เขย่าสนาม/’โควิด-19′ กับศึก ‘ยูโร’ ภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคาม

‘โควิด-19’ กับศึก ‘ยูโร’

ภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคาม

 

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป “ยูโร 2020” ทวีความสนุกในสนามมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแข่งขันกันถึงรอบลึกๆ แล้ว เราได้เห็นทีมยักษ์ใหญ่อย่าง “อัศวินสีส้ม” เนเธอร์แลนด์ หรือ “ตราไก่” ฝรั่งเศส พ่ายทีมรองบ่อนตกรอบตามๆ กันไป

แต่ที่รุนแรงไม่แพ้การแข่งขันในสนาม ก็คงต้องว่ากันถึงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการเดินทางไป-มาของแฟนบอลทั่วยุโรปเพื่อร่วมให้กำลังใจชาติของตัวเองในการแข่งขันที่กระจายไปทั่วทวีป

โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่น่ากลัวของโลกในเวลานี้อย่าง สายพันธุ์เดลต้า หรือสายพันธุ์อินเดีย ที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในยุโรปแทนที่ สายพันธุ์อัลฟ่า หรือสายพันธุ์อังกฤษไปแล้ว ซึ่งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรปเปิดเผยว่า สายพันธุ์เดลต้ากำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในยุโรป

และคาดว่าจะมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แทนที่สายพันธุ์อัลฟ่าในเดือนสิงหาคมนี้

 

มีรายงานว่าเมื่อเกมรอบแรกของกลุ่มบี ที่ปาร์เก้น สเตเดี้ยม กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง เดนมาร์ก กับ เบลเยียม มีการตรวจพบแฟนบอลติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่ง และเป็นสายพันธุ์เดลต้าถึง 3 คนด้วยกัน

ขณะเดียวกันที่ ประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าภาพครั้งนี้ มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หลังเข้าไปชมเกมที่ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สเตเดี้ยม โดยเฉพาะแฟนบอลฟินแลนด์ที่ข้ามแดนไปเชียร์ทีมในเกมที่แพ้เบลเยียมเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน หลังจากเดินทางกลับเข้าประเทศตัวเองแล้วถูกตรวจพบว่าติดเชื้อจำนวนหนึ่ง

ไม่ใช่เพียงแต่แฟนบอลเท่านั้น แม้กระทั่งนักฟุตบอลที่อยู่ในบับเบิลอย่างดี ก็ยังมีรายงานข่าวผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ เซร์คิโอ บุสเกตต์ กัปตันทีมชาติสเปน, เดยัน คูลูเซฟสกี้-มัตเทียส สวานเบิร์ก จากสวีเดน

จนถึงล่าสุดอย่างอีวาน เปริซิช จากทีมชาติโครเอเชีย ก็ติดเชื้อโควิด-19 จนพลาดการลงสนามช่วยทีมในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ที่พ่ายให้กับสเปนไป

 

ทางด้านของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องนี้ และหวั่นว่าการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 จะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ของโควิด-19 ในทั่วยุโรปเพราะหลายแมตช์ที่แข่งขันจบไป พบผู้ติดเชื้อแล้ว ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อคงไม่จบแค่ในสองสนามที่รัสเซียและเดนมาร์ก เพราะการแข่งขันยังเหลือหลายนัดทีเดียว

ขณะที่นักฟุตบอลเองก็เป็นห่วงสถานภาพของตัวเองเช่นกัน อย่างเช่น โรบิน โกเซนส์ แบ๊กซ้ายทีม “อินทรีเหล็ก” เยอรมนี ออกมาแสดงความเห็นว่าการเพิ่มจำนวนผู้ชมในสนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปถึง 40,000 คน ในฟุตบอลยูโร 2020 รอบ 16 ทีมสุดท้าย เป็นสิ่งที่ดูไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เนื่องจากว่าไม่ได้ทำให้นักเตะในสนามรู้สึกปลอดภัยขึ้นเมื่อมองในภาพรวม ทั้งๆ ที่นักบอลเองอยู่ในบับเบิลอย่างเคร่งครัด

เกมเตะรอบรองชนะเลิศและชิงชนะเลิศ ที่จะไปเตะที่ เวมบลีย์ สเตเดี้ยม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้แฟนบอลเข้าชมได้ถึง 60,000 คน ถือเป็นจำนวนแฟนบอลที่เข้าสนามในอังกฤษได้มากที่สุดในรอบ 15 เดือน

การตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษทำให้เกิดความวิตกกันมากว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าจะระบาดเพิ่มขึ้นในหมู่แฟนบอลและส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม เพราะไวรัสสายพันธุ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศอินเดียกว่าพันคนมา 2 เดือนแล้ว

ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่ จนทำให้มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนสนามแข่งขันรอบตัดเชือกและรอบชิงจากเวมบลีย์ไปแข่งที่อื่นที่ปลอดภัยจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามากกว่านี้

 

มาร์การิติส สคินาส รองประธานสหภาพยุโรป (อียู) แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า แม้แต่อังกฤษยังจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชนตัวเอง ก็ควรทำในรูปแบบเดียวกันกับประชาชนทั่วยุโรป คือ จำกัดปริมาณคนที่จะเข้าไปในอังกฤษ หวังว่าสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างระมัดระวังที่สุด

สคินาสได้แจ้งกับสมาชิกในอียูว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าจะเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่เชื้อในยุโรปประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม และจะเพิ่มขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ซึ่งสถานการณ์นี้ทำให้ต้องระมัดระวังกับเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลในเรื่องการแพร่เชื้อมากขึ้น

ส่วนทางด้านอังกฤษเอง โอลิเวอร์ ดาวเดน เลขาธิการกระทรวงดิจิตอล วัฒนธรรม สื่อมวลชนและกีฬา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า อังกฤษทำงานอย่างใกล้ชิดกับยูฟ่าและสมาคมฟุตบอลเพื่อวางมาตรการที่ปลอดภัยที่สุดในการอนุญาตให้แฟนบอลเข้าชมเกมในสนามได้

ในฐานะแฟนบอลเข้าใจว่าการที่มีแฟนบอลเข้ามาชมฟุตบอลในสนามนั้นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่หลายคนรอคอย หลังจากที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พรากแฟนบอลไม่ให้เข้าสนามมาเกินกว่า 1 ปีไปแล้ว

จะเห็นได้จากบรรยากาศที่ สนามปุสกัส อารีน่า ของประเทศฮังการี ที่มีแฟนบอลเข้าชมเต็มความจุ เป็นบรรยากาศที่หลายคนคิดถึง แม้แต่ผู้ชมทางโทรทัศน์อย่างเราๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ดี การจะเปิดให้แฟนบอลเข้าชมได้ ก็ควรจะมีความปลอดภัยที่มากกว่านี้ เพราะถ้าหากการแข่งขันฟุตบอลยูโรเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ระดับโลก ส่งผลให้มีคนติดเชื้อหลักแสน-หลักหมื่นคน หรือแม้แต่กระทั่งมีผู้เสียชีวิต มันคงไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน

อย่าทำอะไรที่มันสวนทางกับความเป็นจริง ก่อนที่ผลร้ายมันจะออกมาจะดีกว่านะขอรับ