กรองกระแส/เบื้องหลัง ระเบิด แยก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจาก “ประยุทธ์”

กรองกระแส

เบื้องหลัง ระเบิด แยก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจาก “ประยุทธ์”

 

หลังกัมปนาทแห่งระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม มีความระมัดระวังเป็นอย่างสูงจาก คสช. และจากรัฐบาล

ไม่เหมือนเหตุการณ์ที่ “ท้าวมหาพรหม” ไม่เหมือนเหตุการณ์ที่ “เกาะสมุย”

ในตอนนั้นทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสอบวัตถุระเบิดเพิ่งลงไปในพื้นที่ก็มี “บทสรุป” แล้วจากบรรดาโฆษกทั้งหลาย ไม่ว่าจะจากทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าจะจากกระทรวงกลาโหม และไม่ว่าจะจาก คสช.

ชี้ไปยัง “กลุ่มการเมือง” ชี้ไปยัง “อำนาจเก่า”

ทั้งๆ ที่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วระเบิดที่ท้าวมหาพรหมน่าจะมาจากกรณีของอุยกูร์ ระเบิดที่เกาะสมุยน่าจะมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม กรณีระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แม้ยังไม่สามารถหารากฐานที่มา แต่ก็เด่นชัดอย่างยิ่งว่า 1 มีความสัมพันธ์กับระเบิดเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่หน้ากองสลากกินแบ่ง (เดิม) ถนนราชดำเนินกลาง และเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ข้างโรงละครแห่งชาติ

1 มีเป้าหมายเพื่อก่อกวนและสร้างสถานการณ์ โดย 2 ครั้งแรกไม่ประสงค์ชีวิต แต่ 1 ครั้งหลังมีโอกาสที่จะทำให้บาดเจ็บสาหัสกระทั่งถึงกับเสียชีวิตได้

1 ครั้งหลังนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ 3 ปีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

 

เป้าหมาย การเมือง

มาจากกลุ่มการเมือง

ไม่ว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. ไม่ว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สรุปตรงกันว่า

เป็นระเบิดการเมือง มีเป้าหมายทางการเมือง

แต่ด้วยความรอบคอบก็ยังไม่ได้สรุปอย่างมั่นใจว่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มใด เป็นกลุ่มการเมืองหรือว่าเป็นกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กระนั้น แนวทางสันนิษฐานเดินไป 3 แนวทางด้วยกัน

แนวทาง 1 คือ กลุ่มการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และไม่เห็นด้วยกับ คสช. และรัฐบาล

แนวทาง 1 คือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แนวทาง 1 คือ กลุ่มฉวยโอกาสในทางการเมือง

น่าสนใจว่า ไม่ว่านักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่านักเคลื่อนไหวจาก นปช.คนเสื้อแดง ต่างออกมาประณามการลอบวางระเบิดโดยมีเป้าหมายที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็ไม่มีปฏิกิริยาหรือความเห็นใดๆ จากกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การพุ่งประเด็นไปยัง “กลุ่มฉวยโอกาส” ทางการเมืองจึงมีความเป็นไปได้สูง

 

เป้าหมาย ระเบิด

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แม้ระเบิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน มิได้มีแถลงการณ์เด่นชัดว่าอยู่ที่ใด แต่สัมพันธ์กับวันประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

และเกิดขึ้นบนถนนราชดำเนินกลาง

แม้ระเบิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม มิได้มีแถลงการณ์เด่นชัดว่าอยู่ที่ใด แต่สัมพันธ์กับวาระ 7 วันก่อนครบ 3 ปีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และเกิดในบริเวณใกล้กับท้องสนามหลวง

แต่พอมาถึงระเบิดในวันที่ 22 พฤษภาคม ก็แทบไม่ต้องตีความ

เพราะตรงกับ 3 ปีของรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพราะเป้าหมายของการวางระเบิดอยู่ที่ห้องวงษ์สุวรรณ

เท่ากับตีตรงไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เมื่อย้อนกลับไปศึกษาสถานการณ์ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประสบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 มายังต้นและกลางปี 2560 ไม่ว่าจะสัมพันธ์กับ “อโลฮา ฮาวาย” ไม่ว่าจะสัมพันธ์กับ “เรือดำน้ำ” ก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าเหตุใดจึงต้องเป็นห้องวงษ์สุวรรณ ทำไมจึงต้องเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

เพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำกับและรับผิดชอบงานด้านความมั่นคง

กลุ่มฉวยโอกาสนี้จึงอาจสัมพันธ์กับกระแสโจมตี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

 

ยุทธการ โดดเดี่ยว

ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ท่าทีในทางสังคมในวาระ 3 ปีของรัฐประหารจากกลุ่มที่เริ่มไม่พอใจกับการรัฐประหาร ทาง 1 ยังไม่ได้โจมตีโดยตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเห็นว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังโดดเด่นและเป็นความหวัง

ขณะเดียวกัน ทาง 1 กลับประเมินและวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือจุดอ่อนอันอาจทำให้รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความเสียหาย

กระแสฟาดกระหน่ำเข้าใส่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงกลายเป็น “เหยื่อ”

เป็นเหยื่อให้กลุ่มทางการเมืองบางกลุ่มฉวยโอกาสร่วมขบวนแห่ไปด้วย และบางส่วนอาจยกระดับไปสู่การวางระเบิด

เป้าหมายอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเป็นด้านหลัก