SearchSri : โควิดกับปัญหาเงินๆ ทองๆ

ในภาวะวิกฤตโรคระบาดซึ่งทั่วโลกกำลังเผชิญในขณะนี้ หลายคนบอกว่าได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับนิสัยหรือทัศนคติของบรรดาคนดังของวงการต่างๆ ที่ปกติจะได้แค่เห็นจากข่าว หรือติดตามจากผลงานผ่านสื่อต่างๆ เท่านั้น

“โควิด-19” ทำให้เห็นถึงความเสียสละ ความรับผิดชอบ (หรือไร้ความรับผิดชอบ) ต่อสังคมของคนดัง ความใส่ใจในปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญว่าจริงจังขนาดไหน

สำหรับวงการลูกหนังที่หยุดชะงักไปเกือบทั่วโลกนั้น กลายเป็นว่าประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการตั้งคำถามว่าบอลลีกโดยเฉพาะในยุโรปจะได้กลับมาเตะกันเมื่อใด

เห็นจะไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ นี่เอง

 

เมื่อเกมลูกหนังทั้งบอลลีกและบอลถ้วยต้องหยุดชะงักไปเพราะไวรัส ทำให้หลายสโมสรประสบปัญหาการเงิน มีการประเมินว่า ทีมเล็กๆ หรือทีมจากลีกรองๆ เสี่ยงที่จะขาดทุนมหาศาลถ้าไม่สามารถกลับมาเตะตามโปรแกรมที่เหลือ จนอาจเสี่ยงถึงขั้นล้มละลายได้

เพราะเมื่อไม่มีบอลเตะ ทีมต่างๆ ย่อมไม่มีรายได้จากการขายตั๋วเข้าชม จากการขายสินค้า และจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอด ฯลฯ

ไหนจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้ทั้งนักเตะ สต๊าฟโค้ช และเจ้าหน้าที่ ทั้งที่บางคนไม่มีงานให้ทำเป็นชิ้นเป็นอัน

บางสโมสรในพรีเมียร์ลีกเสียรังวัดไปพอสมควร หลังจากตัดสินใจเข้าโครงการรัฐ ให้รัฐช่วยรับผิดชอบค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ซึ่งโดนพักงานช่วงไม่มีบอลเตะ 80 เปอร์เซ็นต์ (แต่ไม่เกินเดือนละ 2,500 ปอนด์ หรือ 200,000 บาท) ขณะที่สโมสรออก 20 เปอร์เซ็นต์

ที่โดนหนักสุดคือ “ลิเวอร์พูล” ซึ่งโดนทั้งแฟนบอลตัวเองและตำนานสโมสรออกมารุมจวก เนื่องจากเป็นทีมใหญ่ ทำเงินมหาศาลในแต่ละปี แต่กลับขี้เหนียวในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ทั้งที่รัฐควรจะได้นำเงินภาษีไปใช้ด้านสาธารณสุขหรือสำหรับคนที่เดือดร้อนจริงๆ มากกว่า

สุดท้ายหงส์แดงจึงต้องออกแถลงการณ์ขอโทษและกลับลำไม่เข้าโครงการรัฐ ก่อนที่ “ท็อตแนม ฮอตสเปอร์” และ”บอร์นมัธ” (ที่ต่างโดนวิจารณ์เช่นกันแต่ไม่หนักเท่า) ก็เปลี่ยนแปลงนโยบายตามหลัง

 

อีกประเด็นที่ยังคาราคาซังและยังถกกันไม่หยุด คือเรื่องการลดค่าเหนื่อยของนักเตะพรีเมียร์ลีกหลังจากรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขออกมาเปิดประเด็นด้วยการเรียกร้องให้นักเตะพรีเมียร์ “ทำหน้าที่ของตัวเอง” ในการช่วยสู้กับไวรัส

เป็นการสื่อเป็นนัยๆ ให้แข้งพรีเมียร์สละค่าเหนื่อยช่วยสังคม

ปรากฏว่าหลังจากนั้นแป๊บเดียว ทั้งนักเตะปัจจุบัน อดีตนักเตะ (อาทิ “เวย์น รูนีย์”) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ (พีเอฟเอ)” ต่างออกมาตอบโต้ความเห็นของ รมต.อย่างมีอารมณ์

