‘น้อนนนน’ ทำอะไรที่ในหม้อ / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

“วันนั้นเป็นวันที่ทั้งร้อนทั้งชื้น ในป่าพรุในแถบบอร์เนียว แล้วก็มีนักเรียนร้องเสียงดัง อูลมา มาดูนี่เร็ว มีค้างคาวในใบหม้อข้าวหม้อแกงลิง”

นักนิเวศวิทยาเขตร้อน อูลมา กราฟ (Ulmar Grafe) จากมหาวิทยาลัยบรูไน ดารุสซาลาม ในประเทศบรูไน เล่าประสบการณ์สำรวจหม้อในบอร์เนียวของเขา

“ค้างคาวตัวหนึ่งห้อยหัวติดอยู่ในหม้อ พวกเราค่อยๆ บีบมันออกมาทางปากหม้อ ค้างคาวดูงงๆ ง่วงๆ แต่ก็ดูสบายดี”

นักวิจัยมากมายที่ทำวิจัยและศึกษาชีววิทยาของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง อย่างน้อยก็ครั้งสองครั้ง พวกเขาจะเจอสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่ในหม้อ

และมีประสบการณ์ได้เคยช่วยค้างคาว หรือว่ากระแตออกมาจากหม้อ

 

หลายคนอาจจะคิดว่าพวกเขาได้ช่วยเหลือชีวิตสัตว์โลกน่ารัก ให้หลุดออกมาจากกับดักอันแสนโหดร้าย

เพราะแต่เดิม เราถูกปลูกฝังให้เชื่อกันว่าใบของหม้อข้าวหม้อแกงลิงถูกเสกปั้นขึ้นมาจากกระบวนการวิวัฒนาการจนมีหน้าตาละม้ายคล้ายหม้อ ด้วยจุดประสงค์คือเพื่อดักจับแมลงเป็นอาหารเสริม

ภายในจะมีน้ำย่อยที่น่าสะพรึง รอย่อยสลายเนื้อเยื่อของสัตว์อะไรก็ตามที่ตกลงไปจนไม่เหลือหรอ

พวกเขาจะต้องรู้ให้ได้ถึงความลับในถุงหม้อข้าวหม้อแกงลิง

และแล้วคลิปจากการติดกล้องถ้ำมองพฤติกรรมของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงก็เปิดเผยถึงสิ่งที่ทำให้พวกเขาประหลาดใจสุดๆ เข้าใจผิดมาตลอดหรือนี่

คงต้องเปลี่ยนแนวคิด เพราะพวกเขาอาจจะไม่ได้ไปช่วยชีวิตของน้อนนน

แต่กลับไปก่อกวนการนอนหลับพักผ่อนอันเสนสบาย

หรือที่เจ็บปวดที่สุด ก็คือไปขัดจังหวะเวลาปลดทุกข์ของพวกมัน

กระแตกำลังนั่งจิบน้ำหวานอย่างสบายใจบนโถสุขภัณฑ์ชั้นดียี่ห้อหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes lowii) (Image credit : Ch’ien Lee)

หน้าตาของหม้อถูกวิวัฒนาการมาอย่างหลากหลาย และบางสายพันธุ์ก็เหมาะสมอย่างยิ่งในการใช้เป็นห้องนอนกลางวัน และที่เด็ดสุด บางสายพันธุ์จะถูกใช้เป็นสุขา

ผลงานวิจัยสุดพิสดารที่เผยแพร่ออกมาในวารสาร Biology letter เมื่อปี 2009 ของทีมวิจัยนานาชาติ นำโดยชาร์ล คลาร์ก (Charles Clarke) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ในประเทศมาเลเซีย เผยว่า ในตอนที่ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes lowii) ยังเล็กอยู่ หม้อของมันจะอยู่ใกล้กับดินทำให้สามารถดักจับแมลงเอามาย่อยเป็นอาหารเสริมได้เป็นอย่างดี

แต่สำหรับต้นที่โตสูงใหญ่ขึ้นมาแล้วจะสร้างหม้อที่ห้อยอยู่สูงในพงเถาวัลย์ ทำให้ดักแมลงได้แย่ลงอย่างมาก

แต่ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะมีเป้าหมายใหม่ ไม่ใช่ไว้ดักแมลง แต่ไว้ดักกระแต (tree shrew)

ทางทีมวิจัยอัดวิดีโอไว้ได้ ว่ากับดักหม้อข้าวหม้อแกงลิงสามารถล่อกระแตให้มาติดอยู่กับมันได้อย่างชะงัด แต่ไม่ต้องตกใจไปครับ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงไม่ได้จะกินกระแต

แต่แค่ลวงล่อให้ชื่นชม และนิยมแวะมาเยี่ยมเยือน โดยการสร้างน้ำหวานรสโอชามาล่ออยู่ไว้ตรงฝาหม้อ

