จริงตนาการ : 11 เดือนก่อน “โตเกียว 2020” ยังไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีหน้า จะจัดตามกำหนดเดิมที่เลื่อนออกไป คือ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2021 หรือเลื่อนออกไปอีก หรืออาจจะยกเลิกการแข่งขันไปเลย ถ้าไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกแบบนี้ และยังไม่มีวัคซีนที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

คำตอบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือยังไม่มีคำตอบ เพราะที่กรุงโตเกียวเองก็ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อยๆ ประเทศมหาอำนาจวงการกีฬาโลกทั้งสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ ต่างก็ยังคงวุ่นกับการจัดการผู้ติดเชื้อในประเทศ มีความเป็นไปได้ที่จะเรียกร้องให้เลื่อนหรือยกเลิก แย่ไปกว่านั้นก็ไม่ส่งแข่งขันไปเลย

“จอห์น โคตส์” รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้แสดงความคิดเห็นกับทางสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ไม่ว่าโควิด-19 จะยังรุกรานไปทั่วโลกหรือไม่ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ก็ยังจะจัดการแข่งขันไปตามกำหนดที่วางกันไว้ ตามธีมที่กำหนดไว้ คือ “เกมแห่งการฟื้นฟู” หลังจากที่ประเทศโดนคลื่นสึนามิถล่มพังเสียหายอย่างหนัก เมื่อปี 2011 ตอนนี้ก็ยังต้องมาสู้กับโควิด-19 อีก

โตเกียว 2020 ได้มีการจัดการประชุมเตรียมความพร้อม 5 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีประเด็นการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในปีนี้เป็นเรื่องแรก

ส่วนการประชุมครั้งที่ 2 จะมีการหารือกันถึงเรื่องนักกีฬา การเดินทาง และบริหารด่านเข้า-ออก

ขณะที่การประชุมครั้งที่ 3 จะพิจารณาเรื่องสนามแข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬากันต่อไป

 

“โทชิโระ มูโตะ” ซีอีโอของการแข่งขันโตเกียว 2020 บอกว่า วัคซีนไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการกำหนดว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะแข่งขันได้หรือไม่

เพราะหลังจากที่ไอโอซีและองค์การอนามัยโลกได้มีการหารือกันแล้ว วัคซีนไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ถ้าสามารถพัฒนาจนใช้ได้ก่อนการแข่งขันก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี จะทำให้การแข่งขันออกมาสมบูรณ์แบบ

แต่ถ้าถามว่าจำเป็นที่จะต้องมีหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่ปัจจัยหลัก

ส่วนในเรื่องของคนดูนั้น มูโตะยืนยันว่าจะพยายามไม่ให้มีการแข่งขันแบบไม่มีคนดู แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

ญี่ปุ่นทดลองใช้การแข่งขันฟุตบอลและเบสบอลลีก ในการเตรียมเรื่องแฟนกีฬาในสนาม โดยให้แฟนเข้าเชียร์ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม มีการเว้นระยะห่าง การทำความสะอาดต่างๆ ซึ่งก็มีผลตอบรับไปในทางที่ดี ถึงแม้จะยังไม่แน่ว่าสามารถเอาไปเทียบเคียงกับโอลิมปิกที่มีคนทั่วโลกเดินทางเข้ามาได้หรือไม่ก็ตาม

ประเด็นใหญ่ที่คนทั่วโลกอยากรู้ คือ นักกีฬาและเจ้าหน้าที่กว่า 200 ประเทศทั่วโลกที่จะเข้าไปร่วมแข่งขัน จะมีมาตรการอย่างไรในช่วงก่อนเดินทางเข้า ระหว่างอยู่ในญี่ปุ่น และหลังจากจบการแข่งขัน เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้คนจาก 146 ประเทศเข้าประเทศ และคนที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าญี่ปุ่นจะต้องกักตัว 14 วัน

โคตส์บอกว่า เรื่องนี้เป็นงานใหญ่ของเจ้าภาพที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพราะมันอาจจะมีบางประเทศที่จะเข้ากับอีกหลักเกณฑ์หนึ่ง อีกประเทศก็ต้องทำอีกเกณฑ์หนึ่ง จะทำอย่างไรให้ทั้ง 206 ประเทศเข้าใจกับการตัดสินใจของเจ้าภาพ

 

อีกประเด็นที่มองว่าจะมีผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพโตเกียว 2020 หรือไม่ คือ การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “ชินโสะ อาเบะ” ไปเมื่อไม่นานมานี้

เพราะอาเบะถือเป็นหัวหลักใหญ่ในการเดินหน้าจัดการแข่งขัน

แม้แต่วันที่ไปรับธงเจ้าภาพโอลิมปิกต่อจากนครรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2016 เขายังใส่ชุดมาริโอ ไปรับธงด้วยตัวเองกับมือ

“เจฟฟีย์ คิงสตัน” อาจารย์ภาควิชาการเมืองญี่ปุ่น ของมหาวิทยาลัยเทมเพิล ในกรุงโตเกียว วิเคราะห์ว่า โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้อาจจะได้ประโยชน์จากการที่อาเบะให้การสนับสนุนมาอย่างดี

แต่สถานการณ์ตอนนี้มันเหนือกว่าที่นายกรัฐมนตรีจะเอาอยู่ และผู้มารับตำแหน่งคนใหม่ก็คงไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก

ดังนั้น หน้าที่ตัดสินใจอนาคตของเกมจะอยู่ที่ไอโอซี, คณะกรรมการจัดการแข่งขัน รวมทั้งสหพันธ์กีฬานานาชาติ เป็นหลัก

ต้องยอมรับว่าตอนนี้มีความไม่มั่นใจจากหลายฝ่าย ในส่วนของภาคเอกชนเอง จากการทำโพลสำรวจบริษัท 13,000 แห่งในญี่ปุ่น 53.6 เปอร์เซ็นต์แสดงความเห็นว่าอยากให้เลื่อนออกไปอีกครั้ง หรือยกเลิกไปเลย

ส่วนประชาชนกว่า 2 ใน 3 โหวตให้เลื่อนการแข่งขันหรือยกเลิกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไอโอซียืนยันว่าถ้าโอลิมปิกแข่งขันไม่ได้ในปี 2021 เกมจะต้องถูกยกเลิกในที่สุด

 

ญี่ปุ่นถือเป็นฝ่ายที่น่าเห็นใจอย่างมาก เพราะทุ่มเทกับการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง ว่ากันว่างบประมาณพุ่งไป 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่กำหนดไว้ครั้งแรกเป็นเท่าตัว และถูกคาดหมายว่าจะเป็นโอลิมปิกที่ทันสมัยและดีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่จัดกันมา

แต่ถ้าหันมองนักกีฬาที่รอคอยว่าการแข่งขันจะถูกยกเลิกหรือไม่ ทั้งๆ ที่ซ้อมมาอย่างหนักตลอด 4 ปีกว่าจะได้โควต้าแข่งขัน บางคนเป็นตัวเต็งที่จะได้เหรียญทอง บางคนได้สิทธิแข่งขันเป็นครั้งแรก และหลายคนจะแข่งขันเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าเลื่อนออกไปหรือยกเลิก โอกาสของพวกเขาในการร่ำลาโอลิมปิกเกมส์ก็ปิดฉากแบบน่าเศร้า

เชื่อว่าความพยายามในการประคับประคองและเตรียมการแข่งขันแบบสุดกำลังของทุกฝ่าย จะทำให้โตเกียว 2020 ในเวอร์ชั่น 2021 เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์

เพื่อความสุขของทุกคนที่รอคอยและให้กำลังใจอยู่