เด็กเก็บบอล : “ไทยลีก” กับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ การโยนเหรียญที่ไม่รู้จะหัวหรือก้อย?

ผลพวงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลไทยครั้งใหญ่

จากการประชุมของ “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ” และบรรดาสโมสรสมาชิกในไทยลีก 1 และไทยลีก 2 ได้ข้อสรุปออกมาว่า จะมีการปรับปฏิทินของวงการฟุตบอลไทยเสียใหม่ ให้เหมือนกับทวีปยุโรป

เดิมทีนั้นฟุตบอลลีกไทยจะแข่งขันกันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนตุลาคม แต่ปฏิทินใหม่นั้นจะเป็นการแข่งขันระหว่างเดือนกันยายน ไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของอีกปี

นอกจากนี้ จากการแข่งขันในฤดูกาลนี้ที่ลงแข่งขันไปเพียง 4 นัด และหยุดไปตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ซึ่งจากการปรับปฏิทินใหม่ ก็จะทำให้เกมนัดที่ 5 เป็นต้นไป จะไปเริ่มกันในเดือนกันยายน

 

การปรับปฏิทินเช่นนี้ จะช่วยคลายปมปัญหาได้อย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องของข้อจำกัดที่ผ่านมาจะต้องเล่นให้จบอย่างน้อยภายในปีเดียวถูกลบออกไป ไม่เช่นนั้นถ้าไม่ปรับปฏิทิน ก็เท่ากับว่าสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะต้องตัดฟุตบอลถ้วยบางรายการออก ก็จะเกิดปัญหากับสปอนเซอร์ได้ด้วย

อีกสาเหตุหนึ่งของการเล่นใหญ่ปรับปฏิทินการแข่งขันเช่นนี้ ก็เพราะว่าที่ผ่านมา ฟุตบอลไทยจะต้องเล่นผ่านช่วงฤดูฝนกันมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ถือว่าเป็นช่วงที่ฝนตกอย่างหนักมาก หลายต่อหลายครั้งการแข่งขันต้องทำกันในตอนที่ฝนตกอย่างหนัก หรือขั้นหนักก็คือต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป

ดังนั้น การเลื่อนการแข่งขันออกไปถึงเดือนกันยายน ก็จะทำให้พ้นช่วงที่ฝนตกหนักไปได้

ข้อดีคือการทำให้ฟุตบอลของไทยได้ลงแข่งขันกันในสภาพสนามที่สมบูรณ์ ก็จะทวีความสนุกในสนามได้มากขึ้น อีกทั้งแฟนบอลเองก็จะได้เข้าไปชมเกมในสนามกันมากขึ้น ไม่ต้องหลบฝนกันอย่างจ้าละหวั่น อีกทั้งช่วงที่อากาศดีที่สุดอย่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ก็จะได้เข้าไปชมฟุตบอลท่ามกลางอากาศที่เย็นสดชื่นอีกด้วย

ว่ากันด้วยข้อดีอีกข้อ คือการปรับตลาดซื้อขายให้ใกล้เคียงกับช่วงยุโรป ก็จะทำให้มีโอกาสจะทำให้ฟุตบอลไทยลีก สามารถดึงผู้เล่นต่างชาติจากโซนยุโรปเข้ามาเล่นในเมืองไทยได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่เลยของการปรับปฏิทินในครั้งนี้ ก็คือเรื่องของไทม์ไลน์การแข่งขันต่างๆ เพราะเดิมทีนั้นปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลไทย อิงกับปฏิทินการแข่งขันของ “สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย” (เอเอฟซี) และ “สหพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียน” (เอเอฟเอฟ) ดังนั้นเมื่อปรับใหม่ ก็จะส่งผลกับการแข่งขันรายการต่างๆ ที่ทั้งสององค์กรดูแล

ทั้งการแข่งขันระดับอาเซียนอย่างกีฬา “ซีเกมส์” ที่มักจะทำการแข่งขันในช่วงปลายปี ใกล้เคียงกับ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ” ซึ่งทั้งสองรายการนี้ไม่ได้ตรงกับช่วงฟีฟ่าเดย์ ก็จะทำให้แต่ละสโมสรสามารถเลือกที่จะไม่ปล่อยผู้เล่นให้กับทีมชาติไทยได้ ถึงแม้ว่าสมาคมฟุตบอลฯ จะวางโปรแกรมให้เป็นช่วงว่างในเวลานั้นก็ตาม

หรือรายการใหญ่อย่าง “เอเชี่ยนคัพ” ซึ่งมันเป็นทัวร์นาเมนต์สำคัญระดับทวีป แข่งขันกันในช่วงต้นปี ซึ่งตามหลักส่วนใหญ่นั้นจะเป็นช่วงปิดฤดูกาลของลีกในเอเชียแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ชาติอื่นจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับประเทศไทย ถ้าปรับเปลี่ยน ก็จะต้องมาวางโปรแกรมให้ว่างในช่วงดังกล่าว ซึ่งอาจจะกินเวลามากกว่า 1 เดือน ก็นับว่าเป็นปัญหาไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม กว่าจะไปถึงตอนนั้น มันก็ยังมีปัญหาอีกมากที่ต้องแก้ไขกันไปกว่าจะถึงตรงนั้น