และเมื่อธรรมชาติเรียกร้อง กระแตก็อาจจะอยากจะถ่ายแบบมีสไตล์เช่นกัน หม้อที่สะอาดก็เปรียบเหมือนสุขภัณฑ์ชั้นดี เวลากระแตแวะมานั่งจิบน้ำหวานกันที ก็นั่งปล่อยทุ่นลงหม้อไปด้วย เรียกว่ากินไป ปล่อยไป ได้สารอาหารทั้งกระแต ทั้งหม้อ

เพราะ “สุขาที่สะอาด คือความฟินของการปลดทุกข์”

 

“ถ้าให้อุปมามันก็คือสุขภัณฑ์ชั้นดีที่มีโต๊ะบุฟเฟ่ต์ให้จกกินไปด้วยตอนถ่ายทุกข์นั่นแหละ แถมลักษณะหม้อยังเป็นรูปกรวย ฝนตกก็ชะทุกอย่างที่ปล่อยไว้ลงหม้อพอดี” โจนาธาน โมราน (Jonathan Moran) จากมหาวิทยาลัยรอยัลโรดส์ (Royal Roads University) ในบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดากล่าว

อยู่กันแบบนี้ ดีกับทั้งสองฝ่าย ฝั่งกระแตได้น้ำหวาน ส่วนหม้อก็ได้ปุ๋ยแบบจัดเต็ม เรียกว่าพึ่งพาอาศัยกันแบบชิกๆ คูลๆ

“แต่หม้อข้าวหม้อแกงลิงอีกสายพันธุ์ ‘เฮมสเลยานา (Nepenthes hemslayana)’ แม้จะมีหม้อที่ดักจับแมลงได้ค่อนข้างแย่ แย่กว่าหม้อของสายพันธุ์อื่นถึงเจ็ดส่วน แล้วยังไม่สะดุดตาสะดุดใจของกระแตอีกด้วย ถึงกระแตไม่สน แต่ค้างคาวสนและชอบมากด้วย แน่นอนว่าต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์นี้อาจจะพัฒนาขึ้นมาเพื่อดักค้างคาวก็เป็นได้”

อูลมา กราฟ หัวหน้าทีมวิจัยผู้บีบค้างคาวออกมาจากหม้อในตอนต้นของบทความเผย

ค้างคาวกำลังหลับใหลอยู่ในหม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงเฮมสเลยานา (ภาพดัดแปลงมาจาก Grafe et al, 2011)

เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค้างคาวกับหม้อ ทีมวิจัยได้ติดตั้งเครื่องส่งวิทยุขนาดจิ๋วไว้บนตัวค้างคาวที่เขาบีบออกมาจากหม้อหลายหม้อที่พบเจอ

ค้างคาวตัวหนึ่งหนักเฉลี่ยแค่ 4 กรัม ทีมวิจัยของกราฟจึงต้องใช้เครื่องส่งที่น้ำหนักเบาที่สุด มีน้ำหนักเพียง 0.4 กรัม ที่พวกเขาช่วยกันประกอบกันขึ้นมาเอง ซึ่งถ้าเทียบกับที่เคยมีคนทำวิจัยกันมา เครื่องติดตามชิ้นนี้น่าจะถือว่าเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็กที่สุดแล้วที่เคยเอามาใช้ในการติดตามส่องพฤติกรรมสัตว์

ปรากฏว่าค้างคาวที่เคยอยู่ในหม้อ พอปล่อยออกไป ถึงเวลายามเช้าของวันใหม่พวกมันก็บินหาหม้อลงเหมือนเดิม ซึ่งน่าสนใจมากเพราะน้อนนนน มีรสนิยมจำเพาะ และค่อนข้างจะเลือกเยอะ พวกมันจะลงหม้ออยู่แค่แบบเดียวคือหม้อของหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์เฮมสเลยานาเท่านั้น แทบจะไม่สนใจหม้ออื่นๆ เลย

หม้อข้าวหม้อแกงลิงเฮมสเลยานาได้วิวัฒน์รูปทรงหม้อมาเป็นอย่างดี เหมาะอย่างยิ่งแก่การให้ค้างคาวลงไปนอนห้อยหัวชิลๆ อยู่ข้างใน

และด้วยรูปลักษณ์ของหม้อที่เหมือนกรวยที่ค่อยๆ แคบลง ผนวกกับปริมาณน้ำย่อยที่ค่อนข้างน้อย ต่อให้นอนดิ้นกลิ้งไปกลิ้งมายังไง ก็ไม่มีทางไถลลงไปจุ่มน้ำย่อย มากที่สุดก็แค่หัวติดนิดหน่อย

ถ้าเทียบขนาดหม้อกับตัวค้างคาวต้องบอกว่ากว้างขวางโอ่โถง แม่ลูกค้างคาวอยู่หม้อเดียวกันได้แบบสบายๆ แถมข้อดีให้อีกข้อของการอยู่ในหม้อของต้นไม้กินแมลงนั่นก็คือพวกแมลงปรสิตจะไม่ค่อยมากล้ำกรายและก่อกวน เพราะถ้าพลาดอาจจะร่วงลงไปกลายเป็นอาหารต้นไม้ได้ แถมผู้ล่ายังหาไม่เจออีกด้วย (นอกจากนักวิจัยที่ไปบีบมันออกมาจากหม้อ อันนั้นอีกเรื่อง)

