บทเรียนราคาแพงจากกรณี “โอซิล”

การที่นักเตะฝีเท้าดีอายุเพียง 29 ปี อย่าง “เมซุต โอซิล” เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเยอรมนีของสโมสร “อาร์เซนอล” ประกาศอำลาทีม “อินทรีเหล็ก” อย่างกะทันหันเมื่อต้นสัปดาห์

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง

เพราะเหตุผลที่โอซิลหยิบยกมาเป็นสาเหตุนั้น คือการโดนเหยียดเชื้อชาติและดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา

โอซิลต้องเผชิญปัญหาส่วนบุคคลดังกล่าวเป็นเวลายาวนานถึง 2 เดือนเต็มๆ

โดยมีจุดเริ่มต้นจากรูปภาพเพียงไม่กี่ใบ ด้วยเจตนาที่เจ้าตัวยืนยันว่าบริสุทธิ์ ไม่มีนัยยะหรือเบื้องลึกเบื้องหลังใดๆ เจือปน

ย้อนไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม โอซิลกับ “อิลคาย กุนโดกัน” เพื่อนร่วมทีมชาติซึ่งมีเชื้อสายตุรกีเหมือนกัน ได้พบปะและมอบเสื้อให้กับ “เรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน” ประธานาธิบดีตุรกี ขณะคณะของแอร์โดอานไปเยือนกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

การพบกันช่วงเวลาสั้นๆ ที่ดูเหมือนกิจกรรมทางสังคมและการทูตทั่วไปกลายเป็นประเด็นการเมืองใหญ่โตเนื่องด้วยพรรคเอเคพีของแอร์โดอานนำภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ ซึ่งบังเอิญช่วงเวลานั้นเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของตุรกีพอดี

โอซิลและกุนโดกันจึงโดนเพื่อนร่วมชาติวิจารณ์และตั้งคำถามในวงกว้างทันที

บ้างบอกว่าโอซิลกับกุนโดกันไปช่วยแอร์โดอานหาเสียง

บ้างมองว่าทั้งคู่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

บางคนตำหนิว่า 2 แข้งดัง “คิดน้อย” เกินไป และบางคอมเมนต์ลามปามใหญ่โตถึงขั้นตั้งข้อสงสัยเรื่องความรักชาติของทั้งคู่

เหุตที่ชาวเยอรมันเซ็นซิทีฟกับเรื่องนี้พอสมควร เนื่องด้วยแอร์โดอานมีประวัติการเมืองไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีหลังซึ่งพยายามรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับตัว สั่งกวาดล้างและจำคุกฝ่ายตรงข้าม และจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การที่โอซิลและกุนโดกันถ่ายภาพยิ้มร่ากับแอร์โดอานในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการเลือกตั้ง จึงโดนตีความแบบเหมารวมว่าทั้งคู่สนับสนุนแอร์โดอานในการเลือกตั้งครั้งนี้

บางคนถึงขั้นคิดเลยเถิดว่าพวกเขาอาจเริ่มเอาใจออกห่างจากเยอรมนีซึ่งเป็นบ้านหลังปัจจุบัน เพราะผูกพันกับบ้านเกิดของบรรพบุรุษอย่างตุรกีมากกว่า

ยิ่งเวลาผ่านไป กระแสโจมตีสองแข้งเชื้อสายเติร์กก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แม้แต่ไรฮาร์ด กรินเดล ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี (เดเอฟเบ) ยังออกมาพาดพิงเชิงตำหนิโอซิลและกุนโดกันผ่านโซเชียลว่าไม่ควรแสดงออกดังกล่าว ไม่ว่าจะมีเจตนาใดๆ หรือไม่ก็ตาม

พอเข้าสู่ช่วงเก็บตัวทีมชาติก่อนสู้ศึก “ฟุตบอลโลก 2018” ที่รัสเซีย พอสองคนนี้ลงสนามให้อินทรีเหล็ก ก็โดนแฟนบอลของตัวเองโห่ทุกครั้งที่จับบอล ถึงขั้นกุนซือ “โยอาคิม เลิฟ” ต้องออกมาขอร้องให้เลิกพฤติกรรมแบบนี้เพราะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย

เมื่อถึงการแข่งขันจริง ทีมชาติเยอรมนีในฐานะแชมป์เก่าทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง ตกรอบแรกในฐานะทีมบ๊วยของกลุ่ม มีสถิติชนะ 1 แพ้ 2

คนที่กลายเป็น “แพะ” โดนด่าหนักที่สุดก็คือโอซิล เนื่องด้วยได้ลงสนามสม่ำเสมอกว่ากุนโดกัน และฟอร์มการเล่นก็ไม่ค่อยดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ระดับสโมสรแล้ว

แม้ว่าโค้ชและเพื่อนร่วมทีมหลายคนจะพยายามออกมาปรามแฟนบอลให้พยายามเลิก “ล่าแม่มด” เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย แต่ปฏิกิริยาจากฝั่งเดเอฟเบก็ไม่ได้ช่วยอะไรสักนิด

“โอลิเวอร์ เบียโฮฟฟ์” ผู้จัดการทั่วไปของทีมชาติ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์หลังทีมตกรอบทำนองว่า โอซิลไม่ควรปล่อยให้เรื่องบานปลายขนาดนี้ และถ้าคิดถึงผลกระทบกับทีม โค้ชก็ไม่ควรเลือกเขาไปแข่งบอลโลกด้วยซ้ำ ซึ่งเจ้าตัวต้องออกมาขอโทษในประเด็นนี้ภายหลัง

ขณะที่ประธานเดเอฟเบยังคงขยี้ต่อด้วยการตำหนิโอซิลว่าน่าจะออกมาชี้แจงอะไรบ้าง เหมือนอย่างกุนโดกันที่ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ 2-3 ครั้ง

ไม่ใช่ปล่อยให้แฟนๆ ผิดหวังเพราะไม่มีคำตอบใดๆ อย่างนี้

สุดท้ายเมื่อกระแสโจมตีหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เริ่มเป็นการด่าอย่างหยาบคายสาดเสียเทเสีย และลามปามถึงขั้นเหยียดเชื้อชาติ แข้งปืนใหญ่ก็ไม่อดทนอีกต่อไป ออกมาเขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านอินสตาแกรมระบายความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาก่อนประกาศอำลาทีมชาติอย่างปัจจุบันทันด่วน

โอซิลตัดพ้อว่า การถ่ายภาพร่วมกับแอร์โดอานนั้นไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองแอบแฝงใดๆ เลย ไม่ได้คิดจะช่วยหาเสียง ไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศของอีกฝ่าย

เขาเพียงแต่คิดถึงคำสอนของแม่ที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเองเท่านั้น การพบกับผู้นำสูงสุดของประเทศตุรกีจึงเป็นการแสดงความเคารพต่อรากเหง้าของตัวเองตามที่แม่สอนเอาไว้ พร้อมยืนยันในหัวใจรักทั้งบ้านเกิด (ตุรกี) และเมืองนอน (เยอรมนี) ที่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย

แต่พอโดนโจมตีอย่างหนักขนาดนี้ ก็ไม่อาจสวมชุดทีมชาติด้วยความภาคภูมิใจได้อีกต่อไป

ถือเป็นตอนจบที่น่าเศร้าสำหรับการรับใช้ชาติของนักฟุตบอลฝีเท้าเยี่ยมคนหนึ่งที่นำไปสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งผู้เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมว่าสิ่งที่เมซุต โอซิล ต้องเผชิญนั้นเหมาะสมแล้วหรือ

แม้จะกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่อย่างน้อยขอให้เป็นบทเรียนสำหรับประเด็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในหลายๆ ประเทศ ทั้งจากมุมของคนนอกที่แสดงความคิดเห็นรุนแรง

รวมถึงมุมของบุคคลสาธารณะเองที่ควรต้องคิดให้รอบด้านก่อนจะตัดสินใจแสดงออกใดๆ ต่อสาธารณะ