พิศณุ นิลกลัด : วางแผนเปลื้องผ้าอย่างไร ถึงจะได้ 1 ล้านดอลลาร์

พิศณุ นิลกลัด

ช่วงนี้นักป่วนชีเปลือย หรือ สทรีกเกอร์ (Streaker) เริ่มกลับมาปรากฏตัวให้เห็นตามสนามแข่งขันกีฬาต่างๆ กันมากขึ้นหลังจากหายหน้าหายตาไปพักใหญ่ เพราะยุคนี้ผู้ชมในสนามกีฬา สามารถโพสต์คลิปวิดีโอ หรือลงรูปถ่ายของ Streaker ผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ

อย่างในการแข่งขันรักบี้ที่นิวซีแลนด์เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างทีมชาตินิวซีแลนด์กับอังกฤษผสมไอริช

มีคลิปหนุ่มวัย 23 ปี ชื่อ จอร์แดน เวด (Jordan Wade) ถอดกางเกงนั่งชมการแข่งขันบนอัฒจันทร์ เป็นคลิปดังไปทั่วโลก โดยผู้ชมในสนามที่ไม่รู้จักกันถ่ายไว้และโพสต์ลงใน Facebook โดยถ่ายคลิปหนุ่มคนนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะวิ่งเปลื้องผ้าในสนาม ตามไปจนถึงตอนเปลื้องผ้าลงสนาม

ในคลิปได้ยินเสียงแซวหนุ่มคนนี้ว่า “What are you up to mate? Put your pants on!” หรือ “จะทำอะไรเนี่ย ใส่กางเกงซะ!” พร้อมมีเสียงหัวเราะ

มีคนแกล้งนั่งตัก แต่หนุ่มคนนี้ไม่เสียสมาธิ ใจจดจ่อรอจังหวะที่จะกระโดดลงสนามเปลื้องผ้า ซึ่งเขาทำสำเร็จ ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไล่จับตัวได้

 

การวิ่งแก้ผ้าของ จอร์แดน เวด ไม่ได้ออกโทรทัศน์ตอนถ่ายทอดสดเพราะทีวีทุกประเทศไม่ออกอากาศ ด้วยการเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนทำตาม แต่เป็นคลิปดังที่แชร์กันผ่าน Facebook และจอร์แดนกลายเป็นคนดังในช่วงข้ามคืน

วันรุ่งขึ้นสถานีวิทยุในนิวซีแลนด์ติดต่อขอสัมภาษณ์จอร์แดน

ในการสัมภาษณ์ทางวิทยุ จอร์แดนใช้นามแฝงว่า ไมก์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนมาที่สนาม ไม่ได้คิดที่จะเปลื้องผ้าวิ่งลงสนาม

แต่ระหว่างที่นั่งชมการแข่งขัน พ่อและเพื่อนๆ ท้าทาย เลยตัดสินใจว่า เอาวะ เพื่อความสนุก

จอร์แดนบอกว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั้นดุเอาเรื่อง เพราะจอร์แดนโดนต่อยไปหลายหมัด นอกจากนี้ อาจโดนปรับสูงสุดถึง 5,000 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือ 125,000 บาท และห้ามเข้าสนามกีฬาอีเด็น พาร์ก เป็นเวลา 2 ปี

จอร์แดนกลัวว่าจะไม่มีเงินเสียค่าปรับจึงขอรับเงินบริจาคค่าปรับผ่านทางเว็บไซต์ Givealittle.nz

ปรากฏว่ามีคนใจดีถึง 68 คน บริจาคเงินรวมทั้งสิ้น 1,267 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือ 31,600 บาท

วันขึ้นศาล จอร์แดนยอมรับว่าทำผิดจริงและรู้สึกสำนึกผิด ผู้พิพากษาเห็นว่า นี่เป็นความผิดฐานเปลือยกายในสนามกีฬาครั้งแรกของจอร์แดน จึงตัดสินปรับจอร์แดน 400 ดอลลาร์ หรือ 10,000 บาท

สำหรับเงินบริจาคที่เหลืออีก 21,600 บาทนั้น จอร์แดนบริจาคให้กับมูลนิธิ Boots for Grassroot เป็นมูลนิธิที่บริจาครองเท้าเล่นรักบี้ให้กับเยาวชนในหมู่เกาะแปซิฟิก

 

พูดถึงสุดยอดนักเปลื้องผ้าในสนามกีฬาตลอดกาล ตำแหน่งนี้ต้องยกให้กับ มาร์ก รอเบิร์ตส์ (Mark Roberts) ยอดนักป่วนเปลื้องผ้า ชาวอังกฤษ ที่วิ่งเปลื้องผ้าลงสนามในการแข่งขันกีฬาระดับโลกมากมาย เช่น พรีเมียร์ ลีก, วิมเบิลดัน, เอฟเอ คัพ, โอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว นับตั้งแต่เริ่มเปลื้องผ้าลงสนามกีฬาครั้งแรกในปี 1993 ในรายการรักบี้ 7 คนที่ฮ่องกงจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 556 ครั้ง โดยเป็นการแข่งขันกีฬาระดับสำคัญถึง 70 ครั้ง

