พิศณุ นิลกลัด : จะเป็นยอดนักเทนนิส ต้องเก่ง 2 อย่าง

พิศณุ นิลกลัด

การแข่งขันเทนนิส French Open 2019 แกรนด์สแลมรายการที่ 2 ของปีนี้ จะเริ่มในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม ไปถึงวันที่ 9 มิถุนายน

French Open เป็นการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมรายการเดียวที่กรรมการผู้ตัดสินขานลูกเป็นภาษาฝรั่งเศส และพิธีการต่างๆ ใช้ภาษาฝรั่งเศส

แม้ว่าเทนนิสจะเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยม แข่งขันทั่วโลก แต่ก็ยังเป็นกีฬาที่เน้นใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในแทบทุกรายการ

อย่าง 4 รายการแกรนด์สแลมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 3 รายการจัดแข่งในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ได้แก่ Australian Open, Wimbledon และ US Open พิธีการทุกอย่างทั้งก่อน ระหว่าง และหลังแข่งขัน ล้วนเป็นภาษาอังกฤษ

รวมทั้งตอนสัมภาษณ์บนคอร์ตหลังแข่งจบ ไม่ว่านักเทนนิสมาจากประเทศไหนก็สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ

ดังนั้น นักเทนนิสจึงควรเข้าใจและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับที่คนอื่นสามารถเข้าใจ

 

ชอง ฮยอน (Chung Hyeon) นักเทนนิสชาวเกาหลีใต้ วัย 23 ปี ปัจจุบันเป็นมืออันดับ 156 ซึ่งเคยมีอันดับโลกดีถึงอันดับที่ 19 หลังจากทำผลงานยอดเยี่ยมในรายการออสเตรเลียน โอเพ่น 2018 เอาชนะโนวัค โจโควิช (Novak Djokovic) ในรอบที่ 4 สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเทนนิสคนแรกของเกาหลีใต้ที่สามารถผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมได้สำเร็จ ก่อนจะแพ้รอเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) ในรอบ 4 คนสุดท้าย

ชองมีความตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษมาก เขาบอกว่าทุกวันเขาฝึกพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนๆ ตลอดทั้งวัน ทั้งนี้เพื่อขัดเกลาภาษาเวลาต้องให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ และเพื่อให้เคยชินกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ซึ่งฟังจากตอนที่เขาให้สัมภาษณ์ ชองก็สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างไม่เคอะเขิน

เบน แครนเดลล์ (Ben Crandell) เจ้าหน้าที่ของ IMG ซึ่งเป็นผู้จัดการของชอง ฮยอน บอกว่า ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับนักเทนนิส ไม่ว่าจะวัยไหนก็ตามที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่

และทุกการสัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันเทนนิสจะต้องใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งนักเทนนิสจะต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้

ดังนั้น การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ในส่วนของการเรียนภาษาอังกฤษ ทางสมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง (WTA) และสมาคมนักเทนนิสอาชีพชาย (ATP) ไม่ได้มีการเปิดอบรมภาษาอังกฤษให้กับนักเทนนิส ดังนั้น ใครอยากพัฒนาภาษาอังกฤษก็ต้องขวนขวายเรียนกันเอาเอง

ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเรียนแบบติวเข้มในด้านการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นหลัก

บ่อยครั้งทางทีมงานจัดแข่งขันแต่ละรายการจะเป็นคนช่วยเก็งประเด็นที่นักข่าวน่าจะยกขึ้นมาถามตอนสัมภาษณ์ ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของนักเทนนิสว่าจะรับมือตอบสัมภาษณ์นักข่าวได้ดีแค่ไหน

 

นักเทนนิสหลายคนพอเริ่มมีชื่อเสียงก็หันมาให้ความสำคัญกับการฝึกฝนภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะการเข้าใจภาษาอังกฤษนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นแล้ว

ยังช่วยเปิดโอกาสในการขยายฐานสปอนเซอร์และโฆษณาให้กับตัวนักเทนนิสเองด้วย

ซิโมน่า ฮาเล็ป (Simona Halep) นักเทนนิสหญิงมืออันดับ 3 ของโลก วัย 27 ปี ชาวโรมาเนีย แชมป์ French Open 2018 เริ่มหันมาอ่านหนังสือนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ภาคภาษาอังกฤษ และฝึกสนทนาภาษาอังกฤษกับโค้ชหลังจากในปี 2013 เธอทำผลงานยอดเยี่ยมจนอันดับโลกพุ่งขึ้นจากที่ 47 ของโลกเป็นอันดับที่ 11 ของโลกภายในปีเดียว

การ์บีนเญ่ มูกูรูซา (Garbi?e Muguruza) นักเทนนิสหญิงชาวสเปน วัย 25 ปี มืออันดับ 19 ของโลกชาวสเปน แชมป์ French Open 2016 และ Wimbledon 2017 เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือสอนภาษาอังกฤษ

