ปริศนาทุ่งหญ้าแห่งท้องทะเล/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ปริศนาทุ่งหญ้าแห่งท้องทะเล

 

ในช่วงปี 2015-2016 ขณะที่โจเลอาห์ แลมป์ (Joleah Lamb) นักวิจัยหลังปริญญาเอกสาว จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) และทีมกำลังขะมักเขม้นดำน้ำสำรวจพื้นที่แนวปะการังในประเทศอินโดนีเชีย เพื่อศึกษาโรคต่างๆ ในปะการังและหาวิธีแก้ปัญหาปะการังฟอกขาวเพื่อการอนุรักษ์

เธอก็ได้พบว่านักวิจัยบางคนในทีมของเธอเริ่มมีอาการป่วยแปลกๆ

คือเริ่มมีอาการท้องร่วง ปวดบิดจากอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อ (gastroenteritis) หลังการดำน้ำที่แดนอิเหนา

เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะเผลอกลืนเอาน้ำปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียลงไปตอนที่ยังดำผุดดำว่ายอยู่

โจเลอาห์สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับทีม และแหล่งน้ำแถบไหนที่เป็นแหล่งปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียพวกเอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) ที่เป็นต้นเหตุของโรคท้องร่วงนี้

โจเลอาห์เริ่มลงมือสำรวจอย่างเอาจริงเอาจัง และในปี 2017 เธอก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ ความเข้มข้นของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในมหาสมุทรไม่ได้กระจายไปทั่วอย่างเท่าเทียมกันอย่างที่คาด

กลายเป็นว่าบางที่ก็มีปนเปื้อนอยู่เยอะจนไม่แปลกที่ดำลงไปแป๊บเดียวก็อาจจะเสี่ยงติดเชื้อขึ้นมาได้

แต่ในบางที่ก็กลับมีน้อยจนน่าแปลกใจ

จากการสำรวจสารพันธุกรรมของยีน 16S rRNA ที่เป็นเหมือนลายเซ็นของแบคทีเรียต่างๆ จากแนวปะการังที่อยู่ใกล้ๆ กับทุ่งหญ้าทะเลกว่า 8,000 จุด เทียบกับพวกที่อยู่ห่างไกลทุ่งหญ้าทะเล โจเลอาห์ก็ค้นพบว่าปริมาณประชากรแบคทีเรียก่อโรคในเขตแนวปะการังจะลดน้อยถอยลงอย่างมากมาย เกือบเท่าตัว ถ้าในแถบนั้นมีทุ่งหญ้าทะเลที่เขียวขจีอยู่ใกล้ๆ

และไม่ได้ลดเฉพาะแบคทีเรียที่ก่อโรคในมนุษย์เท่านั้น พวกที่ก่อโรคในสัตว์ทะเลก็ลดลงไปด้วย

หญ้าทะเล Thalassia hemprichii ที่มีบทบาทในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียเอนเทอโรคอคคัสในน้ำทะเลได้ (ภาพจาก Wikipedia)

โจเลอาห์และทีมตีพิมพ์ผลงานของเธอในวารสาร Science ในปี 2017

“ผลงานวิจัยนี้ช่วยเน้นย้ำความสำคัญของระบบนิเวศน์หญ้าทะเลที่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ” เธอเขียนในเปเปอร์

งานของโจเลอาห์กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักสมุทรศาสตร์ (marine scientist) และนักนิเวศวิทยา (ecologist) มากมายเริ่มหันมาสนใจศึกษาระบบนิเวศน์หญ้าทะเลที่ปกติมักจะเป็นหัวข้อวิจัยแบบลูกเมียน้อยที่มักถูกมองข้ามกันมากขึ้น

แต่แม้จะสร้างแรงกระเพื่อมได้ค่อนข้างแรงในวงการสมุทรศาสตร์ งานของโจเลอาห์ก็ยังเป็นแค่การศึกษาในระดับจุลภาค คือศึกษาสำรวจแค่ในบางพื้นที่แค่ไม่กี่แห่งเท่านั้น เปรียบก็เหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่แม้จะมีความสำคัญ แต่ถ้าอยากดูในภาพรวมและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ขององค์การสหประชาชาติ แค่นี้คงยังไม่พอ

และในปี 2022 จากพื้นฐานงานวิจัยของโจเลอาห์ที่เผยแพร่ออกไปในปี 2017 และจากงานวิจัยอื่นๆ ทีมวิจัยนำโดยนักนิเวศวิทยา ฟอร์จูนาโต อัสสิโอติ (Fortunato Ascioti) จากมหาวิทยาลัยปาเลอร์โม (Palermo University) ประเทศอิตาลี ได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาเพื่อประมาณการมูลค่าของการให้บริการทางระบบนิเวศ (ecological service) ของหญ้าทะเลจากการบำบัดน้ำและลดจำนวนแบคทีเรีย เอาแค่พวกก่อโรคท้องร่วงพวกเอนเทอโรคอคคัสแบบเดียวกันกับที่โจเลอาห์เจอ แต่คราวนี้ดูในระดับมหภาค หรือในระดับโลก เอาให้เห็นข้อมูลกันชัดๆ ไปเลย

ฟอร์จูนาโตเผยว่า ถ้าจะเอาตัวเลขประมาณการแบบโลกสวยแล้วละก็ จำนวนผู้ป่วยโรคท้องร่วงต่อปีก็อาจจะลดลงไปได้ถึง 24 ล้านรายต่อปี หากระบบนิเวศน์หญ้าทะเลนั้นสามารถทำงานกำจัดเชื้อได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการจัดการและบำบัดรักษาไปได้มากถึงเจ็ดสิบห้าล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ สองพันหกร้อยล้านบาทต่อปี

