ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ รายได้มหาศาล vs ความสำคัญของแฟนบอล

“พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” เป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดลีกหนึ่งของโลก

บางครั้งอาจจะมีการถกเถียงกันว่าฟุตบอลลีกไหนดูสนุกกว่ากัน

เรื่องนี้แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน เพราะฟุตบอลของแต่ละประเทศมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยากจะเลียนแบบ

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองถึงเรื่องของรายได้ต่างๆ พรีเมียร์ลีกถือเป็นลีกที่อู้ฟู่ที่สุดในโลก

เพราะลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดและรายได้ด้านต่างๆ ที่เข้ามาทำให้หลายสโมสรสามารถปิดสนามเล่น โดยที่ยังได้กำไรอยู่ด้วยซ้ำ

ฤดูกาล 2016-2017 พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทำรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไปทั่วโลกที่ 8,300 ล้านปอนด์ หรือกว่า 350,000 ล้านบาท

ทั้งๆ ที่เมื่อปี 2012 ยังมีรายได้เพียง 3,018 ล้านปอนด์เท่านั้น ถือเป็นการก้าวกระโดดที่มหาศาลในระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น

“ดร.ร็อบ วิลสัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจกีฬาของมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลาม ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ตอนนี้สโมสรทั้ง 20 สโมสรในลีกสูงสุดในอังกฤษ เน้นรายได้ด้านลิขสิทธิ์มากกว่ายอดขายตั๋วเข้าชมเกมในสนามแล้ว

เมื่อแต่ละทีมได้รับรายได้จากลิขสิทธิ์ 120 ล้านปอนด์ต่อปี (5,160 ล้านบาท) สามารถเล่นในสนามเปล่าๆ ไม่ต้องให้คนเข้ามาดูก็ยังมีกำไร

เมื่อพิจารณาจากรายได้ของทุกทีมในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016-2017 บอร์นมัธเป็นทีมที่สนามเหย้ามีความจุน้อยที่สุดเพียง 11,450 ที่นั่ง เก็บค่าบัตรเข้าชมได้ 5.2 ล้านปอนด์ (223 ล้านบาท) แต่มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ 136.5 ล้านปอนด์ (5,870 ล้านบาท) มากกว่าค่าบัตรเข้าชมกว่า 20 เท่า

เมื่อรายได้มหาศาลที่ไม่ได้มาจากฐานแฟนบอลท้องถิ่นหรือแฟนบอลที่เข้ามาชมเกมในสนาม ทำให้มีการตั้งคำถาม แฟนพันธุ์แท้ของแต่ละทีมจะด้อยความสำคัญลงหรือไม่?

“มัลคอล์ม คลาร์ก” ประธานสหพันธ์แฟนบอลของอังกฤษ แสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า นักเตะและผู้จัดการเข้ามาทำหน้าที่ตัวเองแล้วก็จากไป แต่แฟนบอลจะอยู่กับทีมตลอดไป ซึ่งการถ่ายทอดสดไม่ได้ขายเพียงเกมเตะในสนามเท่านั้น แต่ยังขายบรรยากาศ เสียงเชียร์ ความหนาแน่นของแฟนบอล อารมณ์ต่างๆ ของคนในสนามรวมเข้าไปด้วย เมื่อขายลิขสิทธิ์ได้กำไรมหาศาลขนาดนี้แล้ว พรีเมียร์ลีกย่อมต้องการแฟนบอลให้ทำหน้าที่ของตัวเองมากกว่าเดิม เพราะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของการดูฟุตบอล

“มันจะน่าเบื่อขนาดไหน ถ้าคุณนั่งดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลที่ในสนาม ไม่มีกองเชียร์ ไม่มีเสียงเชียร์เลย” มัลคอล์มตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจ

พรีเมียร์ลีกเคยหวั่นว่าสนามในบางแมตช์อาจจะไม่เต็ม เพราะแฟนทีมเยือนไม่ค่อยจะตามมาเชียร์ทีมในเวลาที่ไปเล่นในเมืองไกลๆ ทำให้มีการปรับราคาตั๋วสำหรับแฟนบอลทีมเยือนทุกสนามให้เหลือเพียง 30 ปอนด์ หรือ 1,300 บาท ตั้งแต่ฤดูกาล 2016-2017

เมื่อราคาตั๋วถูกลง แฟนพันธุ์แท้จึงตัดสินใจได้ง่ายที่จะตามทีมไปทุกที่ที่ลงเตะ

ทำให้ในฤดูกาลแรกที่เริ่มขายบัตรราคานี้ แฟนบอลเข้าชมเกมในสนามเฉลี่ย 96 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 360 แมตช์

รายได้มหาศาลทำให้ทีมในลีกรองลงมาพยายามอย่างมากที่จะเลื่อนชั้นไปสู่พรีเมียร์ลีกให้ได้ ในทางกลับกันเมื่อตกชั้นจากลีกสูงสุดลงไปแชมเปี้ยนชิพ รายได้ก็ลดลงอย่างน่าใจหายเช่นกัน เพราะรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่สูงนั้น มีเพียงพรีเมียร์ลีกเพียงลีกเดียว ลีกรองๆ ลงมาไม่ได้เยอะหวือหวาแต่อย่างใด ทำให้ค่าตั๋วเกมเยือนของทีมในเดอะ แชมเปี้ยนชิพ จะต้องไม่เกิน 20 ปอนด์ หรือ 870 บาทเท่านั้น

“คริส เพิร์ลแมน” หัวหน้าฝ่ายสำนักงานของสวอนซีบอกว่า รายได้ค่าลิขสิทธิ์ในลีกอื่นๆ น้อยกว่าพรีเมียร์ลีกมาก ดังนั้น จึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างรายได้จากตั๋วเข้าชม การขายของที่ระลึกของสโมสร หรือหาสปอนเซอร์ทั้งจากในท้องถิ่นหรือจากที่อื่นๆ แทน

ทีมในพรีเมียร์ลีกมีโอกาสน้อยมากที่จะขาดทุน

แต่ในลีกเดอะ แชมเปี้ยนชิพ หลายทีมที่มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ “โบลตัน วันเดอเรอร์ส” มีรายได้ในฤดูกาล 2016-2017 เพียง 8.26 ล้านปอนด์ก่อนการหักภาษี แต่มีรายจ่ายคงที่ประมาณ 12.6 ล้านปอนด์ ถือเป็น 153 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ “แบล๊กเบิร์น โรเวอร์ส, ชาร์ลตัน แอธเลติก, ไบรตัน, ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์, ดาร์บี้ เคาน์ตี้, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด” ต่างประสบปัญหาเหล่านี้ด้วยกันในฤดูกาล 2016-2017

ถึงแม้รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกจะทำให้รายได้จากค่าบัตรเข้าชมดูน้อยนิด

แต่ “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล, เชลซี” ยังคงเน้นหนักไปที่การขายตั๋วให้เต็มความจุมากที่สุดในทุกแมตช์ รวมทั้งบางทีมก็ขยายสนาม สร้างสนามที่ความจุเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าเข้าชม และนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อนักเตะดีๆ มาเสริมทีม

ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ล่าสุดสัญญาปี 2016-2019 ทะยานขึ้นไปที่ 5,136 ล้านปอนด์ หรือ 220,848 ล้านบาทแล้ว

ไม่ว่ารายได้จากแหล่งอื่นจะมหาศาลขนาดไหน แต่ฐานแฟนบอล บรรยากาศในสนามยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขาดไม่ได้จริงๆ เงินสามารถซื้อนักเตะเก่งๆ มาสู่ทีมได้

ซื้อความสำเร็จในการแข่งขันได้ แต่ไม่มีทางซื้อใจแฟนบอลได้ ถ้าไม่ผูกพันกันจริงๆ