เมื่อ 3 ปีก่อน มาร์ก รอเบิร์ตส์ ออกมาประกาศอำลาชีวิตเป็น Streaker นักเปลื้องผ้า เพราะลูกชายคนเล็กที่ตอนนั้นอายุ 15 ปี บอกว่าอายเพื่อน

แต่ล่าสุด มาร์ก รอเบิร์ตส์ วัย 52 ปี บอกว่าขอเปลี่ยนใจ เพราะชีวิตต้องมีสีสัน จะให้ทำแต่งานช่างทาสีที่เมืองลิเวอร์พูล เข้างาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น ชีวิตน่าเบื่อตาย

เขาบอกว่า การเป็น Streaker เปลื้องผ้าในสนามกีฬานั้น ต้องอาศัยการวางแผน เตรียมการมากกว่าที่หลายคนคิด

ไม่ใช่แค่เดินทางไปที่สนามแล้วก็ถอดเสื้อผ้าวิ่งโทงๆ ให้ รปภ. ไล่จับ

 

มาร์กได้เล่าถึงไฮไลต์ในการเป็น Streaker ของเขาว่าเกิดขึ้นในการแข่งขัน Super Bowl ปี 2004 ที่เขาใช้เวลา 1 ปีในการวางแผน

เริ่มตั้งแต่ส่งสายสืบไปถ่ายรูปการวางตำแหน่งหน่วยรักษาความปลอดภัยที่สนามแข่ง Super Bowl ปี 2004 ว่าเวลาสนามจัดกีฬา มีหน่วยรักษาความปลอดภัยยืนตรงไหนบ้าง

จากนั้นก็วางแผนต่อว่าเวลาเข้าสนามแข่งขันจะแต่งตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นจุดสนใจ ขณะเดียวกัน ชุดที่สวมก็ต้องสามารถถอดออกด้วยความเร็วสูง

ซึ่งมาร์กตัดสินใจว่าจะแอบอ้างเป็นผู้ตัดสิน Super Bowl เดินเข้าสนาม โดยสวมชุดผู้ตัดสิน Super Bowl อยู่ข้างใน และสวมเสื้อคลุมทับ

มาร์กได้สั่งซื้อชุดกรรมการตัดสินอย่างเป็นทางการของ Super Bowl 2004 จำนวน 2 ชุด จากนั้น ก็นำชุดกรรมการตัดสินไปให้ช่างตัดเย็บเลาะตะเข็บด้านข้างออกหมด แล้วติดด้วยเวลโคร่ (Velcro) แทนเพื่อความรวดเร็วในการถอดชุด

มาร์กบอกว่า หลังจากช่างตัดเย็บติดแผ่นเวลโคร่เสร็จ เขาได้ทดลองถอดชุดที่บ้าน ซึ่งดึงพรืดเดียว ชุดหลุดออกจากตัวล่อนจ้อน

 

จากนั้นมาร์กก็บินจากลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษไปที่อเมริกา เพื่อเปลื้องผ้าในการแข่งขัน Super Bowl ซึ่งเป็นการชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอเมริกา เป็นการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมทางโทรทัศน์กว่า 100 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรอเมริกาที่มี 320 ล้านคน

มาร์กเล่าว่า ตื่นเช้าในวันปฏิบัติการเปลื้องผ้า ท้องไส้ปั่นป่วน หัวใจเต้นแรง ในหัวก็จินตนาการถึงแผนการที่วางไว้อย่างละเอียด

มาร์กแต่งชุดผู้ตัดสิน Super Bowl ไว้ข้างในและสวมเสื้อทับ เมื่อถึงสนาม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูทางเข้าถลกเสื้อตัวนอกของมาร์กขึ้นและเห็นเสื้อลายขาวดำแบบผู้ตัดสินอยู่ข้างใต้ จึงถามมาร์กว่าทำไมสวมเสื้อแบบผู้ตัดสิน

มาร์กก็โกหกว่าเป็นเสื้อนำโชคเวลาเชียร์ทีมรัก

พอเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูเห็นขอบกางเกงและขอบเสื้อเป็นแถบเวลโคร่ ก็ถามมาร์กต่อว่าเพื่ออะไร

มาร์กก็โกหกต่อว่า มีปัญหาผิวหนัง ต้องทาครีมตลอด แถบเวลโคร่ทำให้เปิดกางเกงทาครีมที่ขาได้ง่าย