ส่วนใหญ่จะพูดคล้ายๆ กันว่า นักบอลเหมือนเป็นเป้านิ่งให้คนเอามาวิจารณ์ผ่านสื่อ ทั้งที่ถ้าจะโดนตั้งคำถาม ก็ควรมีอีกหลายอาชีพที่โดน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือเซเลบกลุ่มอื่น

ที่ผ่านมานักเตะหลายคนต่างก็ช่วยสู้กับโควิดในแบบของตัวเอง เช่น บางคนร่วมมือกับองค์กรการกุศลส่วนท้องถิ่น ระดมทุนช่วยบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ด้อยโอกาส บ้างก็บริจาคเงิน

บ้างก็เปิดอพาร์ตเมนต์หรือโรงแรมส่วนตัวให้แพทย์ พยาบาลพักฟรี

 

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ที่ดูจะใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งของฝั่งนักเตะ โดยเฉพาะองค์กรอย่างพีเอฟเอ ทำให้บางคนอดตั้งคำถามถึงความ “จริงใจ” ในการทำเพื่อสังคมของแข้งพรีเมียร์ไม่ได้

ฤดูกาลที่แล้ว มีการสำรวจรายได้นักเตะ พบว่าค่าเหนื่อยเฉลี่ยที่แข้งพรีเมียร์ได้รับสูงถึง 3 ล้านปอนด์ (120 ล้านบาท) เป็นคนละเรื่องกับค่าจ้างเฉลี่ยของสหราชอาณาจักรที่ตกหัวละ 29,559 ปอนด์ (1.18 ล้านบาท)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนทั่วไปอาจตั้งคำถามว่า นักเตะควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่?

หลังโดนกระแสกดดันจากรอบข้าง นักเตะพรีเมียร์ นำโดย “จอร์แดน เฮนเดอร์สัน” กัปตันทีมลิเวอร์พูล จึงรวบรวมเงินบริจาคบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสู้กับโควิด

 

ขณะที่ประเด็นเรื่องที่ทางลีกพยายามเจรจาให้นักเตะลดค่าเหนื่อยลง 30 เปอร์เซ็นต์ (ต่อมาต่อรองเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์) ในช่วง 2-3 เดือนที่ไม่มีบอลเตะ

ปรากฏว่าเรื่องนี้ตกลงกันไม่ได้ และแว่วว่านักเตะหลายคนก็ไม่เห็นด้วยที่จะทำเช่นนั้น

สื่อวิเคราะห์ว่าที่ทั้งนักเตะและพีเอฟเอไม่ค่อยแฮปปี้กับเรื่องนี้ เพราะไม่ไว้ใจผู้บริหารสโมสร สิ่งที่พีเอฟเอพยายามจะสื่อคือ ถ้าเงินที่ถูกหัก ได้เอาไปใช้ในการสนับสนุนด้านสาธารณสุขจริง ก็ยินดีที่จะให้หัก

สิ่งที่พีเอฟเอไม่ได้พูด แต่สื่อตีความก็คือ ฝั่งผู้เล่นไม่ไว้ใจสโมสรนัก มองว่าเจ้าของทีมเอาเงินเป็นที่ตั้ง ให้นักเตะต้องมาช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องงบดุลบัญชี ทั้งที่ตัวเองก็ช่วยให้สโมสรมีรายได้มากมายมาตลอด

แต่เรื่องนี้ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า ในสถานการณ์เดียวกัน นักเตะชั้นนำของโลก อาทิ “ลิโอเนล เมสซี่, คริสเตียโน่ โรนัลโด้” รวมถึงทีมในลีกใหญ่อย่างลาลีก้า บุนเดสลีก้า และกัลโช่ เซเรียอา ต่างยินยอมพร้อมใจให้ต้นสังกัดหักเงิน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระสโมสร ให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

แล้วทำไมนักเตะพรีเมียร์ลีกถึงทำไม่ได้บ้าง?

กลายเป็นคำถามจี้ใจที่คงไม่มีคำตอบที่ถูกใจเพราะเวลาผ่านมาเนิ่นนานเกินไปแล้ว