ความสัมพันธ์โสมขาว-โสมแดง ก่อนศึกเอเชี่ยนเกมส์จะเปิดฉาก

การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 กำลังจะเปิดฉากในวันที่ 18 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ท่ามกลางการจับตามอง 2 เกาหลี “เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้” ที่ร่วมทีมกันแข่งขันในบางชนิดกีฬา

โสมขาวกับโสมแดงมีปัญหาทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และในหลายเดือนหลัง ผู้นำของ 2 ประเทศเริ่มสร้างปรากฏการณ์ให้โลกได้เห็น ด้วยการหารือกันในประเด็นต่างๆ เป็นสัญญาณที่ดีขึ้นของสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีที่ตึงเครียดมาตลอดหลายสิบปี

การร่วมทีมกันแข่งขันครั้งนี้มาจากการผลักดันของ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)” และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศจะรวมทีมแข่งขัน 3 ชนิดกีฬา

ได้แก่ เรือยาวมังกร, บาสเกตบอลทีมหญิง และเรือแคนู

โดยทางการเกาหลีใต้ได้ออกข่าวยืนยันว่านักกีฬาและเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือรวม 34 คน ได้เดินทางไปร่วมซ้อมในเกาหลีใต้แล้ว เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ทีมเรือยาวมังกรจะผสมกันระหว่างนักกีฬาของ 2 ประเทศ ชาติละ 6 คน ทั้งทีมชาย ทีมหญิง บาสเกตบอลหญิงมีนักยัดห่วงเกาหลีใต้ 9 คน เกาหลีเหนือ 3 คน ทีมเรือแคนูมีนักพายโสมขาว 8 คน โสมแดง 7 คน ซึ่งในอนาคตสหพันธ์เรือพายของทั้งคู่วางแผนกันว่าจะรวมทีมในลักษณะนี้แข่งขันในรายการเรือพายชิงแชมป์เอเชีย ในปีหน้า รวมทั้งโอลิมปิกเกมส์ 2020

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องราวภายในทีมที่ต้องปรับแก้ โดยเฉพาะชุดแข่งของทีมที่มีนักกีฬาเกาหลีเหนืออยู่ แต่ต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดแข่งยี่ห้ออื่น ไม่สามารถใส่ไนกี้ ผู้สนับสนุนเสื้อผ้าของทีมชาติเกาหลีใต้ได้ เนื่องจาก “องค์การสหประชาชาติ” มีข้อบังคับไม่ให้เกาหลีเหนือนำเข้าผลิตภัณฑ์ราคาสูง โดยเฉพาะอุปกรณ์และเสื้อผ้ากีฬา จนทำให้ต้องหาแบรนด์ของเกาหลีใต้มาใส่แทน

บาสเกตบอลไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ของ “ไนกี้” ได้

ขณะที่เรือพายก็ต้องเปลี่ยนจากแบรนด์เดสเซนเต้ของญี่ปุ่น เป็นยี่ห้อในประเทศแทน

“คิม ยอง บิน” ประธานสหพันธ์เรือแคนูของเกาหลีใต้บอกว่า ตั้งแต่ที่เริ่มฝึกซ้อมกันมาประมาณ 1 เดือน เห็นได้ชัดว่านักพายเกาหลีเหนือมีพรสวรรค์และมีระเบียบวินัย การรวมกันของเกาหลีทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้น ตอนนี้อยู่ในช่วงการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะต้องร่วมซ้อมกันเป็นทีมท่ามกลางความแตกต่างในอดีต แต่มั่นใจว่าจะสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านได้ โดยเฉพาะเรือมังกรนั้น เกาหลีตั้งเป้าไว้ 1-2 เหรียญทองเลยทีเดียว

ขณะที่ทีมบาสเกตบอลหญิงเกาหลีใต้นั้น เป็นแชมป์เก่าในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่แล้วที่เมืองอินชอน การอ้าแขนรับนักยัดห่วงสาวเกาหลีเหนือมาร่วมทีม ถูกจับตามองว่าจะทำให้แชมป์เก่าเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

“ลิม ยอง ฮุย” กัปตันทีมเกาหลีใต้เล่าถึงบรรยากาศในทีมหลังจากร่วมซ้อมกับนักบาสเกาหลีเหนือว่า เรื่องที่ต้องปรับคือภาษา เพราะเกาหลีใต้ใช้ศัพท์ตามภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลในการเล่น เช่น รีบาวด์, พาสบอล (ส่งบอล) แต่เกาหลีเหนือใช้ศัพท์เฉพาะในภาษาเกาหลี ทำให้การสื่อสารภายในทีมยังติดขัดอยู่บ้าง

ฮา ซุก รเย หัวหน้าผู้ฝึกสอนบาสเกตบอลหญิงเกาหลีซึ่งเคยมีประสบการณ์เล่นกับนักบาสเกาหลีเหนือมาแล้วในปี 1990 บอกว่า ต้องยอมรับว่านักบาสเกาหลีเหนือมีทักษะที่ด้อยกว่าเกาหลีใต้

แต่จะต้องพยายามปรับจูนให้เล่นกันเป็นทีมให้ออกมาดีที่สุด เพื่อจะป้องกันแชมป์ให้ได้

อีกหนึ่งความน่าสนใจของเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้คือ การที่เจ้าภาพได้เชิญ “มุน แจ อิน” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และ “คิม จอง อึน” ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 18 สิงหาคม ที่สนามเกโลร่า บังการ์โน่ ด้วย ซึ่งนักกีฬาสองเกาหลีจะเดินขบวนเข้าสนามร่วมกันในธงเกาหลีในพิธีเปิด เหมือนที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ที่เมืองพยองชังของเกาหลีใต้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่เพลง “อารีดัง” เพลงที่คนทั่วโลกรับรู้ว่าเป็นเพลงที่สื่อถึงความเป็นเกาหลีมากที่สุดเพลงหนึ่ง จะถูกนำมาใช้แทนเพลงชาติของทีมรวมเกาหลี

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับการตอบรับว่าประธานาธิบดีทั้งคู่จะมาเจอกันในครั้งนี้จนกลายเป็นอีกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเอเชี่ยนเกมส์หรือไม่

กีฬากลายเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์อันดีของเกาหลีเหนือและใต้มาตลอดหลายปีหลัง และดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือที่ดูแนบเนียนและได้ผลที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำของทั้ง 2 ประเทศอยากจะให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นจริง หรือเป็นเพียงการสร้างภาพให้ประชาคมโลกเห็นก็เท่านั้น