เธอบอกว่า การรู้ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเวลาคนอื่นเข้าใจสิ่งที่เราพูดออกมา และเราสามารถหาคำศัพท์มาใช้ได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น ก็จะเป็นเรื่องดีต่อตัวเราและคนอื่นๆ ที่รับสารต่อจากเรา

เบลินดา เบนชิช (Belinda Bencic) นักเทนนิสหญิงดาวรุ่งชาวสวิตเซอร์แลนด์ วัย 22 ปี มืออันดับ 15 ของโลก บอกว่าความรู้ด้านภาษาอังกฤษของเธอส่วนใหญ่มาจากการนั่งดูรายการทีวีที่เป็นภาษาอังกฤษ และจากการดูภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษ หนังเรื่องที่เธอโปรดปรานมากที่สุดคือไททานิก (Titanic)

เคธี่ สเปลล์แมน (Katie Spellman) นักประชาสัมพันธ์ของเปตรา ควิโตวา (Petra Kvitov?) นักเทนนิสหญิงชาวเช็ก วัย 29 ปี มืออันดับ 6 ของโลก บอกว่าตั้งแต่ที่เธอเข้ามาร่วมงานกับเปตราในปี 2012 การพัฒนาความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้แก่แชมป์ Wimbledon 2 สมัย (2011 และ 2014) ถือเป็นหนึ่งในงานหลักของเธอเลย

เธอจะเป็นคนคอยกระตุ้นให้เปตราอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเยอะๆ เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็ก เช่น The Wind in the Willows และ The Secret Garden ซึ่งเปตราก็จะพกหนังสือเหล่านี้ติดตัวไปอ่านเวลาเดินทางไปแข่งเทนนิสรายการต่างๆ ทั่วโลกด้วย

 

เคธี่บอกว่า ภาษาอังกฤษได้ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของเปตราไปอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในด้านการรับมือกับสื่อมวลชน แต่ยังรวมไปถึงด้านการเข้าสังคมเวลาเดินทางไปแข่งขันยังที่ต่างๆ ทั้งการสนทนากับทีมจัดแข่งขัน และสนทนากับเพื่อนร่วมอาชีพเทนนิสคนอื่นๆ

เปตราบอกกับเคธี่อยู่เสมอว่า การรู้ภาษาอังกฤษทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลายอย่างมาก

ตอนนี้เปตราได้กลายเป็นคนที่ชอบให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาก

หลังสัมภาษณ์เสร็จเธอก็จะเข้ามาบอกกับเคธี่อยู่บ่อยๆ ว่าการสัมภาษณ์นี้สนุกจริงๆ

เคธี่ฟังแล้วก็รู้สึกชื่นใจ

 

การเป็นนักเทนนิสอาชีพ มีแค่ฝีมืออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษาอังกฤษด้วยจึงจะสามารถยืนหยัดและเติบโตในวงการเทนนิสได้ในระยะยาวทั้งในและนอกคอร์ต

นักเทนนิสระดับโลกอย่างเฟเดอเรอร์พูดได้ถึง 7 ภาษา โดยภาษาแม่คือสวิส-เยอรมัน ภาษาที่พูดได้คล่องมากคือ อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ส่วนอีก 3 ภาษาที่พูดได้บ้างคือ สวีดิช สเปน และอิตาเลียน

เฟเดอเรอร์เป็นคนที่ตอบคำถามหลังชนะการแข่งขันได้น่าฟังมาก หยอดมุขขำๆ สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมในสนามแข่งอยู่เสมอ

เวลาแข่ง French Open เขาก็ตอบคำถามทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ หรืออยู่ในห้องสื่อมวลชน เขาก็ตอบคำถามต่างๆ จากบรรดาผู้สื่อข่าวได้หลายภาษา ขึ้นอยู่กับว่านักข่าวจะถามเป็นภาษาอะไร

เขาแนะนำนักเทนนิสรุ่นน้องว่า เวลาตอบคำถามนักข่าวไม่ควรตอบแบบหุ่นยนต์ ควรผ่อนคลาย อย่ากลัวว่าจะพูดอังกฤษผิด อย่าตอบแค่ว่าตีแบ๊กแฮนด์ โฟร์แฮนด์ยังไง เสิร์ฟดีมั้ย

เฟเดอเรอร์บอกว่า เวลาตอบคำถามนักข่าว เขาจะมองว่านักข่าวเปรียบเหมือนสะพานที่ช่วยนำสิ่งที่เขาตอบไปสู่คนที่อ่านข่าวหรือชมโทรทัศน์ และรู้สึกว่าเทนนิสเป็นกีฬาที่น่าสนใจ