เปิดตัวแม่ทัพ พรรค 3 ป. ‘แรมโบ้-ปลัดฉิ่ง’ วัดใจ ‘แอร์บูล’ วางทายาท ‘ม้ามืด#2’ ‘บิ๊กตุ๊ด’ ชิง ผบ.ทอ. ‘บิ๊กต่วย-ตั้ว-ป้อม-หนึ่ง’ / รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

เปิดตัวแม่ทัพ พรรค 3 ป.

‘แรมโบ้-ปลัดฉิ่ง’

วัดใจ ‘แอร์บูล’ วางทายาท ‘ม้ามืด#2’

‘บิ๊กตุ๊ด’ ชิง ผบ.ทอ.

‘บิ๊กต่วย-ตั้ว-ป้อม-หนึ่ง’

 

แม้จะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่กันอย่างคึกคัก ทั้งฝั่งพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล แต่พรรคฝ่ายพี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” กำลังถูกจับตามองมากที่สุด

ในแง่ที่ว่า ตั้งมาเป็นพรรคสำรอง หรือพรรคพันธมิตร ที่พร้อมร่วมรัฐบาล ร่วมอุดมการณ์ หรือเป็นพรรคทางเลือกให้ ส.ส.พรรคฝ่ายคัาน หรืองูเห่ามาอยู่ โดยไม่ต้องย้ายเข้าพรรคพลังประชารัฐ ย้ายข้างให้เสียคะแนน เสียมวลชน เพราะที่ผ่านมา มีพลังดูดและงูเห่าที่อยากจะย้ายพรรคหลายคน โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย

เพราะถึงอย่างไร พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมา ก็พร้อมสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ หนุนบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยหลังการเลือกตั้ง

เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะยังคงอยู่ และใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ทันการในรัฐบาลนี้ การเป็นพรรคเล็ก มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.มากกว่าพรรคใหญ่ เพราะมีตัวอย่างจากพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว

พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงก่อกำเนิดขึ้นมา โดยที่ชื่อพรรคตรงกับม็อตโต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซ้ำรอยพรรคพลังประชารัฐ ที่เอานโยบายรัฐบาลยุค คสช.มาตั้งชื่อพรรค

แม้การจดทะเบียนจะเป็นชื่อ ว่าที่ ร.ท.ไกรภพ นครชัยกุล เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็รู้กันดีว่าเป็นเสมือนนอมินี

เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ คือแรมโบ้ สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี ที่เปลี่ยนชื่อเป็นเสกสกล และรีแบรนด์ตัวเองด้วยการไปเรียนปริญญาเอก และกลายเป็น ดร.เสกสกล

ด้วยรู้กันดีว่า ดร.เสกสกลทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์บิ๊กตู่มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐประหาร 2557 ก็ย้ายข้างจากคนเสื้อแดงมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ และช่วยเคลียร์ปัญหาคนเสื้อแดง และหมู่บ้านคนเสื้อแดงในภาคอีสานได้ในระดับหนึ่ง จนผลงานเป็นที่พอใจของ พล.อ.ประยุทธ์

หลังรัฐประหาร ดร.เสกสกล คิดจะหนีออกนอกประเทศ แต่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ที่ตอนนั้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. เจรจาไม่ให้หนี และให้ช่วย คสช.ในการเคลียร์คนเสื้อแดง

จนที่สุด มาทำงานใกล้ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่ปกป้องดูแลแบบถวายหัว และตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติขึ้น

โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์ ม็อตโต้รวมไทยสร้างชาติ ที่นำไปตั้งชื่อพรรค หากเป็นคนไทยไปตั้งพรรค จะใช้ชื่ออะไรก็ได้

และไม่ได้มีคำสั่งให้เปลี่ยนข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้อง ม็อตโต้รวมไทยสร้างชาติ โดยในทำเนียบรัฐบาล ยังคงใช้แบ็กดร็อป ในการแถลงข่าวของนายกฯ หน้ากากผ้า เสื้อ กระเป๋า ชื่อรวมไทยสร้างชาติ ตามเดิม

แถมทั้งกระทรวงมหาดไทยเตรียมจัดแคมเปญต่างๆ ภายใต้ม็อตโต้รวมไทยสร้างชาติ จนทำให้จับตามองกันว่า ดร.เสกสกลจะมาเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงในภายหลัง หรือว่ามีหัวหน้าพรรครับเชิญที่เล็งเอาไว้แล้ว

เช่นเดียวกับพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มีกระแสข่าวว่าใกล้ชิดกับปลัดฉิ่ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยใช้หัวที่มีอยู่แล้วไปก่อน และกำลังคิดชื่อพรรคใหม่ แล้วจะเปลี่ยนชื่อพรรคในภายหลัง

พรรคเศรษฐกิจไทยถูกจับตามองมากกว่า เพราะชื่อชั้นและเพาเวอร์ของนายฉัตรชัยที่ถูกพาดพิงถึงไม่ธรรมดา มีคอนเน็กชั่นกับทุกพรรคการเมือง ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

ที่เชื่อกันว่าพรรคนี้จะเป็นพรรคที่รับการถ่ายโอน ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ให้มาอยู่ภายใต้ร่มโดยไม่ต้องย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ให้ถูกโจมตี หรือถูกมองว่าเจอพลังดูดของบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เข้าไปอีก

แต่เป้าหมาย คือเป็นพรรคพันธมิตรพร้อมที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

แม้ว่านายฉัตรชัยจะมีมิตรสหายอยู่ในทุกพรรคการเมืองทุกขั้ว แต่การทำงานตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. 5 ปีมาจนปัจจุบันอีก 2 ปี นายฉัตรชัยมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รองใน 3 ป.เป็นอย่างมาก จึงถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคการเมืองนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับพี่น้อง 3 ป.

แต่ที่น่าจับตามองจากนี้ก็คือ นายฉัตรชัยจะนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเองหลังพ้นตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะลาออกหรือรอเกษียณ หรือว่าจะมีหัวหน้าพรรครับเชิญไว้แล้ว

จนเกิดกระแสข่าวลือว่าพี่น้อง 3 ป.จะกลายเป็นหัวหน้าพรรคทั้ง 3 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเศรษฐกิจไทย

แต่ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ไม่จำเป็นต้องเปิดตัวเปิดหน้าในการเล่นการเมือง หรือตั้งพรรคใหม่เหล่านี้ เพราะไม่เป็นผลดี และอาจถูกมองว่าแย่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันเอง

พรรคการเมืองจึงมีโอกาสที่จะมีหัวหน้าพรรคที่เป็นนอมินี หรือเป็นตัวแทนพี่น้อง 3 ป.ที่ไว้ใจได้

ตราบใดที่พี่น้อง 3 ป.จำเป็นต้องรักษาอำนาจ ครองอำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลให้ยาวนานที่สุด ก็ต้องวางกลไกในทางการเมืองไว้ เพราะพรรคพลังประชารัฐที่เต็มไปด้วยหลายกลุ่ม ก๊วน ก๊ก เต็มไปด้วยปัญหา และการต่อรอง และความขัดแย้งที่อาจจะเกิดการแยกวง แยกตัวออกไป ในอนาคตอันใกล้ ทั้งกลุ่มสามมิตร กลุ่ม กปปส.สาย “ลุงกำนันเดิม” กลุ่ม 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ หรือแม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ก็กำลังตั้งพรรคเช่นกัน

ขณะที่ในส่วนกองทัพ พล.อ.ประยุทธ์ก็ละสายตาไม่ได้ โดยเฉพาะกองทัพอากาศ ที่ยังคุกรุ่น หลังบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผบ.ทอ. แผลงฤทธิ์เบาๆ เบาะๆ ในการย้ายเจ้ากรมสายส่งกำลังบำรุงหลายคน ที่บิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ.คนก่อนตั้งไว้ ในโผโยกย้ายกลางปี ที่มีผล 1 เมษายนที่ผ่านมา

การโยกย้ายปลายปี ที่จะเริ่มทำโผกันราวกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ จึงยิ่งถูกจับตามองว่า พล.อ.อ.แอร์บูลจะทิ้งทวนเช่นไรก่อนตนเองเกษียณ

เพราะจากที่มีคนเดาใจว่า พล.อ.อ.แอร์บูลจะสนับสนุนให้บิ๊กตั้ว พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ผบ.คปอ. เพื่อนซี้ร่วมรุ่น ตท.21 ให้ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.ต่อในปีสุดท้ายของ พล.อ.อ.สฤษฎ์พงศ์นั้น

แต่กระแสข่าวที่สะพัดใน ทอ.เวลานี้มาแรงว่า พล.อ.อ.แอร์บูลยังมีตัวเลือกอื่นด้วย โดยเล็งที่นักบินลำเลียงแบบตนเอง และมาแบบม้ามืดเช่นที่ตนเองมา

