ชีวิต “ชวน หลีกภัย” ใต้ร่มพระบารมี ร.9 พระราชปณิธานประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีสิทธิ์ มีเสียง ในบ้านเมือง

“ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย นักการเมืองรุ่นลายคราม ผ่านการเมืองยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ-เต็มใบ ชีวิต “ชวน” ตลอดเส้นทางนักการเมือง 15 สมัย เป็นทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล

รัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถือเป็น “หลักชัย” ให้ “อดีตนายกรัฐมนตรี” ยึดในการบริหารประเทศและยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมบนสนามการเมืองในยุคเผด็จการทหารสุดขั้ว-เผด็จการเสียงข้างมากสุดแขนมาจวบจนถึงทุกวันนี้

“ชวน” สำนึกในพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเล่าว่า “งานเลี้ยงวันขอบคุณนักศึกษาในงานจัดงานกาชาดสมัยก่อน ผมกับเพื่อนๆ เป็นตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นไปแสดงบนเวที แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้เตรียมไป พรรคพวกจึงให้ผมขึ้นไปบนเวทีออกตัว ผมจึงได้กล่าวถึงความสำคัญของการแสดงหน้าพระที่นั่งว่า ต้องมีการเตรียมตัวมานาน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้น การไม่ได้เตรียมตัวมาจึงเป็นปัญหา”

“ผมยกตัวอย่างไปว่า เช่น การร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาร่างหลายปี พอพูดคำนี้จบ พรรคพวกก็ส่งเสียงวี้ด เพราะขณะนั้นเป็นยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญมาหลายปีแล้ว แต่ว่ายังไปไม่ถึงไหน”

“ต่อมาพระองค์เสด็จออกมาตรัสถึงเรื่องนี้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาออกตัวว่า ไม่ได้เตรียมตัวมา จึงเกรงว่าจะเล่นได้ไม่ได้ดี แต่ความจริงเขาก็เล่นได้ดี ที่บอกว่า งานสำคัญต้องใช้เวลา เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระองค์ท่านทรงรับสั่งต่อไปว่า บางทีของนานก็ไม่ใช่ของดีเสมอไป”

“ชีวิตทางการเมือง” ของ “ชวน” ยังได้สัมผัสกับพระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตลอดการเป็นนักการเมืองในวันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาทุกปี

“พระองค์ท่านทรงรับสั่งถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ให้คิดถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ ประเทศชาติจะได้ประโยชน์”

แม้ในบางปี บางยุคที่เผด็จการทหารครองเมือง ประชาชนถูกปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ทรงรับสั่งว่า “หวังว่าสภานิติบัญญัติจะทำหน้าที่เพื่อให้มีกฎหมายหลักของบ้านเมืองโดยให้ประชาชนของข้าพเจ้ามีสิทธิ์ มีส่วน มีเสียงต่อไปในวันข้างหน้า บ้านเมืองได้เป็นประชาธิปไตย”

“ชวน” ในฐานะผู้แทนราษฎรหลายสมัยตั้งแต่เริ่มเป็นนักการเมืองจวบจนถึงปัจจุบันนี้ ได้ถอดรหัสพระราชกระแสรับสั่ง พระราชดำรัส ว่า สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการแนะนำให้สมาชิกทั้งหลายทำหน้าที่ด้วยความสุขุม รอบคอบ

“ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมสภาแล้ว ประธานรัฐสภาในขณะนั้นเอง รีบเลือกนายกรัฐมนตรีโดยยกพระราชดำรัสของพระองค์มาอ้างว่า ทำอะไรอย่าให้ชักช้า บังเอิญผมเป็นคนที่สนใจพระราชดำรัสในหลวงมาตั้งแต่ต้นและถือติดตัวมาโดยตลอด เมื่อประธานสภาพูดอย่างนี้ ผมจึงยกมือพูดทันทีเลยว่า ท่านประธาน พระองค์ท่านไม่ใช่เพียงทรงรับสั่งว่า อย่าชักช้า แต่ทรงรับสั่งว่า ให้สุขุม รอบคอบด้วย เพราะฉะนั้น การรีบร้อนทำจึงไม่รอบคอบ ประธานสภาตกใจมาก รีบตัดบทไม่ให้พูดและปิดสภาทันที”

