม่ควรจะเป็นทีมที่รั้งอันดับ 19 ของตาราง

แค่เริ่มจากตรงนี้ก่อน เชื่อว่าเหล่าตูน อาร์มี่ ก็น่าจะพอเห็นความหวังลิบๆ แล้ว