พิศณุ นิลกลัด : ผ่าเอเชี่ยนเกมส์ “อินโดนีเซีย” จะได้ “ประโยชน์”จากการเป็นเจ้าภาพหรือไม่ ?

พิศณุ นิลกลัด

18-8-18 เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 เริ่มแล้ว

การแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 ที่เริ่มขึ้นวันที่ 18 สิงหาคม อินโดนีเซียเลือกเลขสวย 18-8-18 เป็นวันเริ่มการแข่งขัน

ครั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่สองหลังจากจัดครั้งแรกเมื่อปี 1962

เอเชี่ยนเกมส์เป็นมหกรรมแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย

ปีนี้มี 45 ประเทศในทวีปเอเชียเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา 40 ประเภท

โดยมีกีฬาใหม่เพิ่มเข้ามา 10 ชนิด ได้แก่ ปีนผา (Rock Climbing), ร่มร่อน (Paragliding), เจ๊ตสกี (Jet Ski), บาสเกตบอล 3 คน (3 on 3 Basketball), ไพ่บริดจ์ (Bridge), คูราช (Kurash) มวยปล้ำสไตล์พื้นเมืองของอุซเบกิสถาน, ซามบะ (Sambo) ศิลปะการต่อสู้จากสหภาพโซเวียต, จูจิตสึ (Ju-Jitsu) ศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น, ปันจักสีลัต (Pencak Silat) ศิลปะการต่อสู้ของอินโดนีเซีย

และโรลเลอร์สปอร์ต (Rollersport) คือ สเก๊ตบอร์ด และโรลเลอร์สเก๊ต

สิ่งที่โลกให้ความสนใจอย่างมากในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ก็คือ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งเอเชียได้ร่วมมือกับสมาพันธ์อีสปอร์ตแห่งเอเชีย และคณะกรรมการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ของอินโดนีเซีย จัดแข่งขัน eSports ในเอเชี่ยนเกมส์เป็นครั้งแรก โดยจะเป็นกีฬาสาธิต ยังไม่นับเหรียญรางวัล

มี 6 เกมยอดฮิตที่จะนำมาใช้แข่งขันครั้งนี้

แบ่งออกเป็น 3 เกมที่แข่งขันประเภททีม ได้แก่ League of Legends, Pro Evolution Soccer 2018 และ Arena of Valor หรือคนไทยเรียกติดปากกันว่า RoV (อาร์โอวี) เป็นเกมแนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) ร่วมมือกันต่อสู้เป็นทีมฝั่งละ 5 คน ลักษณะเดียวกับ League of Legends แต่ RoV เล่นบนสมาร์ตโฟน

ส่วนอีก 3 เกมแข่งในประเภทบุคคล ได้แก่ Starcraft 2 : Legacy of the Void (เกมวางแผนการสู้รบ), Hearthstone (เกมดวลการ์ด) และ Clash Royale (เกมวางแผนสู้รบบนสมาร์ตโฟน)

การบรรจุ eSports เข้ามาเป็นกีฬาสาธิตในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ นับเป็นก้าวเริ่มต้นที่สำคัญของนักกีฬา eSports ทุกคน แสดงให้เห็นว่าวงการ eSports มีความจริงจังและได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ในวงกว้างมากขึ้น

ต้องติดตามกันว่าการสาธิตแข่งขัน eSports ใน Asian Games 2018 จะประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน ก่อนที่จะบรรจุเข้าเป็นกีฬา และนับเหรียญรางวัลจริงจังในการแข่งขัน Asian Games 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน

การแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพอินโดนีเซียใช้เงินลงทุนไปทั้งหมด 12,500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานของกรุงจาการ์ตาและเมืองปาเล็มบัง ซึ่งเป็นเมืองจัดการแข่งขัน

อีกทั้งมี 3 สิ่งอำนวยความสะดวกแห่งใหม่เกิดขึ้นในจาการ์ตา คือ

รถไฟฟ้า LRT (Light Rail Transit) ที่มีเส้นทางวิ่งผ่าน Jakarta International Velodrome สนามกีฬาสร้างใหม่เพื่อแข่งจักรยานประเภทลู่ในเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อการแข่งขันกีฬาในร่มอย่างอื่น เช่น วอลเลย์บอล แบดมินตัน และฟุตซอล รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตความจุ 8,500 ที่นั่งได้ด้วย

