ไทม์เอาต์ / SearchSri /บทเรียนจาก ‘โอซากะ’

Japan's Naomi Osaka celebrates after winning against Romania's Patricia Maria Tig during their women's singles first round tennis match on Day 1 of The Roland Garros 2021 French Open tennis tournament in Paris on May 30, 2021. (Photo by MARTIN BUREAU / AFP)

ไทม์เอาต์/SearchSri

บทเรียนจาก ‘โอซากะ’

 

การแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม เฟรนช์ โอเพ่น ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสปีนี้ ประเด็นที่ถูกพูดถึงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างกลับเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เกิดในสนามเท่าไรนัก

นั่นคือการตัดสินใจถอนตัวอย่างกะทันหันของ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสสาวชาวญี่ปุ่น มืออันดับ 2 ของโลก ดีกรีแชมป์แกรนด์สแลม 4 สมัย ด้วยเหตุผลเรื่องสภาพจิตใจ ไม่ใช่ปัญหาบาดเจ็บ

ก่อนแข่งรายการนี้ โอซากะประกาศว่า จะไม่ขอให้สัมภาษณ์สื่อตามธรรมเนียมหลังจบการแข่งขัน เพื่อรักษาสภาพจิตใจของตัวเอง

และนักหวดสาววัย 23 ปีก็ทำอย่างนั้นจริงๆ หลังคว้าชัยในการแข่งขันรอบแรก โดยยอมแค่ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ในคอร์ตหลังแข่งเสร็จเท่านั้น

หลังจากนั้นไม่นาน ฝ่ายจัดการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม 4 รายการก็ออกแถลงการณ์ร่วมถึงโอซากะในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า การปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์สื่อเป็นการละเลยภาระหน้าที่อันพึงกระทำของนักเทนนิสอาชีพ และเป็นการเอาเปรียบเพื่อนนักกีฬาด้วยกัน

เบื้องต้นโอซากะโดนลงโทษปรับ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคำเตือนว่า ถ้ายังคงไม่ให้สัมภาษณ์สื่อต่อไปก็อาจโดนปรับหนักขึ้น หรือถึงขั้นโดนตัดสิทธิจากการแข่งขัน และแบนจากทัวร์นาเมนต์อื่นๆ ในอนาคต

สุดท้ายเพื่อตัดปัญหา โอซากะจึงตัดสินใจถอนตัวก่อนการแข่งขันรอบสอง พร้อมชี้แจงเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องทนทุกข์จากอาการโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ปี 2018 และอาการเริ่มแย่ลงก่อนศึกเฟรนช์ โอเพ่น จึงตัดสินใจเลี่ยงไม่คุยกับสื่อเพราะรู้ว่าจะทำให้สุขภาพจิตยิ่งแย่ หลังจากนี้จึงขอห่างจากกีฬาเทนนิสสักระยะ

 

การเปิดอกของโอซากะได้รับกำลังใจอย่างล้นหลามจากแฟนๆ และเพื่อนนักกีฬาหลายคน อาทิ โนวัก โยโควิช, มาร์ติน่า นาฟราติโลว่า, ลูอิส แฮมิลตัน

ขณะที่นักวิจารณ์ สื่อ และแฟนกีฬาหลายคนก็ถกกันในประเด็นว่าควรมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ในอนาคต หรือเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจจะเลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่

กรณีของโอซากะนั้นสะท้อนถึงปัญหาที่เกี่ยวพันกันหลายแง่มุม

ประการแรกนั้น การที่สื่อพยายามจี้ถามเพื่อเค้นคำตอบจากนักกีฬา หรือบางทีพยายามล้วงลึกในเรื่องที่เซ็นซิทีฟหรือเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ย่อมส่งผลกับสภาพจิตใจของนักกีฬาไม่มากก็น้อย เพราะแต่ละคนย่อมมีขีดจำกัดในการรับแรงกดดันได้ไม่เท่ากัน

แล้วการจะหยุดให้สัมภาษณ์ไปเลยจะทำได้หรือไม่?

เรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจมุมของฝ่ายจัดการแข่งขันด้วยเช่นกัน กีฬายุคนี้ไม่ใช่แค่การแข่งขันกันเพียวๆ แต่มีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องแบบแยกไม่ออก

ทัวร์นาเมนต์จะไปรอดได้ต่อเนื่องจำเป็นต้องมีสปอนเซอร์ มีสื่อนำเสนอข่าว ช่วยโปรโมตออกไป นักกีฬาก็ได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะยิ่งรายการใหญ่ เงินรางวัลก็สูง สื่อทำข่าวเยอะ ก็มีชื่อเสียงโด่งดัง

ก่อนแข่งแต่ละรายการ มีข้อบังคับของทัวร์นาเมนต์อยู่แล้วว่า นักกีฬาต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งการให้สัมภาษณ์สื่อก็เป็นหนึ่งในภารกิจจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้

หากไม่ต้องการให้สัมภาษณ์สื่อก็ต้องยอมรับบทลงโทษที่จะตามมา เพราะเท่ากับว่านักกีฬาคนนั้นๆ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการแข่งขันได้เหมือนนักกีฬาคนอื่นๆ

ในเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่อาจเลี่ยงได้ ก็ต้องไปหาทางควบคุมเรื่องขอบเขตการทำงานของสื่อ ขีดเส้นจรรยาบรรณให้เข้มงวดกว่าเดิม ไม่ให้อำนาจในมือล้นเกินไปจนถึงขั้นล้ำเส้นชีวิตและจิตใจของผู้ถูกสัมภาษณ์

 

อีกประเด็นที่อยากให้ลืมกันคือ โอซากะบอกว่าต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งหากย้อนดู นั่นคือปีที่เธอคว้าแชมป์แกรนด์สแลมหนแรกจากศึก ยูเอส โอเพ่น

หากยังจำกันได้ รอบชิงหญิงเดี่ยวปีนั้นเกิดประเด็นดราม่า เมื่อ เซเรน่า วิลเลียมส์ อดีตมือ 1 ของโลกชาวอเมริกัน กำลังไล่ตามแชมป์สแลมที่ 24 ซึ่งจะเทียบเท่าสถิติสูงสุดตลอดกาลอยู่ แต่เธอกลับพ่ายแพ้โอซากะแบบหมดรูป

เซเรน่าซึ่งแสดงท่าทีหงุดหงิดโดนกรรมการเตือนหลายครั้งจนถึงขั้นตัดแต้ม และปรับแพ้เกม จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้ สร้างความไม่พอใจให้แฟนๆ รอบสนามเป็นอย่างมาก

แม้กระทั่งพิธีมอบรางวัล แฟนก็ยังโห่ไม่เลิก ซึ่งเจตนาของแฟนส่วนใหญ่คือการโห่กรรมการที่ตัดสินลงโทษเซเรน่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า เมื่อตีความทางหนึ่งก็คล้ายจะไม่ยอมรับชัยชนะของโอซากะอย่างอ้อมๆ และอาจเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพจิตที่เธอต้องเผชิญ

กรณีของโอซากะที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่แค่บทเรียนสำหรับนักกีฬา ฝ่ายจัด หรือสื่อเพียงเท่านั้น

แม้แต่แฟนๆ ก็อาจควรต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน