SearchSri : กีฬากับปัญหาการเมืองที่กาตาลุญญา

คอลัมน์ Technical Time-Out

กลายเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมที่สะเทือนวงการกีฬาทั้งทางตรงและทางอ้อมไปเรียบร้อยสำหรับความพยายามแยกตัวจาก “สเปน” ของ “แคว้นกาตาลุญญา” ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ชาวคาตาลัน 43 เปอร์เซ็นต์ จากผู้มีสิทธิออกเสียง 5.3 ล้านคน ออกไปใช้สิทธิลงประชามติว่าจะแยกตัวออกจากสเปนหรือไม่

ซึ่งปรากฏว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงคะแนนเสียงต่างโหวตเห็นด้วย ขณะที่รัฐบาลกลางจากมาดริดมีท่าทีแข็งกร้าว ประกาศชัดเจนว่าการลงประชามติครั้งนี้ผิดรัฐธรรมนูญ และส่งกำลังตำรวจไปควบคุมดูแลความเรียบร้อย จนเกิดการปะทะกับคนท้องถิ่นในหลายพื้นที่

สถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม “การ์เลส ปุจเดมอนต์” ผู้นำแคว้นกาตาลุญญา ตัวตั้งตัวตีในการแยกประเทศ ได้ลงนามในคำประกาศเอกราชแต่ยังระงับการประกาศใช้เพื่อเปิดทางเจรจากับรัฐบาลกลางของสเปนเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

การที่แคว้นแคว้นหนึ่งจะแยกตัวออกมาเป็นอิสระหรือกำเนิดประเทศใหม่ขณะที่ยังมีความเกี่ยวพันทางการเงินและเศรษฐกิจกับรัฐบาลกลางอยู่มาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของกาตาลุญญาซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของสเปนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้เวลาตัดสินใจเพียงปุบปับแค่ 1-2 สัปดาห์ก็จะทำได้

และหากแยกตัวเป็นเอกราชจริงๆ ก็จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ตามมา

 

ในส่วนของวงการกีฬานั้นย่อมได้รับผลกระทบเต็มๆ นักกีฬาชาวคาตาลันที่เคยเล่นให้ทีมชาติสเปนก็ต้องแยกตัวออกมา สโมสรกีฬาที่สังกัดลีกกีฬาอาชีพของแดนกระทิงดุจะได้เล่นในลีกเดิมต่อไปหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเจรจา ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเอ่ยถึงทีมกีฬาที่โดดเด่นที่สุดของแคว้นกาตาลุญญาย่อมไม่พ้นสโมสรฟุตบอล “บาร์เซโลน่า” ยอดทีมแห่งลาลีก้า ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของชาวคาตาลันมายาวนาน

บาร์ซ่ามีคติประจำทีมว่า “เป็นมากกว่าสโมสรฟุตบอล” เนื่องจากพวกเขาเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งอัตลักษณ์ของชาวคาตาลันตั้งแต่ยุค “นายพลฟรังโก้” ผู้นำเผด็จการของสเปนเรืองอำนาจจนกาตาลุญญาโดนกดขี่และจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม บาร์ซ่าจึงเป็นสโมสรฟุตบอลที่ชาวคาตาลันทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ มีสิทธิมีเสียงในทิศทางบริหารงาน ต่างจากสโมสรอื่นๆ ของประเทศ

สโมสรแห่งคาตาลันได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการลงประชามติครั้งนี้ซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นวันเดียวกับที่พวกเขาต้องลงสนามเกมลีกพบ “ลาส พัลมาส” ที่คัมป์นูพอดี ทำให้ผู้บริหารสโมสรตัดสินใจประกาศปิดสนามแข่งขันหลังความพยายามที่จะขอเลื่อนแมตช์เตะไม่สำเร็จ (เนื่องจากโดนทางลีกขู่ว่าจะลงดาบหนักถ้าไม่ยอมลงสนาม) โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าการยกเหตุผลเรื่องความปลอดภัยนั้นเป็นเพียงข้ออ้างของฝ่ายบริหารบาร์ซ่าเท่านั้น ในทางหนึ่งก็คล้ายๆ เป็นการตอบโต้หรือประชดประชันการใช้กำลังเข้าปราบปรามการลงประชามติของชาวคาตาลันเสียมากกว่า

ที่ผ่านมา บาร์ซ่าพยายามวางตัวกลางๆ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง กระทั่งช่วงใกล้ๆ ถึงการลงประชามติที่ฝ่ายรัฐบาลกลางระบุว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย

บาร์ซ่าจึงออกแถลงการณ์หนุนหลังการลงคะแนนเสียงของแคว้นกาตาลุญญาว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ประชาชนทุกคนพึงมี

 

หนึ่งในแข้งบาร์ซ่าที่ออกมาพูดเรื่องนี้เสียงดังที่สุดคือ “เคราร์ด ปิเก้” กองหลังทีมชาติสเปนซึ่งแสดงความเห็นผ่านโซเชียลหนุนหลังการลงประชามติครั้งนี้บ่อยครั้ง จนคะแนนนิยมในทีมชาติของเขาหล่นฮวบ เมื่อแฟนบอลชาวสเปนจำนวนมากต่างโห่ใส่ปิเก้เวลาได้บอลขณะลงแข่งขันให้ทีมชาติในไม่กี่วันหลังการลงคะแนนเสียง

ถึงขั้นที่เจ้าตัวต้องออกมาให้สัมภาษณ์แบบกลั้นน้ำตาว่า ถ้าคนมองว่าเขาเป็น “ตัวปัญหา” ก็พร้อมจะลาทีมชาติก่อนการแข่งขัน “ฟุตบอลโลก 2018” ที่รัสเซียในปีหน้า

ขณะที่สื่อกระทิงอ้างแหล่งข่าววงในว่า แข้งสเปนเชื่อว่าเหตุที่ปิเก้ออกมาพูดจาเสียงดังเรื่องนี้เพราะต้องการลุ้นเก้าอี้ประธานสโมสรบาร์เซโลน่าหลังจากแขวนสตั๊ดในอนาคต

เรื่องปิเก้ก็กรณีหนึ่ง แต่หากบาร์เซโลน่าต้องการจะแยกตัวออกจากลาลีก้าจริงๆ จะต้องผ่านขั้นตอนการเจรจาหลายประเด็นมากๆ และเมื่อออกมาแล้วจะไปเล่นในลีกไหน (มีสื่อบางสำนักแนะว่าให้ไปร่วม “พรีเมียร์ลีก” อังกฤษเสียเลย) ไปเล่นลีกข้ามประเทศแล้วจะแบ่งเค้กเรื่องค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดหรือผลประโยชน์อย่างไร เพราะวิธีบริหารทีมของบาร์ซ่าหรือหลายๆ ลีกต่างจากแบบธุรกิจจ๋าของหลายๆ ลีก ไหนจะเรื่องค่าเงินที่แตกต่าง การเดินทางเตะแมตช์เหย้าเยือนแบบข้ามประเทศอีก

แค่พูดถึงไอเดียหรือแค่ประกาศกร้าวนั้นมันง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือว่ายากขึ้นอีกหลายเท่าทีเดียว