จริงตนาการ : “ฟุตบอลโลก” กับ “รักร่วมเพศ” เพื่อนเก่าที่ร้าวฉานในรัสเซีย

32 ทีมในฟุตบอลโลก 2018 “รัสเซีย” เป็นทีมที่มีอันดับโลกในฟีฟ่า แรงกิ้งต่ำที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 70

ขณะที่อันดับการยอมรับในเรื่องรักร่วมเพศก็รั้งท้ายเช่นกัน

ทำให้มีการจับตามองว่า ฟุตบอลทีมชาติรัสเซียกับการรับมือกับผู้ต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศในช่วงฟุตบอลโลก อะไรจะตกรอบก่อนกัน

เมื่อปี 2556 รัสเซียออก “กฎหมายต่อต้านรักร่วมเพศ” มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่โฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมเรื่องรักร่วมเพศ การแสดงออกถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศ ทั้งการแต่งตัว การจับมือถือแขนของเพศเดียวกัน การใช้ธงสีรุ้ง และอีกหลายๆ ข้อห้าม

ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเงินสูงสุด 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 960,000 บาท และอาจจะถูกจำคุก 15 วันด้วย

รัสเซียได้ประเมินคนรักร่วมเพศว่าเป็น “ผู้ป่วยทางจิต” มานานแล้ว

บทลงโทษอาจจะไม่น่ากลัวเท่ากับการที่กลุ่มเกย์จะถูกเหยียดอย่างรุนแรงในสังคมรัสเซีย หนักไปกว่านั้นอาจจะมีการทำร้ายร่างกายจนเลือดตกยางออกเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ถ้าเอาเรื่องบทลงโทษในการวิจารณ์เรื่องการเมืองมาพิจารณาแล้ว กลุ่มรักร่วมเพศมักจะได้รับคำเตือนไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลกที่รัสเซียจะดีกว่า

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” (ฟีฟ่า) ได้ร้องขอให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้ รัสเซียก็ออกมายืนยันว่า เจ้าภาพไม่ได้ต่อต้านกลุ่มรักร่วมเพศแต่อย่างใด และเปิดกว้างในการแสดงออกถึงตัวตนได้อย่างอิสระ

“แฟร์” หรือองค์กรต่อต้านการเหยียดผิวในวงการฟุตบอลของทวีปยุโรป มีหน้าที่ในการป้องกันและแก้ไขการเหยียดเพศ เหยียดผิว และการไม่เท่าเทียมกันในเรื่องฟุตบอล ได้มีการตั้ง “บ้านแห่งความหลากหลาย” ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หนึ่งในเมืองเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018

บ้านแห่งความหลากหลายเป็นสถานที่พิเศษที่ให้ชาวรักร่วมเพศและชาวผิวสีที่มีปัญหาการถูกเหยียดในรัสเซีย ได้ไปร่วมเชียร์การแข่งขันอย่างปลอดภัยกว่าการไปดูในจุดอื่นๆ

ฟีฟ่าไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ เพราะได้มีระบบตรวจสอบการแบ่งแยกความแตกต่างมาตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก และฟุตบอลคอนเฟเดอเรชั่นส์คัพ

ระบบการตรวจสอบจะใช้เจ้าหน้าที่ปะปนอยู่กับกองเชียร์ในสนาม และถ้าพบเห็นว่ามีการเหยียดเพศ เหยียดผิว จะมีการรายงานไปที่ผู้ตัดสินในสนาม ซึ่งผู้ตัดสินมีสิทธิที่จะสั่งให้หยุดการแข่งขัน หรือยกเลิกการแข่งขันได้ทันที แล้วแต่เหตุการณ์และดุลพินิจของผู้ตัดสินเอง

“เฟเดริโก้ อัดดิเอคี่” ประธานฝ่ายความยั่งยืนและความหลากหลายของฟีฟ่า บอกว่า ทุกคนที่อยู่ในสนามแข่งขันไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ฝ่ายจัดการแข่งขัน อาสาสมัคร หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยจะได้รับการอบรมพิเศษ

