เขย่าสนาม : เมื่อ “ซีเกมส์” ชนเปรี้ยง “ม.โลก” สองศึกใหญ่ที่ต้องเปิดใจแบ่งนักกีฬา

คอลัมน์เขย่าสนาม//จริงตนาการ


ในเดือนสิงหาคม ทัพนักกีฬามีภารกิจใหญ่ในสองมหกรรม คือ “กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29” ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และ “กีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 29” ที่ไต้หวัน ซึ่งแข่งขันในช่วงเวลาเดียวกันเป๊ะ ระหว่างวันที่ 19-30 สิงหาคม

ปกติทั้งสองมหกรรมนี้จะแข่งขันทุก 2 ปีครั้ง แต่จะไม่แข่งในช่วงเดียวกัน กีฬามหาวิทยาลัยโลกจะแข่งขันในช่วงกลางปี ซีเกมส์จะแข่งปลายปี อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้มาเลเซียเลือกจัดในเดือนสิงหาคม ทำให้นักกีฬาไทยต้องแบ่งออกเป็น 2 ชุด

มีการตั้งคำถามว่าเมื่อทั้งสองการแข่งขันมาชนกัน ควรจะเน้นไปที่รายการไหนมากกว่ากัน?

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ซีเกมส์เป็นการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคอาเซียนที่ไทยครองความเป็นหนึ่งมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นเกมศักดิ์ศรีที่ไม่ว่าประเทศไหนจะเป็นเจ้าภาพ ทัพไทยต้องถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่งหรือเต็งร่วมในการเป็นเจ้าเหรียญทองอยู่เสมอ

ส่วนกีฬามหาวิทยาลัยโลก ถึงแม้จะเป็นกีฬาในระดับมหาวิทยาลัย แต่เมื่อดูจากมาตรฐานการจัดการแข่งขัน ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน รวมทั้งชนิดกีฬาที่จัดแล้ว เรียกได้ง่ายๆ ว่าเป็นกีฬาที่เป็นรองเพียงโอลิมปิกเกมส์เท่านั้น

รวมทั้งนักกีฬาครึ่งหนึ่งที่เคยร่วมแข่งขันในมหกรรมนี้มักจะเป็นนักกีฬาที่ได้รับใช้ชาติในโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต

ซึ่งเป็นเหมือนมหกรรมทดสอบสนามและจิตใจของนักกีฬาดาวรุ่งที่ถูกวางให้เป็นอนาคตของประเทศนั่นเอง

 

ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 จัดการแข่งขัน 38 ชนิดกีฬา ไทยส่งแข่งรวมทั้งสิ้น 1,260 คน แบ่งเป็น กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ, ว่ายน้ำมาราธอน, ระบำใต้น้ำ, โปโลน้ำ) 162 คน, ยิงธนู 36 คน, กรีฑา 108 คน, แบดมินตัน 36 คน, บาสเกตบอล 24 คน, บิลเลียด-สนุ้กเกอร์ 20 คน, โบว์ลิ่ง 72 คน, มวยสากล 6 คน, คริกเกต 30 คน, จักรยาน 57 คน, ขี่ม้า-ขี่ม้าโปโล 35 คน, ฟันดาบ 12 คน, ฟุตบอล-ฟุตซอล 68 คน, กอล์ฟ 12 คน, ยิมนาสติก 56 คน, ฮอกกี้ 60 คน, ฮอกกี้น้ำแข็ง 20 คน, สเก๊ตน้ำแข็ง 16 คน, ยูโด 6 คน, คาราเต้ 22 คน, ลอนโบว์ 20 คน, มวย 5 คน, เนตบอล 12 คน, ปันจักสีลัต 26 คน, เปตอง 16 คน, รักบี้ฟุตบอล 24 คน, เรือใบ-วินด์เซิร์ฟ 22 คน, ตะกร้อ-ชินลง 81 คน, ยิงปืน-ยิงเป้าบิน 28 คน, สควอช 24 คน, เทเบิลเทนนิส 22 คน, เทควันโด 17 คน, เทนนิส 12 คน, ไตรกีฬา 4 คน, วอลเลย์บอล 24 คน, สกีน้ำ 26 คน, ยกน้ำหนัก 5 คน, วูซู 34 คน

กีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 29 แข่งขัน19 ชนิดกีฬา คือ กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ, โปโลน้ำ) ยิงธนู, เบสบอล, บิลเลียด, ยิมนาสติก, ฟุตบอล, โรลเลอร์สเก๊ต, เทควันโด, เทนนิส, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา, ยกน้ำหนัก, ยูโด, วอลเลย์บอลหญิง, ฟันดาบ, วูซู, บาสเกตบอล, กอล์ฟและแบดมินตัน รวมทั้งสิ้น 270 เหรียญทอง แต่ไทยส่งแข่งขัน 10 ชนิด คือ กรีฑา, แบดมินตัน, ยูโด, วอลเลย์บอล(หญิง), เทนนิส, ฟันดาบ, กอล์ฟ, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด และยกน้ำหนัก

รวมนักกีฬาประมาณ 58 คน

 

ซีเกมส์เตรียมนักกีฬาโดย “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) ส่งเข้าร่วมการแข่งขันในนาม “คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ”

ส่วนกีฬา ม.โลกใช้งบประมาณส่งแข่งขันและเตรียมทีมโดย “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา” (สกอ.) เตรียมทีมโดย “คณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย” (ก.ก.ม.ท.) ซึ่งแยกส่วนงานออกจากกันอย่างชัดเจน

ทำให้ตัวนักกีฬาแต่ละประเภทจะถูกพิจารณาโดยสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยว่าจะส่งชุดไหนไปแข่งรายการใด