 

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดเลยก็คือเรื่องของช่วงระยะเวลาเกือบ 5 เดือนกว่าจะถึงเดือนกันยายน แต่ละสโมสรก็จะขาดแคลนในเรื่องของรายได้ที่เข้ามา เพราะว่าไม่มีฟุตบอลลงเล่น ไม่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอล เรียกได้ว่าทั้งรายได้ทางตรง-ทางอ้อม จะไม่มีเข้ามาเลยในช่วงนี้

แต่ทว่าเรื่องของสัญญานักเตะทุกคนยังคงมีอยู่กับทีม ก็เท่ากับว่าจะต้องจ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะตามปกติ แม้ว่าจะไม่มีฟุตบอลลงเล่น ไม่มีรายได้เข้ามาก็ตาม

ดังนั้น จะได้เห็นการหาทางออกของแต่ละสโมสร ซึ่งจะต้องไปคุยกับนักเตะเพื่อทำการปรับสัญญาในช่วง 5 เดือนนี้ อาจจะเป็นการลดเงินเดือนของนักฟุตบอลในช่วงนี้ หรืออาจจะพักสัญญาเอาไว้ก่อน ไม่มีการจ่ายเงินเดือน เพื่อพยุงสภาพการเงินของสโมสร

ขณะเดียวกันสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็เปิดช่องให้กับสโมสรเหล่านี้ ด้วยการเปิดให้มีการลงทะเบียนนักเตะใหม่ทั้งหมด ก่อนที่ฟุตบอลจะกลับมาลงสนามอีกครั้งในเดือนกันยายน เรียกได้ว่าอาจจะมีบางทีมนั้นปรับทีมกันแบบยกทีมเลยก็สามารถทำได้

ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มจะมีทีมดำเนินการหาทางเอาตัวรอดในช่วงนี้ ด้วยการยกสัญญากับนักเตะทั้งทีม จ่ายค่าชดเชย 1 เดือน เพื่อจะได้ลดภาระค่าใช้จ่ายในเดือนอื่นๆ แล้วรอใกล้ๆ ค่อยให้นักเตะเหล่านี้เข้ามาเจรจาสัญญาใหม่ กลับเข้ามาสู่ทีม

ในมุมมองสโมสรอาจจะมองว่า ก็ในเมื่อไม่มีรายได้ ฟุตบอลจะซ้อมก็ซ้อมไม่ได้ ดังนั้น การปลดเปลื้องภาระตรงนี้ออกไป ก็จะทำให้สโมสรอยู่ได้ แต่ในมุมมองนักเตะ ก็สามารถมองได้ว่าพวกเขาเหมือนโดนปล่อยให้ลอยแพ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่มีฟุตบอลลงเตะ แถมยังกลายเป็นไร้สังกัดไปอีก

เรื่องแบบนี้คงมองยากว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ฝ่ายสโมสรอาจจะมองว่าถ้าหากว่าสโมสรล้ม ไม่มีทีมให้นักเตะเล่นก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ต้องพยายามทำให้สโมสรไปรอดในช่วงยากลำบากเช่นนี้ แต่นักฟุตบอลเองก็อยากให้ตัวเองยังมีสังกัดอยู่ จะเป็นการลดค่าเหนื่อย หรือพักการจ่าย ก็คงจะดีกว่าลอยแพแบบนี้

 

ต้องบอกเลยว่า นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลไทย เราอาจจะได้เห็นทีมที่แข็งแกร่ง สามารถเอาตัวรอดไปในช่วงเวลานี้ได้ หรือได้เห็นทีมเล็กๆ ล้มหายตายจากกันไปตามๆ กัน

ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตารางการแข่งขัน ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามหลังมาให้แก้กันอย่างไม่หยุดไม่หย่อนอีก

นี่คือสิ่งที่จะต้องจับตามองกันต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเกิดผลดีและผลเสียมากน้อยแค่ไหน วงการฟุตบอลของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป จะสามารถเรียกกระแสกลับมาได้หรือไม่ เพราะจริงๆ ช่วง 4 นัดแรกก็ถือว่ามีบรรยากาศที่ดีกลับมาอยู่ไม่น้อย

ในส่วนของแฟนบอลนั้น ช่วงนี้ก็คงจะต้องทนเหงาๆ ไปก่อน เพราะไม่มีฟุตบอลให้ชมให้เชียร์กัน

ก็ได้แต่หวังว่ามันจะกลับมาสร้างความสุขให้เราได้อีกครั้ง สมกับที่รอคอยมานานนะ