SearchSri : ปัญหาเหยียดผิว เรื่องใหญ่ของโลกกีฬาที่โดนมองข้าม

การเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวดำวัย 46 ปี จากการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนีแอโปลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นำไปสู่การประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนผิวดำในหลายพื้นที่ทั่วโลก

บรรดานักกีฬาและคนในแวดวงกีฬาระดับโลกเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน ดังปรากฏว่านักกีฬาจำนวนมากต่างออกมาเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดีย หรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การคุกเข่า การสวมเสื้อที่มีข้อความให้กำลังใจ บ้างก็ลงพื้นที่จริงเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนแคมเปญ “Black Lives Matter” (BLM) ด้วยตัวเอง

แม้ว่าโดยหลักการ สังคมประชาธิปไตยในโลกตะวันตกจะให้ความสำคัญกับความ “เสมอภาค” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งมีเชื้อชาติและสีผิวเป็นตัวแบ่งแยกยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

 

เทย์เลอร์ ทาวน์เซนด์” นักเทนนิสสาวชาวอเมริกัน วัย 24 ปี มืออันดับ 73 ของโลก เล่าประสบการณ์ตรงของตัวเองว่า คนที่ไม่ค่อยตามเทนนิส พอเห็นนักหวดหญิงผิวดำ ก็จะเหมารวมหมดว่าไม่เป็น “วีนัส” หรือ “เซเรน่า วิลเลียมส์” ก็คงเป็น “สโลน สตีเฟ่นส์”

“ฉันเคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนเหล่านั้นทั้งหมด ยกเว้นตัวเอง” นี่คือความจริงที่เจ็บปวดซึ่งทาวน์เซนด์ต้องเผชิญ

ซ้ำร้ายเธอยังเคยทะเลาะกับใครคนหนึ่งที่เหมารวมว่าเธอคือ “โคโค่ กอฟฟ์” นักเทนนิสดาวรุ่งวัย 16 ปี ที่เพิ่งแจ้งเกิดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะในสายตาของอีกฝ่าย คนดำต่างก็หน้าตาเหมือนกัน รูปร่างเหมือนกันไปหมดจนแยกไม่ออก

ตัวโคโค่ กอฟฟ์เอง ถึงอายุยังน้อย แต่ก็ออกหน้าลุยด้วยตัวเอง เมื่อขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่บ้านเกิดในฟลอริดา ตั้งคำถามว่า เหตุใดเธอจึงยังต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่คุณยายของเธอเคยเรียกร้องเมื่อ 50 ปีที่แล้วอยู่อีก?

 

ไม่ใช่แค่เหตุผลทางสังคมอย่างเดียว แม้แต่ในโลกกีฬาเอง ก็ปรากฏตัวอย่างของการเหยียดผิวมาตั้งแต่อดีต

เช่น ทีมรักบี้ฟุตบอลทีมชาติแอฟริกาใต้ ซึ่งมีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่กว่าจะยอมรับนักกีฬาผิวดำเป็นตัวแทนของประเทศก็เพิ่งปี 1981 แต่เรื่องเหยียดผิวก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเรื่อยมา กระทั่งปีที่แล้วที่ทีม “สปริงบอกส์” คว้าแชมป์โลกโดยมีกัปตันทีมผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ นั่นคือ “ซียา โคลิซี่”

สำหรับวงการฟุตบอล “ราฮีม สเตอร์ลิ่ง” กองหน้าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพิ่งตั้งคำถามกับสังคมโดยเปรียบเทียบอดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษชื่อดัง 4 ราย ที่ต่างผันตัวเป็นโค้ชหลังแขวนสตั๊ด

2 รายแรกผิวขาว นั่นคือ “แฟรงก์ แลมพาร์ด” และ “สตีเฟ่น เจอร์ราร์ด” ซึ่งคนหนึ่งคุมทีมเชลซี อีกคนคุมเรนเจอร์ส และได้รับการคาดหมายว่าจะไปรับช่วงคุมลิเวอร์พูลในอนาคต

ขณะที่อีก 2 รายผิวดำ คือ “โซล แคมป์เบลล์” ที่เคยคุมทีมลีกล่าง 2 ครั้ง กับ “แอชลีย์ โคล” ซึ่งคุมทีมยู-15 ของเชลซี

ไม่ใช่แค่ตัวอย่างข้างต้น สเตอร์ลิ่งบอกว่า จำนวนสต๊าฟโค้ชที่เป็นคนผิวดำ คนเชื้อสายเอเชีย หรือเชื้อชาติกลุ่มน้อยในสังคมอื่นๆ น้อยนิดมากๆ เมื่อเทียบกับโค้ชผิวขาว ทั้งที่พรีเมียร์ลีกในปัจจุบันมีนักเตะผิวดำถึงราว 1 ใน 3

 

การที่สังคมตื่นตัวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของเชื้อชาติและสีผิวโดยรวมนับเป็นเรื่องดี แต่กับวงการกีฬาในหลายๆ ส่วนนั้น หากลงลึกในรายละเอียดจะพบตัวอย่างของปัญหามากมายที่เริ่มกลายเป็นความคุ้นชินและปราศจากการตั้งคำถาม

เรียกว่ายังมีเส้นทางอีกยาวไกล หากหวังจะแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเสมอภาคอย่างแท้จริง

แต่อย่างน้อยการได้เริ่มต้นนับหนึ่งก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีแล้ว

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่