หลายชนิดกีฬาที่ส่งทัพใหญ่ไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัยโลก อาทิ เทควันโดที่ส่ง “เทม” “เทวินทร์ หาญปราบ” “เทนนิส” “พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” “นก” “พรรณณภา หาญสุจินต์” สามนักกีฬาชุดโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ประเทศบราซิลไปลุ้นเหรียญรางวัล รวมทั้ง “จูเนียร์” “รามณรงค์ เสวกวิหารี” เจ้าของเหรียญทองแดง เทควันโดชิงแชมป์โลก ปี 2015 ติดทีมไปด้วย

แล้วให้จอมเตะเยาวชนทำหน้าที่ในซีเกมส์ เพราะฝีมือของนักกีฬาไทยกับในระดับอาเซียนถือว่าห่างกันไกล แถมคะแนนสะสมอันดับโลกก็ห่างกันมาก ตามเลเวลของการแข่งขันระดับโลกกับภูมิภาค

ในส่วนของยกน้ำหนัก เนื่องจากซีเกมส์ไม่จัดยกน้ำหนักหญิง ทำให้สามารถเทนักกีฬาความหวังไปที่กีฬามหาวิทยาลัยโลกได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย “ฝ้าย” “สุกัญญา ศรีสุราช” เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ รุ่น 58 ก.ก.หญิง “แนน” “โสภิตา ธนสาร” ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2016 รุ่น 48 ก.ก.หญิง รวมทั้ง “ศิริภุช กุลน้อย, ชิดชนก พูลทรัพย์สกุล, สุพัตรา แก้วคง, ศรัท สุ่มประดิษฐ์, ติณณภพ กันระวังชัย” ซึ่งเป็นจอมพลังหัวแถวทั้งสิ้น ยูโดก็ได้ตัว “พีท” “คุณาธิป เยี่ยอ้น” ดีกรีลุยโอลิมปิกเกมส์ 2016 มาเช่นกัน แม้กระทั่งกรีฑาที่โปรแกรมทับซ้อนกันในบางรายการ เมื่อแข่งซีเกมส์เสร็จก็จะยกทัพกันไปไต้หวันต่อ

ขณะที่วอลเลย์บอลหญิง เนื่องจากกีฬาปัญญาชนโลกกำหนดให้นักกีฬาที่ร่วมแข่งขันต้องสังกัดมหาวิทยาลัยและอายุไม่เกิน 28 ปี ดังนั้น ทีมชาติวัยเก๋าหลายคนไม่เข้าคุณสมบัติ

จะมีแต่นักตบสาวรุ่นกลางเก่ากลางใหม่และดาวรุ่งที่จะผสมทีมกันไปลุ้นเหรียญรางวัล

 

เป้าหมายของซีเกมส์ คือ การเบียดกับ “เจ้าภาพ” มาเลเซียเพื่อป้องกันแชมป์ให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักมาก เนื่องจากเจ้าภาพสามารถกำหนดชนิดกีฬาและรายการแข่งขันที่นักกีฬาตัวเองมีโอกาสสูงที่จะคว้าเหรียญทอง และตัดกีฬาที่ชาติใหญ่ๆ อย่างไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ถนัดออกไปให้มีลุ้นน้อยที่สุด

ส่วนกีฬา ม.โลก โอกาสในการได้เหรียญรางวัลถือว่ายากพอๆ กับโอลิมปิกเกมส์ ดังนั้น ก.ก.ม.ท. จึงตั้งเป้าจะคว้าเหรียญให้ได้มากกว่า 2 เหรียญทอง 7 เหรียญเงิน 9 เหรียญทองแดง และจบอันดับ 20 ของเมื่อ 2 ปีที่แล้วให้ได้

เอาจริงๆ แล้ว โฟกัสของกองเชียร์ไทยจะไปอยู่ที่ฟุตบอลชาย, วอลเลย์บอลหญิง, มวยสากลสมัครเล่น, กรีฑาระยะสั้นและผลัดในซีเกมส์ รวมทั้งการลุ้นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ มากกว่ากีฬา ม.โลกที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยนัก ซึ่งจะทำให้พื้นที่ข่าวของนักกีฬาปัญญาชนโลกจะมีน้อยกว่า แม้ว่าตัวนักกีฬาจะโด่งดังกว่ามากก็ตาม

ว่ากันตรงๆ แล้ว เงินอัดฉีดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของนักกีฬา ถ้าได้เหรียญทองซีเกมส์จะได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 200,000 บาท เหรียญเงิน 100,000 บาท เหรียญทองแดง 50,000 บาท แต่กีฬา ม.โลก เหรียญทอง 1,000,000 บาท เหรียญเงิน 500,000 บาท เหรียญทองแดง 200,000 บาท ถ้าเป็นนักกีฬาที่มีลุ้นเหรียญทั้งสองมหกรรมก็น่าจะเลือกเล่นรายการหลังมากกว่า

เอาจริงๆ แล้วทั้งสองมหกรรมเป็นเวทีชั้นดีที่จะให้นักกีฬาทุกคนได้ไปเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพราะเอเชี่ยนเกมส์เป็นมหกรรมใหญ่ที่ได้เหรียญรางวัลยาก และมีคุณค่าสูงกับทั้งนักกีฬาและกองเชียร์

จนถึงตอนนี้ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าทัวร์นาเมนต์สำคัญกว่ากัน แต่ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยแล้ว ก็ขอเชียร์ให้ประสบความสำเร็จกันทุกคน ถือว่าแยกย้ายกันไปรับใช้ชาติ แต่ความสุขรวมกันอยู่ที่เดียว ที่ประเทศไทยแบบนี้จะดีกว่า