“ค่าจ้าง” ฟุตบอลหญิง vs ฟุตบอลชาย ช่องว่างที่ไม่มีวันบรรจบ


นักฟุตบอลอาชีพใน “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” ได้รับรายได้มหาศาลมาพักใหญ่

ไม่ใช่แค่ค่าจ้างจากสโมสร แต่ยังได้ค่าภาพลักษณ์ เงินจากสปอนเซอร์ และการออกอีเวนต์ต่างๆ ถึงแม้ว่าจะบาดเจ็บไม่สามารถลงเล่นได้ก็ยังได้รับเงินค่าจ้าง อาจจะเต็มจำนวนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าในสัญญานั้นระบุว่าอย่างไร

แต่ก็ยังถือว่าเป็นเงินที่น้อยคนจะหาได้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีความแตกต่างระหว่างนักฟุตบอลชายและนักฟุตบอลหญิง โดยเฉพาะในเรื่องของค่าจ้าง เพราะผู้ชายจะได้รับค่าเหนื่อยมากกว่าหลายเท่า “อเล็กซิส ซานเชซ” นักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้รับประมาณ 500,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 21 ล้านบาทต่อสัปดาห์

หรือนักเตะในทีมเล็กๆ ของพรีเมียร์ลีก ก็อยู่ที่ 20,000-30,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือ 840,000-1,260,000 บาท

เมื่อเทียบกับรายได้ของนักเตะหญิงแล้วจะอยู่ที่เฉลี่ย 35,000 ปอนด์ต่อปี หรือ 1,470,000 ล้านบาท น้อยกว่าที่ผู้ชายได้รับ 1 สัปดาห์เสียอีก

สําหรับค่าเหนื่อยของนักฟุตบอลหญิงได้มีการปรับให้มากขึ้นไปแล้ว หลังจากที่ “สมาคมฟุตบอลอังกฤษ” (เอฟเอ) ได้มีการยกระดับการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกหญิง เป็นฟุตบอล “วีเมนส์ ซูเปอร์ลีก” ซึ่งจะเป็นลีกฟุตบอลหญิงอาชีพโดยแท้ หลังจากที่เป็นลีกกึ่งอาชีพมาอย่างยาวนาน

โดยก่อนหน้าที่เป็นแค่ลีกกึ่งอาชีพ มีรายงานว่าแข้งสาวของ “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” และ “เชลซี” ได้รับค่าเหนื่อย 5,000-10,000 ปอนด์ต่อปี (210,000-420,000 บาท) เท่านั้น

แต่เมื่อเป็นลีกอาชีพเต็มตัว “สเตป ฮอจตัน” กัปตันทีมชาติอังกฤษและกัปตันแมนฯ ซิตี้ทีมหญิงได้รับค่าเหนื่อยไปแล้ว 65,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ก่อนการหักภาษี ถือว่าเป็นก้าวกระโดดที่ไกลมากของฟุตบอลลีกหญิงอังกฤษ

แต่น้อยรายที่จะได้รับค่าจ้างระดับนี้ สำหรับนักเตะสาวทีมชาติอังกฤษจะมีสัญญากลางกับเอฟเอ และจะได้รับค่าจ้างจากสัญญานี้อีก 25,000 ปอนด์ต่อปี

อาจจะเพิ่มมากขึ้นซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนนัดที่ลงเล่นให้กับทีมชาติในปีนั้นๆ ด้วย

ไม่ใช่แค่ความต่างของเงินค่าจ้าง แต่กฎที่รับรองและดูแลนักเตะแต่ละเพศในช่วงที่มีอาการบาดเจ็บก็ไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก

อาการเจ็บจากเอ็นฉีกเป็นเรื่องปกติของนักฟุตบอล

มีการนำเคสของ “อิลคาย กุนโดกัน” มิดฟิลด์แมนฯ ซิตี้มาเป็นตัวอย่าง เพราะกุนโดกันได้รับบาดเจ็บยาวหลายครั้ง แต่ก็ได้รับค่าเหนื่อยเต็มจำนวนตลอดที่พักรักษาตัว โดยไม่ต้องกังวล

แต่ในรายของนักฟุตบอลหญิง มีกฎของวีเมนส์ ซูเปอร์ลีก ที่ว่า ถ้านักเตะหญิงคนใดที่บาดเจ็บและไม่สามารถฝึกซ้อมหรือลงเล่นได้ติดต่อกัน 3 เดือน สโมสรมีสิทธิจะยกเลิกสัญญาได้ทันที

ทำให้นักเตะสาวพยายามหลีกเลี่ยงอาการเจ็บเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ฟุตบอลชายก็มีกฎในลักษณะเดียวกัน แต่ยืดระยะเวลาที่ไม่สามารถลงซ้อมหรือลงเตะได้นานถึง 18 เดือน

หรือมากกว่าผู้หญิง 6 เท่าเลยทีเดียว

สำหรับแข้งสาวที่ได้รับบาดเจ็บยาวจะได้สิทธิให้อยู่กับสโมสรเดิมต่อไปได้ ถ้าสโมสรไม่ยกเลิกสัญญา กฎหมายระบุว่า จะได้รับเงินค่าจ้างเต็มจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาได้ 6 เดือน หลังจากนั้นจะได้รับเงินชดเชยจากอาการบาดเจ็บตามกฎหมายเท่านั้น

ประเด็นนี้นักเตะผู้ชายก็ยังคงได้เปรียบ เพราะจะได้รับเงินค่าจ้างเต็มจำนวนต่อไปจนครบ 18 เดือนตามสัญญา

และถ้าเกิน 18 เดือน แต่สัญญายังไม่หมด จะได้รับค่าจ้างลดลงครึ่งหนึ่ง

เรื่องทั้งหมดถูกวิจารณ์ว่าเอฟเอเลือกปฏิบัติและไม่ให้ความเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ ซึ่งเอฟเอก็ออกมาตอบว่า เป็นการจัดระเบียบตามขั้นพีระมิดของฟุตบอลหญิงอยู่แล้ว แต่ในปีหน้าจะมีการตั้งคณะที่ปรึกษาฟุตบอลหญิงของอังกฤษ เพื่อมาช่วยพิจารณาความเหมาะสมของสัญญาต่างๆ อีกขั้นหนึ่ง

การที่ฟุตบอลลีกสูงสุดของฝ่ายหญิงในอังกฤษถูกยกระดับมาเป็นวีเมนส์ ซูเปอร์ลีก เพราะเหตุผลที่ว่า ฟุตบอลหญิงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น หลายสโมสรมีการตั้งทีมหญิงเพิ่มจากเดิมที่มีแต่ทีมชาย

แต่ถ้ามองกันในแง่รายได้ที่ฟุตบอลหญิงกับฟุตบอลชายสร้างให้กับสโมสรแล้ว คงไม่มีกล้าปฏิเสธว่า ฟุตบอลชายเรียกได้ทั้งความสนใจจากคนทั่วโลกและเม็ดเงินจากทั้งค่าลิขสิทธิ์และสปอนเซอร์แบบที่ของผู้หญิงยากมากที่จะทำได้ในลักษณะเดียวกัน

ดูง่ายๆ แค่ฟุตบอลโลกกับฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกที่จัดโดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เหมือนกัน ยังมีมูลค่าและคุณค่าต่างกันมาก ซึ่งฟีฟ่าก็ยังหาทางทำให้ช่องว่างของทัวร์นาเมนต์ขยับเข้าใกล้กันไม่ได้

แต่สุดท้าย เงินมหาศาลของนักฟุตบอลชาย ก็ต้องอยู่ในกำมือของภรรยาอยู่ดี