ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand
ณัฐพล ใจจริง
‘สยามกับวิเทโศบายตะวันออกไกล’ (2480)
: การเปลี่ยนวิเทโศบายภายหลังการปฏิวัติ 2475
“ถ้าการก้าวหน้าของสยามยังอาศัยกางตำราภาษาต่างประเทศเปนแบบอยู่ตราบใด ก็ตราบนั้นสยามจะวิ่งตามหลังเขาอยู่เสมอ”
(ม.ร.ว.ทรงสุจริต นวรัตน 2480, 37)
การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของไทยจากการมองตะวันตกมาสู่การมองตะวันออกเกิดขึ้นจากกระแสความคิดแบบชาตินิยมที่ก่อตัวเริ่มทวีความเข็มข้นขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475
ผนวกกับความรู้สึกเคืองแค้นมหาอำนาจตะวันตกที่มีชัยเหนือกว่าไทยในศึกแย่งชิงดินแดนที่ผ่านมา
ประกอบกับการก้าวขึ้นมาของญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในเอเชียจากความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างชาติญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย การมีชัยเหนือรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (2447-2448) ไม่นานจากนั้น ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรีย (2474-2475) และเหตุการณ์ที่สะพานมาโคโปโล (2480) แต่สันนิบาตชาติประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอีกเช่นกัน
ไม่นานจากนั้น ญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดระเบียบโลกของเอเชียแทนมหาอำนาจตะวันตก
ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกทั้งในยุโรปจาการก้าวขึ้นมาของเยอรมนีและเอเชียของญี่ปุ่นอันสำคัญยิ่งนั้นย่อมมีผลต่อไทยด้วยเช่นนั้น
ในครั้งนั้น ไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเช่นกัน กล่าวคือ เกิดการปฏิวัติ 2475 ดังนั้น ท่ามกลางการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของญี่ปุ่นในเอเชีย รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองภายในของไทย
ดังนั้น ไทยควรจะดำรงตนอย่างไร กลายเป็นคำถามร่วมสมัยที่ดังมากขึ้นในสังคมไทย
ภายหลังการปฏิวัติ 2475 หนังสือการเมืองว่าด้วยความก้าวหน้าของญี่ปุ่นได้กลายเป็นหนังสือที่ถูกผลิตจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เช่น สุรบุรุษแห่งอุทัยประเทศ (2478) บูชิโด (2478) ไดนิ (2478) เที่ยวเอเชียตะวันออก (2478) บทเรียนจากญี่ปุ่น (2478) เป็นต้น

ผู้เขียน สยามกับวิเทโศบายตะวันออกไกล (2480) เล่มนี้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดแห่งยุคสมัย คือ หม่อมราชวงศ์ทรงสุจริต นวรัตน เขาเป็นบุตรของหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ (พ.ศ.2424-2489) มีพี่น้อง ดังนี้ หม่อมราชวงศ์อนุธำรง หม่อมราชวงศ์ทรงสุจริต หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล หม่อมราชวงศ์หญิงกมลพิศมัย หม่อมราชวงศ์หญิงพิไลเลขา หม่อมราชวงศ์สง่ายรรยง หม่อมราชวงศ์หญิงสุวลี หม่อมราชวงศ์หญิงแน่งน้อย
เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ เคยทำงานให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ธรรมาธิปไตย อีกทั้งเขาเป็นนักเขียนที่ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนั้น และเขียนหนังสือตีพิมพ์หนังสือหลายเล่ม เช่น ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ (2478) สยามรัฐปฏิวัติ (Siam reformation) สยามแปลงรูปยุคดึกดำบรรพ์ (2479) และพรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ (2481) เป็นต้น
เขาเล่าว่า ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว “หัวใจของข้าพเจ้าจดจ่อกับความก้าวหน้าของสยามมาช้านาน” จึงพยายามเขียนแสดงความเห็นเพื่อให้ชาติก้าวหน้าตามชาติอารยะ
เขาเคยใช้นามปากกา “ฆ้อนทองแดง” เขียนบทความชื่อ “สยามควรบำรุงกำลังทหารก่อนอื่น จงดูตัวอย่างญี่ปุ่นเพื่อนบ้านเราเถิด” เมื่อ 2477 ในหนังสือพิมพ์ธัมมาธิปไตย มีจุดยืนสนับสนุนให้ไทยพัฒนากองทัพให้เข้มแข็งจนได้รับคำชมเชยจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ความว่า
“วันที่ 11 ตุลาคม 2477 เรียนท่านฆ้อนทองแดง ผมได้อ่านความเห็นในหนังสือธัมมาธิปไตยวันนี้ รู้สึกเป็นที่ปลาบปลื้มมาก เพราะความเห็นของท่านเปนถูกแน่ และเปนอย่างเดียวกับความเห็นอย่างเดียวกับผม…ผมจึงเห็นว่าประเทศจะเจริญ ประเทศจะอยู่เปนอิสสระภาพได้ ก็เพราะการบำรุงทหาร ทหารในบัดนี้คือทหารของชาติ, ของประชาชน มิได้เปนของใคร ในที่สุดหวังว่า ท่านคงจะช่วยบ้านเมืองโดยชี้แจงให้เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายมีความเข้าใจในทางที่ถูก ตามที่คุณเคยเคยไว้แล้วนั้น และขอท่านจงมีความสุข, ความเจริญยิ่งๆ ต่อไป ขอแสดงความนับถืออย่างสูง หลวงพิบูลสงคราม”

หนังสือ “สยามกับวิเทโศบายตะวันออกไกล” ประกอบด้วย 4 บท คือ อารัมภบรรพ วิเทโศบายคืออะไร วัตถุประสงค์ของรัฐ เดิมโลกตะวันออกวิ่งขึ้นหน้าโลกตะวันตก ต่อมาโลกตะวันตกวิ่งขึ้นหน้าโลกตะวันออก เปลวสงครามโลกในอนาคต หลักการเตรียมพร้อม
บรรพที่ 1 ไทยในยุคอดีตมัวนอนหลับเสียจริงหรือ โลกเมื่อหลังมหาสงคราม เหตุที่ไทยเป็นชาติใหญ่กลับกลายเป็นเล็กกว่าจีน ทางลัดของชาติน้อยที่ก้าวไปสู่สถานะชาติมหาอำนาจ วิเทโศบายในกาลอดีตของสยาม
บรรพที่ 2 ไทยในอดีต ญี่ปุ่นในอดีต เทพวิถีของญี่ปุ่น หลักวิเทโศบายในกาลอดีตของญี่ปุ่น วิเทโศบายของญี่ปุ่นต่อมวลชาติผิวขาว และจีน สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
บรรพที่ 3 ไทยในปัจจุบัน โรคนอนหลับของจีน สัมพันธภาพในโลกตะวันออก ไทยอย่ามัวลังเลใจ โฉมหน้าใหม่ของไทยในอนาคต ข้อเปรียบเทียบอารยธรรมและหว่างไทยกับญี่ปุ่น ดวงวิญญาณของไทยในอนาคต
เขาวิเคราะห์ว่า ขณะนั้น ในเอเชียมีมหาอำนาจที่สำคัญคือ จีนและญี่ปุ่น ส่วนไทยตกอยู่ภายใต้สัมพันธภาพของมหาอำนาจสำคัญ (Little entente) แต่ทั้งหมดล้วนตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากเจ้าอาณานิคมคนขาว แต่จีนเปรียบเหมือนยักษ์หลับ จึงเหลือแต่เพียงญี่ปุ่นที่ปรับตัวจนก้าวหน้า
นอกจากนี้ ในหนังสือเล่มนี้ มีภาพล้อเลียนนโยบายต่างประเทศของไทยในอดีตว่า ไทยเปรียบเหมือนกับเต่าที่หลบในกระดองยอมให้นกเกเรจิกกัดทั้งซ้าย-ขวา

จากภาพตีความได้ว่า เต่าหมายถึงสถานะของไทยและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในอดีต
โดยนกเกเรทั้ง 2 ตัวที่อยู่ด้านข้างของเต่า หมายถึง อังกฤษและฝรั่งเศส
แต่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 แล้ว เขาเห็นว่า ไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น เขายกตัวอย่างการหยิบยื่นมิตรภาพของไทยที่มีต่อญี่ปุ่นในคราวการงดออกเสียงในการประณามญี่ปุ่นที่สันนิบาตชาติ เขาอ้างข้อความที่ตัวแทนญี่ปุ่นกล่าวกับไทยว่า หากในอนาคตมีมหาอำนาจตะวันตกมารังแกไทย ญี่ปุ่นจะช่วยเหลือไทย ว่านี่คือสัญญาณของความใกล้ชิดกัน (85)
เขาเห็นว่า ในอดีต รัฐบาลระบอบเก่าดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยให้ความสำคัญกับมหาอำนาจตะวันตก แต่รัฐบาลประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นเป็นนโยบายที่ถูกต้องตามยุคสมัยแล้ว
เขาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลในระบอบเก่าคบแต่มหาอำนาจตะวันตก เนื่องจากผู้ปกครองสมัยนั้นดำเนินการตามแบบอย่างในอดีต ซึ่งขณะนั้น ญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเริ่มตั้งต้นพัฒนาประเทศเท่านั้นจึงทำให้ผู้ปกครองในระบอบเก่าไม่ให้ความสำคัญ
แต่ปัจจุบันนั้น ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจแล้ว เขาเห็นว่า ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นเป็นเพื่อนร่วมผิวที่จะช่วยไทยป้องกันภัยชาวผิวเหลืองจากพวกผิวขาวได้
เขาเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้า คือ การมีนโยบายต่างประเทศอันชาญฉลาด ดังนั้น เขาเสนอให้ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น (95-96,139)
เขาเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับไทยมีความเหมือนกันหลายประการ และเชื่อมั่นว่า หากดำเนินการตามแบบญี่ปุ่นแล้วไซร้ ไทยจะมีความเข็มแข้งและก้าวหน้าได้ด้วยเช่นกัน
เขาเห็นว่า ในยุคไทยปกครองระบอบประชาธิปไตย ไทยมีความสัมพันธอันดีกับญี่ปุ่น ไม่ง่ายที่ชาติตะวันตกจะมารังแกไทยเฉกเช่นในอดีต

“สยาม…กลายเป็นปูที่กำลังอ้าก้ามป้องกันภัยอยู่ทั้งซ้ายและขวาเสียแล้ว… สยามเลิกบำเพ็ญตนเป็นเต่าหัวหด พยายามยกตนเองขึ้นเสมอกับชาติใหญ่” ด้วยการแสวงหาพันธมิตรและการเริ่มเป็นผู้กล้าสงคราม ท่ามกลางความวุ่นวายของการเมืองโลก เขาเรียกร้องว่า “เมื่อวิถีโลกมีอยู่เช่นนี้ แม้นว่าสยามเราจะรักสงบโดยอารยะวิสัย ก็ขออย่าให้ธรรมแห่งความสงบมัดมือเท้าไว้เป็นมัดหมูให้ปรปักษ์ตะลุยเลือดเราได้ข้างเดียว แต่ขอให้พวกเราจงรักความเป็นไทยแห่งชาติให้มากกว่าสิ่งอื่นเถิด” (105)
ดังนั้น หากประเมินจากกระแสความสนใจของสังคมจากหนังสือการเมืองว่าด้วยการต่างประเทศข้างต้นแล้วจะเห็นได้ว่า ภายหลังการปฏิวัติ 2475 สังคมไทยมีความสนใจในความก้าวหน้าของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
ผนวกกับกระแสชาตินิยมที่เกิดขึ้นในสังคมค่อยๆ เปลี่ยนความสนใจของสังคมไทยจากการมองตะวันตกตามอย่างระบอบเก่ามาสู่การหันมองตะวันออกในท้ายที่สุด
อันสะท้อนให้เห็นว่า ภายหลังการปฏิวัติ กระแสสังคมหรือมติมหาชนที่มีต่อเหตุการณ์การเมืองโลกมีส่วนในการผลักดันนโยบายต่างประเทศของไทยในครั้งนั้น