“ชวน” กล่าวอีกว่า พระราชดำรัสอีกองค์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเน้น คือ เรื่องความเป็นอยู่ของประชาชน การแก้ปัญหาประชาชนที่ลำบากยากจน ถ้าสามารถทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้นได้ ความมั่นคงของประเทศจะเกิดขึ้น

“ความมั่นคงของประเทศอยู่ที่ความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสำคัญ”

“พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับสมาชิกรัฐสภาในบางปี ว่า จะพูดอะไรต่อสภาในขณะนี้ ขอให้คิดว่า สิ่งที่พูดนั้น ประโยชน์ของประเทศชาติสำคัญที่สุด ไม่อภิปรายเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง แสดงให้เห็นชัดเจนจนถึงวันนี้”

“อดีตนายกรัฐมนตรี” 2 สมัย “ชวน” ตระหนักเป็นอย่างดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงติดตามการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีทุกคน แม้กระทั่งผู้บริหารประเทศในขณะนั้นจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม

“แม้ผมจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว วันหนึ่งยังทรงรับสั่งถึงอดีตผู้นำฝ่ายค้าน ทรงกล่าวในปี 2548 ว่า แต่ละฝ่ายใครพอเพียงบ้าง ใครประหยัดบ้าง ทรงตรัสว่า ฝ่ายค้านคงพอเพียงนะ ทรงถามว่า ผู้นำฝ่ายค้านคนปัจจุบัน (นายอภิสิทธิ์) พอเพียงหรือเปล่า แต่ผู้นำฝ่ายค้านท่านก่อน (นายชวน) คนที่แล้วพอเพียงมาก เขาใช้เงินแผ่นดินแต่เพียงน้อย เพราะในหลวงของเราทรงเชื่อว่า ถ้าไม่ประหยัดบ้านเมืองอยู่ไม่ได้ ทรงใช้คำตรงๆ ว่า บ้านเมืองจะอยู่รอดต้องประหยัด”

“ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตัดสินใจซื้อเครื่องบิน ALPHA JET ของเยอรมัน 2 ฝูง ในราคาถูก ของดี ถึงแม้จะเป็นของใช้แล้วแต่สามารถใช้ได้ต่อไปเป็นเวลานาน อีกหลาย 10 ปี ปัจจุบันยังใช้อยู่ แต่กองทัพอากาศทะเลาะกันจนเป็นข่าวสารในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมต้องตัดสินใจ โดยศึกษาจากผู้รู้แล้วเห็นว่าเป็นของถูก ของดีจริงๆ ทุกคนยืนยันว่าเป็นของดี ผมจึงตัดสินใจว่าซื้อ”

“วันหนึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าเฝ้าฯ เรื่องอะไรไม่ทราบแน่ชัด ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นมาขอพบผมและบอกว่า ท่านนายกฯ ครับ พระองค์ทรงรับสั่งถึงเรื่องการซื้อเครื่องบิน ALPHA JET ว่า ตัดสินใจถูกต้องแล้ว ในหลวงทรงติดตามและทรงย้ำให้อยู่อย่างประหยัด รู้จักความพอเพียง ไม่ใช่ความตระหนี่ เมื่อมีเหตุผลต้องใช้ก็ต้องใช้”

“ผมเคยตามเสด็จไปเชียงใหม่ ทรงเยี่ยมสหกรณ์ สมัยนั้นผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์ขณะนั้นมีปัญหา มีการรั่วไหล ทุจริต ทรงเตือนกรรมการว่า เงินทั้งหมดเป็นภาษีของประชาชน ทรงเตือนให้สติ ว่า เงินภาษีประชาชนที่นำมาช่วยเป็นเงินภาษีประชาชน เพราะฉะนั้น ต้องบริหารให้ดี”