เมื่อพบเห็นเหตุการณ์การเหยียดเพศ สีผิว เชื้อชาติเกิดขึ้นก็จะสามารถรับมือกับเหตุการณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม

 

เกิดความสงสัยขึ้นว่า เมื่อองค์กรกีฬาระดับนานาชาติต่างรู้ดีว่ารัสเซียมีกฎหมายต่อต้านเกย์ ทำไมถึงให้สิทธิในการจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ ติดต่อกัน ทั้งกีฬามหาวิทยาลัยโลก ครั้งที่ 27 เมื่อปี 2556 กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูหนาว ปี 2557 รวมทั้งฟุตบอลโลกหนนี้

ในช่วงที่เพิ่งได้สิทธิเป็นเจ้าภาพใหม่ๆ ผู้นำทั้งองค์กรกีฬาอย่าง “ฌากส์ ร็อกก์” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ในช่วงนั้น “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง “กุยโด้ เวสเตอร์เวลล์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ต่างก็ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้อย่างมาก

โดยเฉพาะฟีฟ่าที่ติดตามสถานการณ์การบังคับกฎหมายต่อต้านเกย์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

“อเล็กเซย์ โซโรกิ้น” ประธานจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ของรัสเซีย แสดงความเห็นหลังจากโดนกระหน่ำจากนานาชาติในเรื่องนี้ว่า

โอลิมปิกเกมส์และฟุตบอลโลกไม่ได้เป็นทัวร์นาเมนต์ที่จะมองเป็นอย่างอื่นได้ มันเป็นเรื่องของกีฬาและฟุตบอลเท่านั้น

และกฎหมายต่อต้านเกย์ที่ประกาศใช้ ไม่ได้ใช้ต่อต้านความเป็นชาวรักร่วมเพศ

แต่ใช้ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมเรื่องรักร่วมเพศ ซึ่งมันมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ต้องลองถามตัวเองว่าชอบหรือไม่ที่เห็นคนแก้ผ้าวิ่งทั่วไปหมด เพื่อแสดงออกถึงการเป็นคนรักร่วมเพศ?

 

กฎหมายต่อต้านเกย์ทำให้รัสเซียได้รับผลกระทบในด้านภาพลักษณ์พอสมควร สปอนเซอร์รายใหญ่ต้องถอนตัวไปเพราะอยากจะทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับฟุตบอลมากกว่าเรื่องการเมืองและความขัดแย้ง

เห็นได้ชัดจากฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ สปอนเซอร์พยายามที่จะเล่นกับการยุติการแบ่งแยกสีผิวในโฆษณาของตัวเอง

แต่ที่รัสเซียทำไม่ได้ สปอนเซอร์จึงลดความสำคัญในการเข้ามาสนับสนุนฟุตบอลโลกที่รัสเซียลงไปเพราะปัญหานี้

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด ผู้สนับสนุนฟุตบอลโลก 2018 ถ้าไม่นับสปอนเซอร์หลักที่มีสัญญากับฟีฟ่าแล้ว จะไม่ค่อยเห็นสปอนเซอร์ต่างชาติที่มาสนับสนุน

มีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่จากรัสเซีย, จีน และตะวันออกกลางเท่านั้นที่กล้ามาลงทุน

ฟีฟ่าและผู้เกี่ยวข้องมีความเป็นห่วงว่าในฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศ “กาตาร์” ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม จะยังคงมีปัญหานี้อยู่ เพราะรักร่วมเพศเป็นเรื่องขัดต่อศาสนาอิสลาม

นอกจากนั้น สาเหตุที่ “โมร็อกโก” ไม่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเสียที ทั้งๆ ที่เสนอตัวมาถึง 5 ครั้งติดต่อกันแล้ว ก็เพราะเป็นประเทศที่ต่อต้านชาวรักร่วมเพศอย่างรุนแรงนั่นเอง

เรื่องราวเหล่านี้สอนให้รู้ว่า ความแตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่การไม่ยอมรับความแตกต่าง เป็นเรื่องที่ผิด