ชื่อของบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. จึงกำลังถูกโฟกัส และวัดใจ พล.อ.อ.แอร์บูล

เพราะไม่ใช่แค่เพราะไม่ใช่นักบินขับไล่เหมือนกัน เข้าใจหัวอกนักบินลำเลียงเหมือนกันแล้ว ยังเป็นเพราะ พล.อ.อ.อลงกรณ์ยังเติบโตมาในสำนักปลัดบัญชีทหารอากาศเช่นเดียวกัน และได้เป็นปลัดบัญชี ทอ.ต่อจาก พล.อ.อ.แอร์บูล

พล.อ.อ.แอร์บูลเป็นนักบิน C-130 ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.แบบม้ามืด จากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ไม่ได้อยู่ใน 5 ฉลามอากาศ แต่ พล.อ.อ.มานัตดันขึ้นมา

ส่วน พล.อ.อ.อลงกรณ์ ตท.22 เป็นนักบินเป็นนักบินเครื่องT-Bird และ เคยบิน L-39 ด้วย ที่เพิ่งเป็น พล.อ.อ. ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เมื่อตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา แถมมีอายุราชการถึงกันยายน 2566

พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ

กล่าวกันใน ทอ.ว่า นอกจากอาศัยพลังจาก พล.อ.อ.แอร์บูลแล้ว ยังมีพลังรุ่น ตท.22 ที่มีบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 เป็นแกนนำ ที่จะดันเพื่อน ตท.22 ขึ้น ผบ.เหล่าทัพ เช่น ใน ทร.ก็มีทั้งบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผบ.กร. และบิ๊กโต๊ะ พล.ร.อ.ทรงวุฒิ บุญอินทร์ ผช.ผบ.ทร. ที่ชิงกันขึ้นเป็น ผบ.ทร.

แต่ทว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์ไม่เคยเป็น ผช.ทูตทหาร และผู้บังคับฝูง หรือผู้บังคับการกองบินใดๆ แต่เติบโตมาในกองบิน 56 เคยเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการของบิ๊กต้อย พล.อ.อ.ธนนิตย์ เนียมทันต์ ผบ.ทอ.ในยุคที่กองทัพอากาศเคยมีปัญหาความแตกร้าวเกิดขึ้นในหมู่นายทหารเพื่อนนายเรืออากาศ (นนอ.05 ) จนในเวลานั้นต้องมีการเลือก ผบ.ทอ.ที่เป็นม้ามืด เป็นตาอยู่อย่าง พล.อ.อ.สนั่น ทั่วทิพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.กันเลยทีเดียว

ขณะที่ พล.อ.อ.แอร์บูลเคยเป็น ผช.ทูตทหารอากาศ ประจำสิงคโปร์ และเคยเป็นผู้บังคับฝูง และผู้บังคับการกองบิน 6

ด้วยเพราะตามธรรมเนียม ทอ.แล้ว นายทหารอากาศที่จะเป็น ผบ.ทอ. จะต้องเป็นนักบิน ไม่ว่าจะนักบินขับไล่ หรือลำเลียงก็ตาม และต้องเป็น ผบ.หน่วย ระดับผู้ฝูง และผู้การกองบิน และ ผช.ทูตทหารอากาศ

จึงอาจทำให้โปรไฟล์ของ พล.อ.อ.อลงกรณ์ไม่สวยนัก

พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา

แต่ทว่า หาก พล.อ.อ.แอร์บูลจะผลักดัน ก็อาจต้องใช้แรงมากหน่อย เมื่อเทียบกับแคนดิเดต ผบ.ทอ.คนอื่นที่มีอยู่

โดยเฉพาะเสธ.หนึ่ง พล.อ.อ.ขานนท์ มุ่งธัญญา เสธ.ทอ. ที่เป็นทั้งนักบินเอฟ 16 ผู้ฝูง ผู้การ โตมาจากกองบิน 4 และเคยเป็น ผช.ทูต ทอ.ที่สวีเดน

และยังเป็นครีม เป็นคนเก่งในรุ่น ตท.23 และเป็นเพื่อนรักบิ๊กหมี พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย แกนนำรุ่น ในสายราชสำนักด้วย และมีอายุราชการถึงกันยายน 2567 ที่หากนั่ง ผบ.ทอ. 3 ปี ก็จะทำงานได้ต่อเนื่อง