“ชวน” เล่าย้อนกลับไปสมัยเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี 2511 ถึง 2512 เส้นทางคมนาคมขนส่งยังไม่ได้พาดผ่าน-ถนนหนทางยากลำบาก แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเจริญขึ้น กลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ เช่น การคมนาคมดีขึ้น ถนนดีขึ้นแต่เป็นอุปสรรคในการไหลเวียนของน้ำ กลายเป็นปัญหาน้ำท่วม โครงการในหลวงจึงได้เข้าไปแก้ปัญหา

“โครงการของในหลวงที่มีการกล่าวถึงกันมาก คือ โครงการหนองใหญ่ ชุมพร ทรงเข้าไปช่วยชาวชุมพรแก้ปัญหาอุทกภัย พระองค์ท่านเสด็จไปสำรวจพื้นที่จริง แต่ก่อนที่จะเสด็จลงไปพื้นที่จริง ทรงศึกษาจากแผนที่ พระองค์ท่านสามารถทราบได้ว่าสาเหตุและวิธีแก้ปัญหาเป็นอย่างไร”

“วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงชี้แผนที่และทรงชี้ให้ผมดูว่า ท่านนายกฯ ถนนศรีอยุธยามาตรงนี้ จึงมาติดตรงราชปรารภ รถติดตรงนี้ ทำให้ไปไม่ได้ ถ้าทำถนนข้ามไป รถจากถนนศรีอยุธยาจะสามารถข้ามไปได้ ปัจจุบันได้ก่อสร้างถนนเป็นสะพานข้ามไป ไม่ต้องติดอยู่ตรงประตูน้ำ ผมจำได้แม่นยำเพราะทรงรับสั่งถึงซอยหมอเหล็ง ซึ่งเป็นบ้านที่ผมพักอยู่ แสดงให้เห็นว่าทรงละเอียดถี่ถ้วน ลึกมากในการมองปัญหา”

อดีตนายกฯ ยังกล่าวถึงพระราชดำรัสตอบคำถามสำนักข่าวต่างประเทศเรื่องการทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ ในยุคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กำลังพุ่งแรง-อุดมการณ์ทำลายล้างระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแรงกล้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตรัสตอบว่า “พระองค์ทรงต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยของชาวบ้าน” จนเป็นพระราชดำรัสอันเป็น “อมตะ” อันเป็นพระอัจฉริยภาพทั้งในด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

“ผมได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเมื่อปี 2550 เมื่อเกิดการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ว่า ทำไมเราไม่ล้มไปตามทฤษฎีโดมิโน เพราะในหลวงทรงผูกพันกับชาวบ้านมากจนชาวบ้านรับไม่ได้ถ้าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามอันกระทบต่อสถานภาพของในหลวงของเรา อันเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำลงไปและความรู้สึกที่พระองค์ท่านทรงทำนั้นเองทำให้เกิดความผูกพันที่ลึกซึ้งตลอดเวลา ความรู้สึกเสียใจ อาลัยจึงรุนแรงเมื่อเกิดในหลวงสวรรคต”

การบริหารประเทศแต่ละยุคสมัย แต่ละรัฐบาลประสบปัญหาแต่ละช่วงย่อมแตกต่างกันไป บางปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จึงเป็นที่มาของปรัชญา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

“ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหลวงทรงเหนื่อยที่สุด พระองค์ท่านทรงเหนื่อยมา 40 กว่าปี จนปัญหาภาคใต้สงบ แต่ในที่สุดผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคง กลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ พระองค์ท่านจึงทรงย้ำเรื่องหลักนิติธรรมตอนหลังมาก เพราะทรงรู้ว่ามีการทำอะไรนอกเหนือจากหลักนิติธรรมในพื้นที่ กลายเป็นปัญหามาถึงทุกวันนี้”

“ผมรู้สึกเสียใจเพราะพระองค์ทรงสะเทือนใจเรื่องปัญหาภาคใต้มาก พระองค์ทรงเหนื่อยมาตลอดพระชนม์ชีพ ทุกเดือนสิงหาคม กันยายน ในหลวงเสด็จอยู่กับชาวบ้าน แก้ปัญหาทำมาหากิน”

