จริงตนาการ : กาตาร์ vs ซาอุฯ แย่งเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ มาตรฐานสูงลิบที่ชาติเล็กทำได้แค่ฝัน

“กีฬาเอเชี่ยนเกมส์” ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากโอลิมปิกเกมส์ เพราะเป็นเกมที่มีชาติร่วมแข่งขันมากกว่ามหกรรมอื่นๆ คือ เอเชียทั้ง 45 ชาติ

การเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์จึงถือว่าเป็นงานช้าง ไม่กี่ประเทศที่พร้อมจะเสนอตัว อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายประเทศที่พร้อมจะมาแย่งชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพกันอยู่

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ครั้งสุดท้าย ต้องย้อนไปในปี 1998 หรือ 22 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะมีความพยายามจากรัฐบาลมาตลอดว่าจะขอเป็นเจ้าภาพอีกสักครั้ง แต่ก็ไม่มีการเดินหน้าที่เป็นรูปธรรม จนตอนนี้มีเจ้าภาพ 2 ครั้งไปแล้ว คือ “หังโจว 2022” ที่นครหังโจว ในอีก 2 ปีข้างหน้า และ “ไอจิ-นาโกยา 2026” ที่ประเทศญี่ปุ่น

ความน่าสนใจต่อจาก 2 ครั้งนั้น คือ การแย่งชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ 2030 ซึ่งสองมหาอำนาจในตะวันออกกลางร่วมวงกันอย่างออกรส

 

“กาตาร์” และ “ซาอุดีอาระเบีย” เป็นสองชาติยักษ์ใหญ่ของตะวันออกกลางที่ประกาศสงครามกันในทุกเรื่องอยู่แล้ว ที่ผ่านมากาตาร์เคยเป็นเจ้าภาพ 1 ครั้ง เมื่อปี 2006 ส่วนซาอุดีอาระเบียเพิ่งเสนอตัวขอจัดเป็นครั้งแรก

สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ได้ให้ทุกชาติที่ต้องการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพส่งหนังสือยืนยันไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งริยาดและโดฮาต่างทำตามขั้นตอนกันแล้ว

สุดท้ายแล้วมีเพียง 2 ชาติที่เสนอตัวอย่างเป็นทางการ อุซเบกิสถาน, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, อินเดียและฟิลิปปินส์ ที่ประกาศตัวก่อนหน้านี้ไม่มีชาติไหนลงสมัคร ทำให้ศึกครั้งนี้เป็นเรื่องของเศรษฐีน้ำมันอย่างเต็มตัว

“เจ้าชายอับดุล อาซิซ บิน เตอรกี อัล-ไฟซาล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา และประธานคณะกรรมการโอลิมปิกซาอุดีอาระเบีย ยืนยันด้วยตัวเองว่าได้ยื่นหนังสือเสนอตัวไปแล้ว และหวังว่าโอซีเอจะเห็นถึงความตั้งใจของซาอุดีอาระเบียในการเสนอตัวครั้งนี้

ซาอุฯ มาแบบนิ่งๆ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอะไรต่อสาธารณชนมากนัก

ต่างกับกาตาร์ที่ประกาศทั้งโลโก้และแผนงานต่างๆ ออกมาล่วงหน้านานแล้ว โดย “โดฮา 2030” ว่า การเสนอตัวครั้งนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติของกาตาร์ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ปกครองประเทศ ซึ่งสนามและสาธารณูปโภคที่กาตาร์เตรียมสร้างเพื่อจัดการแข่งขัน จะสร้างประโยชน์ให้วงการกีฬาของเอเชียทั้งก่อนและหลังเอเชี่ยนเกมส์ 2030

“ชีกโจอาน บิน ฮาหมัด อัล-ธานี” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกกาตาร์ และประธานเสนอตัวเอเชี่ยนเกมส์ 2030 กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นเอเชี่ยนเกมส์แบบเวิลด์คลาส เพราะกาตาร์มองว่าเอเชี่ยนเกมส์เป็นมากกว่ามหกรรมกีฬาระดับโลก แต่จะเป็นเส้นทางในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับเอเชียทั้งทวีป และจะร่วมสนับสนุนวงการกีฬาของเอเชียทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน

เนื่องจากใจความสำคัญในการเสนอตัวครั้งนี้ กาตาร์มองไกลกว่าเรื่องของกีฬา เพราะเอเชี่ยนเกมส์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนได้มากมาย เชื่อมต่อชาติต่างๆ เข้าหากัน และร่วมเฉลิมฉลองความสงบสุขบนความแตกต่างได้