แต่ถูกมองว่า พล.อ.อ.มานัตดันขึ้นมา พล.อ.อ.แอร์บูลจะไม่สนับสนุน เพราะเกิดปัญหาทางใจระหว่างกันเสียแล้ว แม้ว่า พล.อ.อ.มานัตจะเป็นคนดัน พล.อ.อ.แอร์บูลขึ้นเป็น ผบ.ทอ.ม้ามืดมาก็ตาม

พล.อ.อ.สฤฏษ์พงศ์ วัฒนวรางกูร

ที่ไม่อาจมองข้าม คือความเคลื่อนไหว ความเป็นไปใน ทอ.ยังอยู่ในสายตาของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่รอจังหวะเข้าเสียบ หากเกิดความขัดแย้งจนตกลงกันไม่ได้

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยพยายามเสนอชื่อบิ๊กต่วย พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง ตอนที่เป็นเสธ.ทอ. ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. แทน พล.อ.อ.แอร์บูล เมื่อครั้งที่ พล.อ.อ.มานัตเสนอชื่อขึ้นมา แต่ พล.อ.อ.มานัตยืนกรานชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล ก็จึงต้องเลยตามเลย

แต่ก็ยังมีข่าวออกมาเสมอว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงสนับสนุน พล.อ.อ.สุทธิพันธ์เป็น ผบ.ทอ.อยู่ แม้ว่าจะถูกเด้งไปเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุดแล้วก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถโยกข้ามกลับจาก บก.ทัพไทย มาเป็น ผบ.ทอ.ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณกันยายน 2565 ได้

ด้วยเพราะมีการมองว่า พล.อ.อ.แอร์บูลไม่มีพลังมากพอในการเจรจาต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ รมว.กลาโหม

แต่ก็มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็สำรวจตรวจสอบกระแสข่าวใน ทอ.เช่นกัน และจับตาดูแคนดิเดต ผบ.ทอ.ทุกคนอยู่ โดยเฉพาะ พล.อ.อ.ชานนท์ด้วย ที่ก็ไปเป็นตัวแทน ผบ.ทอ.ร่วมประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรอยู่เนืองๆ

พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ

ที่รอดูกันก็คือ พล.อ.ประยุทธ์จะดึง พล.อ.อ.สุทธิพันธ์กลับมาเป็น ผบ.ทอ.ในโผกันยายนนี้หรือไม่ และจะดึงบิ๊กป้อม พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันทน์ รองเสธ.ทหาร ที่ถูกเด้งไปอยู่กองทัพไทย กลับมาจ่อคิวขึ้น ผบ.ทอ.ด้วยหรือไม่ เพราะก็ถือเป็นคนเก่ง และคนดี

แต่ตำแหน่ง ผบ.ทอ.เป็นได้แค่คนเดียว พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องตัดสินใจ และมองภาพรวมของ ทอ. เพราะหากให้ ทอ.นิ่ง ไม่ต้องเปลี่ยน ผบ.ทอ.ทุกปี ก็เลือกแคนดิเดตที่เป็น ผบ.ทอ.ต่อเนื่อง 2-3 ปีเลย

แต่ก็ต้องเลือกระหว่าง พล.อ.อ.ธนศักดิ์ (ตท.22) หรือ พล.อ.อ.ชานนท์ (ตท.23) เพราะเกษียณกันยายน 2567 พร้อมกัน

พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง

ทว่าในแง่โปรไฟล์แล้ว พล.อ.อ.ชานนท์ กับ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เดินมาคล้ายๆ กัน คือจาก ผช.ทูต ทอ. มาอยู่กรมยุทธการ ทอ. จนเป็นเจ้ากรมยุทธการ ทอ. และรองเสธ.ทอ.

แต่ พล.อ.อ. ชานนท์เป็นนักบินเอฟ 16 เคยเป็นผู้บังคับฝูงบิน 403 กองบิน 4 ผู้บังคับการกองบิน 4 ก่อนไปเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทย ประจำกรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน ก่อนเป็นรองเสธ.ทอ. และเสธ.ทอ.

ส่วน พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เป็นนักบิน OV-10 และ ผช.ทูต ทอ.ประจำสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้ากรมยุทธการ ทอ. ก่อนเป็นรองเสธ.ทอ. แล้วมถูกเตะข้ามไปเป็นรองเสธ.ทหาร

นับถอยหลัง รอดูการใช้อำนาจ รมว.กลาโหมและนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ได้เลย