เมื่อผ่านด่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าประตูทางเข้าสำเร็จ มาร์กซึ่งได้ตั๋วแถวหน้าสุดต้องทำตัวกลมกลืนไปกับแฟนๆ ในสนาม ส่งเสียงเชียร์ ทำท่าตื่นเต้นดีใจ ไม่ใช่ทำตัวนิ่งเฉย มีพิรุธให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสงสัย

นอกจากนี้ มาร์กบอกว่า จังหวะที่จะวิ่งลงสนามและเปลื้องผ้านั้นต้องถูกกาลเทศะ เพราะจุดประสงค์นั้น เพื่อความตลกขบขัน ไม่ใช่ขัดขวางการแข่งขัน เวลาวิ่งเปลือยกายลงมา แฟนๆ ในสนามต้องเห็นว่าเป็นเรื่องขบขัน ไม่ใช่กระโดดลงสนามตอนเกมกำลังตึงเครียด มีผลกระทบกับผลการแข่งขัน

เมื่อเปลือยกายลงสนามแล้ว ก็ต้องวิ่งหลบหลีกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้เก่ง

เพราะยิ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเยอะในการวิ่งไล่จับ ผู้ชมในสนามก็ยิ่งชอบใจ

ใน Super Bowl ปี 2004 มาร์กวิ่งเข้าสนามแล้วถอดชุดกรรมการออกด้วยความเร็วสูงทั้งตัว เหลือแต่หมวกกับถุงเท้า รองเท้า และแสดงลีลาการเต้นและวิ่งรอบสนามแข่งขัน

หน่วยรักษาความปลอดภัยจับตัวไม่ทัน ซึ่งนักอเมริกันฟุตบอลในสนามแข่งต้องวิ่งเข้าช่วยและแท็กเคิลให้ล้มเหมือนกับการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลจริงๆ

 

หลังจากนั้นไม่กี่เดือน มาร์กต้องเดินทางกลับไปอเมริกาเพื่อขึ้นศาลให้คณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่

คณะลูกขุนที่เป็นผู้หญิงล้วนก็ตัดสินว่ามาร์กมีความผิดฐานบุกรุก โทษสูงสุดคือจำคุก 6 เดือนและปรับ 2,000 ดอลลาร์

แม้ทาง NFL ต้องการให้มาร์กถูกจำคุก แต่คณะลูกขุนใจดี ลงโทษเพียงปรับเงิน 1,000 ดอลลาร์ หรือ 33,000 บาท

มาร์กบอกว่าแม้แต่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้หญิงก็เห็นด้วยกับบทลงโทษของคณะลูกขุน โดยบอกว่าการจำคุกนั้นเป็นโทษหนักเกินไป

หลังพิพากษาเสร็จ มาร์กเล่าว่า ทั้งผู้พิพากษา คณะลูกขุน ขบขันกันใหญ่ และขอถ่ายรูปกับมาร์กก่อนอำลา

ถามว่า มาร์ก รอเบิร์ตส์ เอาเงินจากไหนมาซื้อตั๋วเข้าชม Super Bowl ที่หายากมาก และแพงเป็นแสนบาท รวมทั้งเงินค่าปรับ ค่าทนาย

คำตอบคือ มาร์ก รอเบิร์ตส์ มีสปอนเซอร์ครับ

ที่หน้าอกและแผ่นหลังของเขา สกรีนชื่อเว็บไซต์ GoldenPalace.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์พนันออนไลน์ของอเมริกา

นับเป็นแผนโฆษณาที่แยบยล เพราะอัตราค่าโฆษณาโทรทัศน์ 30 วินาที ในการถ่ายทอดสด Super Bowl นั้นราคากว่า 100 ล้านบาท

ถามมาร์กว่า ได้ค่าตัวจาก Golden Palace เท่าไหร่

มาร์กตอบว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 33 ล้านบาท!!

หลังจากมาร์กเปลือยกายโปรโมตเว็บไซต์ GoldenPalace.com ใน Super Bowl ยอดผู้เข้าเว็บไซต์เพิ่มขึ้นถึง 400%

จากที่ มาร์ก รอเบิร์ตส์ เปลื้องผ้าลงสนามกีฬาเพื่อความสนุก ต่อมาได้กลายเป็นธุรกิจ สปอนเซอร์ติดต่อมาร์กเปลื้องผ้าโปรโมตเว็บไซต์หรือสินค้าในการแข่งขันกีฬารายการอะไรก็ได้ที่มาร์กเลือก โดยสปอนเซอร์จะออกค่าตั๋ว ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงค่าปรับและค่าทนาย

มาร์กบอกว่าตลอดชีวิตการเป็น Streaker มากว่า 20 ปี คนที่จำเขาได้จะเข้ามาทักทาย และชื่นชมว่าสร้างเสียงหัวเราะให้กับแฟนกีฬา

เท่าที่จำได้มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ต่อว่ามาร์กด้วยความไม่พอใจ!