 

จากการเตรียมตัวและเนื้อหาในการสื่อสารกับชาวเอเชีย ถือว่ากาตาร์เตรียมตัวมาอย่างจริงจัง และมีแผนงานที่ถือว่าเป็นระบบ เพราะหลังจากจบฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์ยังได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ 2027 ซึ่งซาอุดีอาระเบียก็เสนอตัวเช่นกัน

กาตาร์มองไกลไปถึงการต่อยอดเอเชี่ยนเกมส์ไปสู่โอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2032 อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการเสนอตัวเจ้าภาพโอลิมปิกในอีก 12 ปีข้างหน้าแต่อย่างใด เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจะเลือกเจ้าภาพล่วงหน้า 7 ปีเท่านั้น

มาตรฐานของเอเชี่ยนเกมส์สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 20 ปีหลัง แต่ในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถือว่าดูแย่ลงไป เพราะถูกขนานนามว่าเป็นซีเกมส์ที่มีชาติสมาชิกมาแข่งมากขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าโอซีเอจะเอ่ยชมเจ้าภาพ

แต่เมื่อไปสัมผัสถึงมาตรฐานก็คงบอกไม่ได้เต็มปากว่าอินโดนีเซียร่วมยกระดับเอเชี่ยนเกมส์ไปด้วย

 

เอเชี่ยนเกมส์ 3 ครั้งหลังจากนี้ จีน, ญี่ปุ่น และว่าที่เจ้าภาพอย่างกาตาร์หรือซาอุดีอาระเบียจะทำให้มหกรรมกีฬาแห่งเอเชียเติบโตไปไกลแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทุนที่ประเทศเหล่านี้มี เทคโนโลยีของตัวเอง ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับโลกมากมาย

ซึ่งจะทำให้เอเชี่ยนเกมส์ในอนาคตเป็นเกมที่ชาติเล็กๆ จัดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

หังโจว 2022 จะเป็นการเซ็ตมาตรฐานครั้งใหม่ให้เอเชี่ยนเกมส์ หลังจากที่จัดเอเชี่ยนเกมส์ 2010 ที่นครกว่างโจวได้ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

หังโจวยืนยันว่าสนามแข่งขัน สนามซ้อม หมู่บ้านนักกีฬา และสาธารณูปโภคทั้งหมดที่จะใช้ในการแข่งขัน จะสร้างแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมปีหน้า หรือก่อนกำหนดแข่งขันจริงกว่า 1 ปีครึ่ง และจะเริ่มจัดเทสต์อีเวนต์ก่อนการแข่งขันจริง ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีหน้า

นครหังโจวได้จับมือกับอาลีบาบา กรุ๊ป ที่มี “แจ๊ก หม่า” มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกเป็นผู้ก่อตั้ง เพราะเขาเกิดและโตที่เมืองนี้ โดยอาลีบาบาจะนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเองใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ภายใต้แนวทาง “Asian Games in the Cloud” หรือการส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สายอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งข้อมูลในการจัดการด้านต่างๆ ผลการแข่งขัน โปรแกรมการแข่งขัน

อีกแนวทางที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันวางเอาไว้ คือ “Smart Games” หังโจวจะเอาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในทุกด้านเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพ ล่าสุดก็มีการเตรียมนำรถยนต์ไร้คนขับใหม่ล่าสุดมาให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่ ได้ใช้กันด้วย

 

อีก 6 ปีข้างหน้าเมืองไอจิและนาโกยาจะเป็นเจ้าภาพ อีก 10 ปีข้างหน้าเป็นหน้าที่ของเศรษฐีน้ำมัน ทำให้เจ้าภาพอีก 14 ปีข้างหน้า ต้องคิดหนักถ้าอยากจะจัดและทำให้ได้เท่าหรือสูงกว่ามาตรฐานก่อนหน้านั้น

สำหรับไทยคงเป็นเรื่องยากทีเดียวที่จะได้เป็นเจ้าภาพในอีก 14 ปีข้างหน้า เพราะเอเชี่ยนเกมส์ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ของไทย ซึ่งอาจจะพูดกันตรงๆ ว่า ไทยคงไม่พร้อมขนาดนั้นแล้ว

ถ้าคิดจะทำก็ต้องเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะงานยากขนาดนั้นจะทำกันไปตีกันไปเหมือนสมัย 20 กว่าปีก่อน คงแย่แน่ๆ