เขย่าสนาม / จริงตนาการ / ‘โตเกียว 2020’ ความยิ่งใหญ่ที่เหงากว่าเดิม

เขย่าสนาม/จริงตนาการ [email protected]

‘โตเกียว 2020’

ความยิ่งใหญ่ที่เหงากว่าเดิม

 

ถึงแม้จะเหลือเวลาอีก 3 เดือน แต่ชัดเจนแล้วว่า โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคมจะจัดขึ้นอย่างแน่นอน แต่คงไม่ใช่โอลิมปิกในรูปแบบที่เคยได้เห็น เพราะไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดมากมาย ที่ทำให้มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติไม่ปกติ

เกียวโดนิวส์ สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและคณะกรรมการจัดการแข่งขัน รวมทั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีการหารือกันแล้ว และตกลงกันว่าจะไม่ให้แฟนกีฬาต่างชาติเข้าชมการแข่งขันครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เซโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันก็ออกมาปฏิเสธว่า ยังไม่ได้มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในเรื่องนี้ แต่แนวทางของโตเกียว 2020 คือ ความปลอดภัยของส่วนรวมต้องมาก่อน ส่วนการตัดสินใจว่าจะห้ามกองเชียร์ต่างชาติเข้าชมการแข่งขันหรือไม่นั้น จะมีคำตอบภายในเดือนเมษายน

สื่ออย่าง ซันเคอิ ก็รายงานว่า การแข่งขันครั้งนี้จะให้แฟนกีฬาเข้าชมในสนามได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุเท่านั้น สำหรับสนามที่มีความจุมากๆ ก็จะจำกัดให้มีผู้ชมไม่เกิน 20,000 คน เพื่อเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดโอกาสการติดเชื้อกันเองในประเทศ

มาสะ ทากายะ โฆษกของโตเกียว 2020 ก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้เช่นกัน เพราะต้องรอคำตอบในเดือนเมษายน เหมือนประเด็นอื่นๆ

People wearing protective face masks, following an outbreak of the coronavirus, are seen in front of the Giant Olympic rings at the waterfront area at Odaiba Marine Park in Tokyo, Japan, February 27, 2020. REUTERS/Athit Perawongmetha

 

เหมือนกับว่าโอลิมปิกครั้งนี้ต้องลุ้นกันเดือนต่อเดือน อย่างแรกต้องดูสถานการณ์ของการแพร่ระบาดในทั่วโลกว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง เหมาะหรือไม่ที่จะให้มีคนจำนวนมากไหลเข้าประเทศ เพราะญี่ปุ่นเองก็ประสบปัญหาผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่

อีกเรื่องคือ แรงสนับสนุนจากคนในประเทศที่ไม่เต็มที่นัก เพราะกลัวว่าถ้าเปิดให้คนต่างชาติเข้ามาจะเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนคนติดเชื้อ และจะฝากปัญหาไว้ให้กับชาวญี่ปุ่นเมื่อโอลิมปิกจบไปแล้ว

วิธีที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ในช่วงที่ผ่านมาและน่าจะยาวไปอีกหลายเดือนคือ การหยุดการให้วีซ่าชาวต่างชาติ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะยกเลิกไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แต่ตอนนี้ก็อนุญาตแค่ชาวญี่ปุ่นที่อยากกลับเข้าประเทศ หรือชาวต่างชาติที่จะเข้ามาพำนักในญี่ปุ่นระยะยาวเท่านั้น

 

ศูนย์วิจัย โตเกียว โชโก ของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น 11,000 แห่ง ในประเด็นว่าควรเลื่อนหรือยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 หรือไม่

โดยผลสำรวจสรุปว่า 56 เปอร์เซ็นต์อยากให้เลื่อนหรือยกเลิก มากขึ้นกว่าที่เคยสำรวจไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่ต้องการให้เลื่อนหรือยกเลิก 53.6 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ 7.7 เปอร์เซ็นต์ มองว่าการแข่งขันจะจัดได้อย่างเต็มรูปแบบอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ลดลงจากเดิม 22.5 เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจก่อนหน้านี้

ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์แสดงความคิดเห็นให้จัดแข่งขันแบบจำกัดจำนวนผู้ชม

อีก 17 เปอร์เซ็นต์ให้จัดแบบไม่มีผู้ชมในสนาม

 

ถึงแม้จะมีข่าวที่น่าผิดหวังมากกว่าเรื่องดีๆ แต่ก็มีหลายคนที่เชื่อว่า ไม่ว่าจะมีคนดูหรือไม่ โอลิมปิกเกมส์จะประสบความสำเร็จได้

เซอร์คริส ฮอย อดีตนักปั่นจักรยานสหราชอาณาจักร เจ้าของ 6 เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ บอกว่า ไม่ว่าจะมีผู้ชมหรือไม่ แต่ถ้านักกีฬาสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่และได้รับชัยชนะมันก็ยิ่งใหญ่เหมือนกัน ปีก่อนทุกคนได้รับผลกระทบกันทั้งนั้น นักกีฬาอาจจะต้องไปกักตัวอยู่ในโรงแรม มันคงเป็นประสบการณ์ที่แปลก แต่การจัดได้ไม่ว่าจะยากขนาดไหน มันก็ดีกว่าที่ไม่แข่งขันเลย เพราะการได้มีโอกาสแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์มีความหมายมากมายกับนักกีฬา

คาไว เลียวนาร์ด นักบาสเกตบอลของ แอลเอ คลิปเปอร์ส ยืนยันว่าอยากจะไปแข่งขันโอลิมปิก ถึงแม้ว่าจะมีเวลาพักจากการแข่งขันบาสเกตบอลเอ็นบีเอน้อยมากๆ แต่ก็พร้อมที่จะทำ

แม้แต่นักเทนนิสชื่อดังเกือบทุกคนยังยอมรับว่า พวกเขารอที่จะไปลุ้นเหรียญรางวัลในโตเกียว 2020 กันทั้งนั้น โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ยอมทิ้งการแข่งขันหลังจากนี้หลายรายการ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดที่จะไปโตเกียว โนวัก โยโควิช ที่ไม่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิกมาก่อน ก็มุ่งมั่นที่จะคว้าแชมป์ให้ได้

“เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดสาวทีมชาติไทย ที่เป็นมือหนึ่งของโลกในรุ่น 49 ก.ก. และเป็นเต็งแชมป์ในรุ่นนี้ รอคอยที่จะไปหยิบเหรียญทองที่เธอสมควรจะได้มาหลายปี หลังจากเคยพลาดได้แค่เหรียญทองแดงเมื่อ 5 ปีก่อนที่ประเทศบราซิล ทั้งๆ ที่ร่างกายพร้อม ฝีมือถึง แต่ก็ยังมีอุปสรรคให้รอคอยแล้วรอคอยอีก

ไม่ว่าโตเกียว 2020 จะออกมาในรูปแบบไหน มันคงต่างกันแค่บรรยากาศในสนามเท่านั้น แต่คุณค่าของความเป็นโอลิมปิกจะยังคงอยู่แบบนั้น เพราะชัยชนะที่ไม่ได้มาง่ายๆ และเสน่ห์ที่สะสมกันมานับร้อยปี

ขอให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เพราะเราคงรอโตเกียว 2020 นานกว่านี้ไม่ได้แล้ว