เด็กเก็บบอล : “ระยองโมเดล” ต้นแบบนิวนอร์มอลชาวกีฬา

ในที่สุดชาว “ระยอง” ก็พ้น 14 วันอันตราย หลังจากมีผู้พบเชื้อ “โควิด-19” ในพื้นที่ ซึ่งมาจากทหารชาวอียิปต์ ที่เดินทางมาและไม่ยอมให้ความร่วมมือในการกักตัวหรือตรวจหาเชื้อจนสร้างความโกลาหลอยู่พักใหญ่

ก็ต้องบอกว่าจากเหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อเรื่องของการท่องเที่ยวในจังหวัดระยองอย่างมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงปลดล็อก เพราะไร้ผู้ติดเชื้อมานานเกือบ 2 เดือนเต็ม จนประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในรูปแบบปกติ

หลายคนนั้นเริ่มออกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากที่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน หรืออยู่ในฐานที่มั่นของตัวเองในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจในประเทศไทยเริ่มเดินอีกครั้งเพราะคนเริ่มกลับมาใช้จ่ายกันบ้าง

แต่พอเกิดเหตุที่ระยอง ก่อผลเสียอย่างมากมาย ที่พักหลายแห่งถูกยกเลิกการจองถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็นวันหยุดยาวอย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา แทนที่จังหวัดระยองจะมีคนไปเที่ยวกันเยอะแยะ แต่กลายเป็นเงียบเหงาไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น

แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้คงต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนอีกครั้ง ทำให้ทางรัฐบาลนั้นต้องจัดทำโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดระยองอีกครั้ง

หนึ่งในนั้นคือการนำกีฬาเข้าไปสู่จังหวัดระยอง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้เกิดขึ้น

 

จริงๆ แล้ววงการกีฬาเริ่มกลับมารีสตาร์ตแข่งขันกันในแบบปิดได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้วงการกีฬากลับมาคึกคักกันอีกครั้ง หลังจากเงียบเหงาไปเป็นเวลานาน เพียงแต่การแข่งขันในรูปแบบปิดนั้นมันก็ทำให้ขาดอรรถรสในเรื่องของกองเชียร์ไปพอสมควร

ซึ่งในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในโครงการ” “Save Rayong”” นั้น เราจะได้เห็นการกลับมาจัดกีฬาแบบมีผู้ชมกันอีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั่นก็คือการแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษ จำนวน 2 นัด ที่สนามกีฬากลาง จังหวัดระยอง ในวันที่ 1 สิงหาคม

โดยจะมีการแข่งขัน 2 คู่ด้วยกัน คือ “ทีมรวมดารา” พบกับทีม “วีไอพีคณะรัฐมนตรี” ส่วนอีกคู่หนึ่ง จะเป็นเกมนัดพิเศษระหว่าง “ม้านิลมังกร” “ระยอง เอฟซี” กับ “ฉลามชล” “ชลบุรี เอฟซี”

การจัดการแข่งขันนี้แน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อหลายๆ ฝ่าย อันดับแรกเลย คือจะทำให้ได้โมเดลสำหรับการจัดการแข่งขันในรูปแบบเปิด ที่มีผู้ชมเข้าชมได้จำนวนจำกัด อันจะมีผลต่อการแข่งขันโตโยต้า ไทยลีก 2020/2021 ที่จะกลับมาลงสนามในช่วงเดือนกันยายน ขณะที่ทีมเองก็จะได้ประโยชน์ในการเตรียมตัวด้วย

เพราะถ้าหากว่าสามารถจัดการแข่งขันในรูปแบบที่มีผู้ชมเข้าสนามที่จังหวัดระยองได้ จังหวัดอื่นๆ ก็จะสามารถจัดการแข่งขันในรูปแบบเดียวกันได้เช่นกัน ด้วยคู่มือที่สามารถใช้ในแบบเดียวกันได้

“บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ถ้าหากสามารถจัดการแข่งขันในรูปแบบเปิดที่ระยองออกมาแบบไม่มีปัญหา ก็ไม่คิดว่าจะมีเหตุผลที่ทำให้จังหวัดอื่นไม่สามารถจัดแบบเปิดได้ อีกทั้งยังเป็นเรื่องดีสำหรับวงการฟุตบอลไทย และอยากให้มีการแข่งขันแบบเปิดได้เช่นเดียวกัน

 

นอกเหนือไปจากฟุตบอลแล้ว ก็ยังมีส่วนของกิจกรรมวิ่งมาราธอน ที่จะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งเคยมีรูปแบบการจัดการแข่งขันมาแล้วที่จังหวัดราชบุรี ดังนั้น นี่จะเป็นการนำมาต่อยอด เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ที่จัดกิจกรรมปั่นจักรยานทางไกล ภายใต้ชื่อ” “ปั่นปลอดภัยไประยองฮิ #RAYONGHI #TripNewNormal”” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7-8 สิงหาคม

เดิมทีกิจกรรมนี้วางเอาไว้ที่จะมีผู้ร่วมกิจกรรมวันละ 1,000 คน แต่ทว่ากลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนต้องเพิ่มจำนวนเป็นวันละ 1,500 คน และก็ยังไม่เพียงพอ เพราะว่าสุดท้ายก็มีผู้สมัครครบตามจำนวนทั้งสองวัน เพียงแต่ว่าด้วยมาตรการด้านสาธารณสุข ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว

“เสธ.หมึก” “พล.อ.เดชา เหมกระศรี” นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า ต้องขอบคุณชาวจักรยานทั่วประเทศที่ให้ความไว้วางใจและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก เสียดายที่จัดให้มีผู้เข้าร่วมได้เพียง 1,500 คนเท่านั้น

แต่ก็หวังว่าในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป จะสามารถจัดในจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่านี้ได้

 

ถ้าหากจะมองเหตุการณ์ที่ระยองเป็นวิกฤต ก็ต้องบอกว่านี่คือการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสเช่นกัน เพราะว่ากิจกรรมต่างๆ ถ้าหากสามารถจัดมันออกมาได้อย่างเรียบร้อย ไม่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสกลับมาอีกครั้ง มันก็จะเป็นการทำให้เกิดความเชื่อมั่นสำหรับจังหวัดระยอง คนจะกล้าเดินทางกลับไปเที่ยวในจังหวัดระยองกันอีกครั้ง

และในส่วนของการจัดกีฬา มันก็จะกลายเป็นต้นแบบของการจัดกีฬาในแบบที่มีผู้ชมเข้าชมได้ และอาจจะนำมาสู่การปลดล็อกในขั้นต่อไป ทำให้กีฬาในประเทศนั้นกลับมาแข่งขันในแบบมีผู้ชมได้

หลายคนอาจจะมองว่ากีฬาไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่จริงๆ แล้วกีฬาก็สามารถช่วยผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจได้ เพราะว่าเมื่อมีกีฬา มีผู้คน ก็จะก่อให้เกิดการใช้จ่ายได้ในพื้นที่นั้นๆ และก็ต้องยอมรับด้วยว่าในช่วงที่ไม่มีการแข่งขันกีฬา ก็ทำให้หลายคนตกงาน ค้าขายลำบากอยู่เช่นกัน

จริงอยู่ที่ว่าไวรัสมันยังไม่หมดไป และยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันมันได้อย่างจริงจัง แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่การปรับตัวของคนเราด้วย การจัดกีฬาในรูปแบบนิวนอร์มอลแบบนี้ มันก็เป็นทางเลือกที่ดี และทำให้ชีวิตเราสามารถเดินหน้ากันต่อไปได้

หวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะเป็นเหมือนต้นแบบที่ทำให้วงการกีฬาสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง และได้ต้อนรับแฟนกีฬากลับเข้าไปชมในสนามอีกครั้ง