“ชวน” ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านนิติศาสตร์ มีดวงพระเนตรเห็นสว่างในยามที่มืดมิดในทางการเมืองเสมอ ทั้งเหตุการณ์ “มหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” 2535 หรือเหตุการณ์วิกฤตเลือกตั้ง 2549

“ความจริงไม่ใช่หน้าที่ของพระองค์ท่านเลยที่จะต้องลงไปเชิญคู่กรณีที่มีปัญหามาเจรจา พระองค์ทรงทำไปก็ไม่ใช่ไม่เสี่ยง เพราะถ้าทรงทำไปแล้วคู่เจรจาไม่ยอมรับ พระองค์ท่านเสียหาย ในหลวงท่านทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์ท่าน เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนของพระองค์ท่าน จึงทรงเสด็จออกมาเพื่อรับมาแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่ได้เห็นถึงความกล้าหาญของในหลวงในการทรงออกมารับหน้าเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น”

“ข้อสรุปที่ดีที่สุดข้อหนึ่งคือ พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2552 และ 2553 ว่า ให้ท่านทั้งหลายศึกษาให้ถ่องแท้ ว่ามีหน้าที่อะไรและปฏิบัติหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง”

อีกเรื่องคือ เรื่องของความสามัคคี ปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสเกือบทุกครั้ง

คำว่า “รู้รักสามัคคี” พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า “ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่รอด” เพราะบ้านเมืองมีความหลากหลาย ต่างเชื้อชาติ ศาสนา พื้นที่ ทำให้ในหลวงเสด็จไปยังพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ เพื่อไปเยี่ยมประชาชนให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“พระองค์ทรงพยายามใกล้ชิดกับชาวบ้าน ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน พระองค์ทรงอยู่กับชาวบ้าน คนที่ไม่มีความคิดเป็นประชาธิปไตยไม่อยู่กับชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยภาคปฏิบัติ”

“พระองค์ทรงเคยรับสั่งว่า The King Can do no Wrong พูดอย่างนี้เหมือนดูถูก King สิ เพราะ King เป็นมนุษย์สามารถทำผิดได้ แต่พระองค์ท่าน Does no wrong พระองค์ท่านไม่ทำผิด ไม่ใช่เพราะคำว่า King Can do no Wrong ทำให้พระองค์ไม่ทำผิด ไม่ใช่ King ก็ทำผิดได้ แต่ที่พระองค์ไม่ทำผิด เพราะพระองค์ไม่ทำผิด”

“ชวน” ทิ้งท้ายหลักการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า “สิ่งที่ต้องระวังคือ รับรู้ เชื่อ แต่ไม่ปฏิบัติ บ้านเมืองในวันข้างหน้าปัญหายังคงมีอยู่ เป็นของคู่กัน ต้องแก้กันไป ถ้าเกิดโดยคน ต้องทำให้เรียนรู้ ศึกษาและสร้างคนดี”

“ในหลวงทรงให้องคมนตรีออกไปสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อให้โรงเรียนผลิตคนเก่งและดี (เน้นเสียงหนัก) ทรงพระราชทานทรัพย์ 200 ล้านบาท เรื่องนี้ประชาชนทั่วไปไม่รู้ ในหลวงทรงห่วงใยเรื่องคนดีมาก”

คำว่า “คนดี” พระองค์ทรงเคยใช้กับนักกฎหมาย ว่า อยากเห็นนักกฎหมายที่ดี กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง และต้องเป็น “ดีแท้” จะเห็นว่าบ้านเมืองนี้มีคนเก่งมาก แต่จะวัดว่า ดีแท้หรือไม่ ต่อเมื่อถึงเวลาเกิดวิกฤตและต้องตัดสินใจว่า “อะไรคือประโยชน์ตัวเองกับประโยชน์ส่วนรวม”

“ในหลวงต้องการให้คนดีรับผิดชอบบ้านเมือง ทรงรับสั่งว่า บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี อยากให้ส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง คือ หัวใจ ประเทศเราไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่น เพียงแต่เราสะดุดตัวเราเอง”