และเมื่อได้เวลาย่ำค่ำสนธยา ค้างคาวผู้อาศัยก็จะค่อยๆ ไต่ออกมาพร้อมปล่อยทุ่นลงไปก้นหม้อ พอเป็นค่าที่พัก ก่อนจะบินจากไป พวกมันจะหาหม้อใหม่เป็นที่พักแรมในตอนเช้าของวันถัดไป

แต่หม้อเฮมสเลยานาไม่ได้มีสีสันที่ฉูดฉาด หรือว่ากลิ่นที่หอมตลบอบอวลโชยฟุ้งกระจายไปได้ร้อยลี้ คำถามที่กระทุ้งต่อมสงสัยของนักวิจัยอย่างอูลมา ก็คือ แล้วค้างคาวพวกนี้ตามหาหม้อเฮมสเลยานา เจอได้ยังไงในป่าดิบที่รกชัฏของบอร์เนียว

 

ทีมวิจัยของอูลมาจึงเริ่มศึกษาแบบแผนการสะท้อนเสียงเอ็กโค่ของหม้อที่มีรูปร่างแตกต่างกัน

พบว่าหม้อเฮมสเลยานาสะท้อนโซนาร์ของค้างคาว (echolocation) ได้อย่างดีเยี่ยมเหนือชั้นกว่าหม้อแบบอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ทำให้ค้างคาวสามารถบอกตำแหน่งห้องนอนกลางวันของพวกมันได้อย่างชัดเจน ผ่านทางระบบโซนาร์

นักวิจัยทดลองสร้างห้องเฉพาะที่จะมีหม้อหลายๆ แบบตั้งอยู่ แล้วปล่อยค้างคาวเข้าไปในห้องแล้วรอดูว่าพวกมันลงหม้อไหน น่าตื่นเต้นที่ว่าค้างคาวส่วนใหญ่สามารถเลือกหม้อได้อย่างถูกต้องแม่นยำ คือจะลงในหม้อเฮมสเลยานาเท่านั้น

และเพื่อให้รู้ว่าส่วนไหนของหม้อที่มีความสำคัญในการสะท้อนเสียงโซนาร์ของค้างคาว ที่ช่วยให้ค้างคาวระบุตำแหน่งหม้อได้อย่างแม่นยำ

ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบการทดลองแปะฝาหม้อด้วยแผ่นกระดาษเพื่อเปลี่ยนคุณสมบัติการสะท้อนโซนาร์ของฝา โดยที่ตัวหม้อยังเหมือนเดิมแล้วดูว่าจะทำให้ค้างคาวสับสนลงผิดหม้อได้หรือไม่

ชัดเจนว่าพอเอากระดาษมาแปะฝาหม้อปุ๊บ จำนวนค้างคาวที่เลือกลงหม้อเหล่านั้นก็เปลี่ยนไปปั๊บ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ทีมวิจัยสรุปว่าค้างคาวจะหาหม้อเฮมสเลยานาลงได้อย่างถูกต้องในป่าใหญ่ที่มีสารพัดต้นไม้อยู่กันอย่างแน่ขนัดผ่านการสะท้อนเสียงโซนาร์จากฝาหม้อ

และนั่นคือกลไกที่ทำให้ค้างคาวกับพืชหากันจนเจอ

 

กลยุทธ์การใช้เสียงสะท้อนเอ็กโค่แบบนี้อาจจะเจอได้บ้างในพืชที่ใช้ค้างคาวเป็นสัตว์ผสมเกสร แต่การใช้เสียงเพื่อเรียกสัตว์มาให้อาหาร อันนี้ถือว่าใหม่และน่าสนใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงนิเวศวิทยา และอนุรักษ์ เพราะถ้าหม้อที่มันชอบอยู่หายไป ค้างคาวก็อาจจะค่อยๆ ลดจำนวนลงจนอาจจะสูญพันธุ์ตามไปด้วยก็ได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าค้างคาวเริ่มหมดไป หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่อาศัยอาหารจากทุ่นที่ค้างคาวปล่อยลงหม้อก็อาจจะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

ในปัจจุบันที่ภาวะโลกร้อนกำลังปะทุ ปัญหามลพิษที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังมีการขยายตัวของชุมชนเมืองที่กำลังคืบคลานคุกคามสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ความหลากหลายทางชีวภาพค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ด้วยอัตราที่น่าห่วงกังวล

องค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในระบบนิเวศน์แบบนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ รอบตัวเราไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ และทำให้ระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนและอุดมสมบูรณ์ของเราไม่สูญสิ้นสลายไป ก่อนที่รุ่นต่อไปจะได้มีโอกาสเห็น

ว่าแต่สนใจอยากได้ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมาปลูกที่บ้านกันสักต้นหรือยังครับ เผื่อว่าน้อนนนนๆ แถวบ้านจะได้ดีใจ มีสุขภัณฑ์ไฉไลไว้ใช้ให้สบายอุรา