แต่นั่นคือการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป ฟอร์จูนาโตเผยต่อว่าบนโลกนี้มีหญ้าทะเลราวๆ 70 ชนิด และไม่ใช่ทุกชนิดจะสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อท้องร่วงได้ ที่จริงแล้ว มีไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีความสามารถในการกำจัดเชื้อได้แบบที่โจเลอาห์เจอ

ดังนั้น ถ้ามองแบบในมุมคอนเซอร์เวทีฟนิดนึง จำนวนผู้ป่วยที่ลดได้อย่างน้อยก็น่าจะราวๆ 8 ล้านคนต่อปี แม้จะไม่เยอะแบบเว่อร์วัง ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย

 

“หญ้าทะเลแต่ละชนิดก็สามารถจัดการกับเชื้อแบคทีเรียได้ไม่เหมือนกัน” โจเลอาห์เผย

จากการศึกษาของโจเลอาห์ หญ้าทะเลชนิด Enhalus acoroides, Thalassia hemprichii และ Cymodocea rotundata นั้นจะมีผลต่อจำนวนเชื้อแบคทีเรียจำพวกเอนเทอโรคอคคัส และหญ้าทะเลพบเฉพาะในแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่ชื่อ Posidonia oceanica จะสามารถลดการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Escherichia coli ที่เป็นต้นเหตุของโรคท้องร่วงได้ ในขณะที่หญ้าทะเลอีกชนิด Zostera marina จะสามารถกำราบเชื้อแบคทีเรียในจีนัส Vibrio ที่ก่อโรคลำไส้อักเสบรุนแรงและอหิวาตกโรคได้

“แต่เรายังไม่รู้เลยว่า หญ้าทะเลนั้นจะกำจัดหรือลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้อย่างไร” โจเลอาห์ยอมรับ

แต่ในเวลาที่ภาวะวิกฤต สภาพภูมิอากาศแปรปรวนส่งผลให้มีเชื้ออุบัติใหม่ที่คาดเดาได้ยากเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ก็เริ่มใช้ไม่ค่อยจะได้ผล ถ้ามีวิธีไหนที่จะลดโอกาสการติดเชื้อได้บ้างก็น่าจะเป็นสิ่งดี

และแม้ว่าเปเปอร์ของทีมอิตาลีจะสามารถให้ข้อมูลบทบาทของหญ้าทะเลกับการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคท้องร่วงในระดับมหภาคได้อย่างน่าสนใจ

แต่ถ้าถามโจเลอาห์ ชัดเจนว่าเธอยังไม่ประทับใจ “มันเป็นแค่การประมาณการมูลค่าของการบำบัดน้ำด้วยหญ้าทะเลแบบพิจารณาแค่เชื้อก่อโรคแค่โรคเดียว”

ซึ่งในมุมของโจเลอาห์ นี่อาจจะถือเป็นการด้อยค่าบทบาทที่แท้จริงที่หญ้าทะเลมีต่อระบบนิเวศก็ได้

คือมีตัวเลขประมาณการก็ใช่ว่าจะไม่ดี แต่ตัวเลขที่มีอาจจะบอกอะไรได้ไม่มาก หากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้

อย่างที่งานวิจัยของโจเลอาห์ได้บอกไว้ หญ้าทะเลแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการยับยั้งเชื้อได้แตกต่างชนิดกัน และเวลาโตเป็นทุ่ง ในทุ่งก็อาจจะไม่ได้มีหญ้าแค่ชนิดเดียว ไม่แน่ว่าหญ้าบางชนิดเมื่ออยู่ด้วยกันอาจจะส่งผลเสริมกันทำให้การยับยั้งเชื้อเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็เป็นได้ ไม่มีใครรู้

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ และยังเป็นปริศนาที่ยังต้องรอการวิจัยศึกษาต่อไป ก็คือ กลไกในการฆ่าหรือยับยั้งการเจริญของพวกแบคทีเรียก่อโรคของหญ้าทะเล

 

ตอนนี้ นักวิจัยมากมายกำลังตามล่าหาแหล่งยาปฏิชีวนะเจนใหม่ที่จะมาแก้ปัญหาเชื้อก่อโรคดื้อยาและเชื้ออุบัติใหม่ ทั้งจากปะการัง จากฟองน้ำและจากอีกสารพัดสัตว์ที่พวกเรายังแทบไม่รู้จัก

และในตอนนี้ หญ้าทะเลคงเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่น่าจับตามอง แม้ว่าเปเปอร์งานวิจัยที่เกี่ยวกับคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของหญ้าทะเลจนถึงปัจจุบันจะยังมีแค่ 3-4 เรื่อง

แต่อีกไม่นานคงมีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกมาก

ตอนนี้ โจเลอาห์ที่เพิ่งย้ายไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางสมุทรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ (University of California Irvine) ก็ได้เริ่มโครงการวิจัยของเธอเพื่อสำรวจและศึกษาคุณสมบัติและบทบาทการบริการทางนิเวศน์ของหญ้าทะเลต่ออย่างจริงจังแล้วด้วย

ใครจะรู้ วันหนึ่งข้างหน้า สารชีวภัณฑ์จากหญ้าทะเลที่พวกเรายังไม่รู้จัก อาจจะกลายเป็นแคนดิเดตยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่มาช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก ที่เป็นปัญหาระดับโลกในปัจจุบันได้สำเร็จก็เป็นได้

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางอย่างที่ดูเผินๆ ไม่น่ามีอะไร ก็อาจจะมีคุณค่ามหาศาลซ่อนเร้นอยู่

“เพราะหญ้าทะเลไม่ได้มีดีแค่เป็นแหล่งอาหารของเหล่าพะยูนและหมูดุด!”??