นอกจากนี้รถไฟฟ้า LRT ยังวิ่งผ่านสนามแข่งม้าแห่งใหม่คือ Jakarta International Equestrian Park ในย่านปูโลมาส ที่นี่เป็นสนามแข่งม้าแห่งแรกของอินโดนีเซียที่มีมาตรฐานระดับสากล และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ นับเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมภาพลักษณ์ในทางบวกของประเทศ และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว

อย่างการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกของรัสเซียที่เพิ่งผ่านมา ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ในทางบวกให้กับประเทศ

ตลอดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซียได้มีการจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของชาวต่างชาติจำนวน 5,367 คนที่เดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลใน 11 เมือง จัดทำโดย “The Young Guard of United Russia” กลุ่มตัวแทนเยาวชนของพรรค United Russia โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตอบแบบสำรวจมีอายุเฉลี่ย 33 ปี และใช้เวลาอยู่ในประเทศรัสเซียโดยเฉลี่ย 12 วัน

การสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวจำนวน 73% มีความต้องการจะกลับไปเที่ยวในประเทศรัสเซียอีกครั้งหลังจากจบฟุตบอลโลกแล้ว และ 5% บอกว่าจะเลื่อนกำหนดการกลับเพื่อจะได้อยู่พักร้อนในประเทศรัสเซียต่ออีกหน่อย

ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวน 5,367 คนนี้มี 87% ที่มาเที่ยวประเทศรัสเซียเป็นครั้งแรก

64% บอกว่าก่อนหน้านี้ตัวเองเคยมี Stereotype หรือการเหมารวมตัดสินภาพลักษณ์ของประเทศรัสเซียไปในแง่ลบ เช่น ประเทศรัสเซียมีสภาพอากาศที่เลวร้าย ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เป็นมิตรและจิตใจคับแคบ

แต่เมื่อได้ลองมาสัมผัสกับตัวเอง คนจำนวน 88% ก็บอกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นความจริงเลย

เมื่อถามว่าประทับใจสิ่งใดมากที่สุดในรัสเซีย?

ชาวต่างชาติจำนวน 91% ชื่นชมการต้อนรับแขกอย่างเป็นมิตรของคนรัสเซีย

87% ชื่นชมความงามของสาวรัสเซีย

86% รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในรัสเซีย

และ 83% ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสาร รวมถึงสนามฟุตบอลต่างๆ ที่เพิ่งสร้างใหม่

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจำนวน 87% ชื่นชอบมรดกทางวัฒนธรรมที่สวยงามของประเทศรัสเซีย

78% ประทับใจอาหารรัสเซีย

อีก 87% ชื่นชมความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองในรัสเซีย โดยเฉพาะเมืองคาซาน (Kazan)

และ 63% ชอบสภาพอากาศที่อบอุ่นซึ่งไม่คิดว่าจะได้สัมผัสในประเทศรัสเซีย

พอถึงเวลาให้คะแนนการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกของรัสเซียที่จบลง โดยให้คะแนนตั้งแต่ 1-10 คะแนน

ชาวต่างชาติจำนวน 53% ให้คะแนนสิบเต็ม

23% ให้ 9 คะแนน

15% ให้ 8 คะแนน

และจำนวน 6% ให้ 7 คะแนน

สรุปแล้วการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของรัสเซียในครั้งนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองด้านภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติไปในทางที่ดีขึ้น

พิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นว่ารัสเซียไม่ได้เป็นประเทศที่เลวร้ายอย่างที่หลายๆ คนเคยเข้าใจกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือคำยืนยันจากปากของนักท่องเที่ยวที่ได้ไปสัมผัสบรรยากาศจริงๆ ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก

อินโดนีเซียจะได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพแบบรัสเซียหรือไม่ จบเอเชี่ยนเกมส์ก็จะได้ทราบกัน