เรือนร่าง ความเฟิร์ม และการปฏิวัติ : ร่างหญิงไทยกับการปฏิวัติ 2475 (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“ทุกคนเป็นกำลังของชาติ ชาติของเราจะมีแสนยานุภาพอันแข็งแกร่งได้ ก็เพราะมีพลเมืองที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายของมนุษย์จะสมบูรณ์แข็งแรงไม่อ้อนแอ้นนั้น ก็เนื่องมาจากการรับประทานอาหารเป็นส่วนใหญ่”

(กองบริโภคสงเคราะห์, 2483, 13)

 

ทุกวันนี้ สุภาพสตรีไทยให้ความสนใจกับอาหารการกินและการออกกำลังกายตั้งแต่โยคะ วิ่ง กายบริหาร หรือแม้กระทั่งเพาะกาย ความใส่ใจของหญิงไทยที่หันมาให้ความสนใจเรือนร่าง ออกกำลังกาย เสริมสร้างความ “เฟิร์ม” นั้น เริ่มต้นแต่เมื่อใดนั้นกันแน่ อาจเป็นคำถามที่หลายคนถามถึง

หากจะกล่าวว่า เรือนร่างของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เรือนร่างจึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับระบอบการปกครองและการควบคุมโดยรัฐผ่านการทำให้เรือนร่างเป็นไปตามแบบแผนทางสังคมและการเมือง

เรือนร่างจึงเป็นพื้นที่แห่งการจำแนก เช่น ชาย/หญิง จิต/กาย ร่างที่สามารถ/ร่างที่ไร้ความสามารถ ความอ้วน/ผอม หนุ่ม/แก่ หรือแม้แต่เป็นพรมแดนของความเป็นสาธารณะ/ส่วนตัว ( Brown and Gershon, 2017, 1-3)

ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ของพลเมืองนั้นเป็นเป้าหมายของรัฐบาลภายหลังการปฏิวัติ 2475 มานับแต่พระยาพหลฯ จนถึงจอมพล ป. รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้พลเมืองสร้างเรือนร่างขึ้นใหม่ ให้มีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ร่างกายของพลเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่เรือนกายอุดมคติของพลเมืองตามที่รัฐบาลปรารถนา ขณะที่ร่างกายที่สะโอดสะองอ้อนแอ้นนั้นเป็นร่างกายที่ไม่พึงปรารถนา เรือนร่างที่รัฐประสงค์ คือ เรือนกายที่กำยำ แข็งแรงเหมือนนักรบหรือเกษตรกรที่แข็งแรง

(สิทธิธรรม โรหิตะสุข, 2557, 101)

ร่างกายสตรีอุดมคติสมัยประชาธิปไตย (2483) ที่มีอกผาย ไหล่ผึ่ง หลังเหยียดตรง ตามหลักอนามัยแบบที่ 1

สตรีไทยในระบอบเก่า

สําหรับเรือนร่างของสตรีไทยในอดีตเป็นเช่นไรนั้น เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีล บันทึกไว้ในหนังสือของเขา ที่ชื่อว่า “Narrative of a Residence in Siam” (2395) หรือสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น เขาเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสตรีไทยในครั้งนั้นว่า

ผู้หญิงชนชั้นสูงหรือพวกภรรยาขุนนางที่ “…ใช้เวลาวันหนึ่งๆ ฆ่าเวลาด้วยการเก็บดอกไม้มาปักแจกัน ร้อยเป็นพวงดอกไม้ ร้องเพลงที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับความรัก เต้นระบำรำฟ้อนไปตามจังหวะดนตรี นั่งฟังคนเล่านิทานใต้ร่มไม้ แล้วก็ผูกเรื่องคิดว่าจะทำอะไรต่อไป นั่งเคี้ยวหมาก ทำให้ฟันดำ แล้วก็ส่องกระจกชื่นชมความงามของหน้าตาอันน่ากลัวของพวกหล่อน…”

ในขณะที่ “พวกผู้หญิงที่เป็นภรรยาของคนค่อนข้างยากจนหรือพวกฝีพายเรือก็จะยิ่งต้องทำงานหนักตลอดวัน พายเรือขึ้นล่องไปตามลำแม่น้ำ เพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพเพียงสองสามเพนนีหรือเฟื้องอย่างที่พวกคนสยามเรียกเงินของพวกเขา พวกสินค้าก็มีพวกพืชผัก หมาก และไก่ ตื่นขึ้นตอนเช้าก็ต้องรีบพายเรือออกไปในแม่น้ำแล้ว…”

สตรีชนชั้นสูงครั้งระบอบเก่า

แม้กระทั่งเด็กผู้หญิงชาวบ้านก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ดังที่ถูกบันทึกว่า “…พวกผู้หญิงก็จะอยู่กับบ้านได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้เป็นแม่ ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยได้สอนเรื่องศีลธรรมเท่าใด แต่ผู้เป็นแม่ก็ได้สอนวิชาแขนงต่างๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นแม่บ้าน พวกเด็กส่วนมากจะรู้จักวิชาการต่างๆ เหล่านี้ตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ จากนั้นก็ถูกหัดให้ไปพายเรือขายของขึ้นไปตามลำน้ำตั้งแต่เช้าจดค่ำ และบางวันถ้าขายของได้ไม่ดี พวกเด็กผู้หญิงที่น่าสงสารเหล่านี้ก็จะต้องพายขายของต่ออยู่จนกระทั่งค่ำ ทั้งเหนื่อยทั้งเมื่อยล้า บางทีก็ไม่ได้กินอาหารเลย แถมเสียงก็ยิ่งแหบลง เพราะร้องให้คนซื้อของทั้งวัน ดูน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง…” (silpa-mag.com/history/article 65493)

จากบันทึกของฝรั่งผู้นี้นั้นก็ทำให้เข้าใจได้ว่าสตรีชนชั้นล่างทำงานหนัก ในขณะที่สตรีชนชั้นสูงมีเวลาว่างมากจนต้องหากิจกรรมฆ่าเวลา

แม้นต่อมา สยามจะวิวัฒน์เข้าสู่การสร้างความเป็นสมัยใหม่ในรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วก็ตาม แต่อาจเป็นเพียงความทันสมัยในทางเทคโนโลยีเท่านั้น หาได้มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องคุณค่าของความเท่าเทียมของมนุษย์แต่อย่างใด

ดังชนชั้นสูงผู้สำเร็จวิชาการจากต่างประเทศผู้หนึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับเพดานการศึกษาของสตรีสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สตรีไม่ควรมาเรียนวิชาชีพที่มาแข่งกับเพศชายว่า

“หญิงควรจะมีโอกาสได้เล่าเรียนสูงเท่ากับชาย แต่ต้องไม่เรียนวิชาที่เป็นอาชีพของชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารการปกครองของประเทศนั้น มิใช่เรื่องของหญิง…ต้องระวังอย่าให้ผู้หญิงแย่งงานของผู้ชาย อย่าให้อวดดีวิวาทกับผู้ชายเท่านั้น ถึงจะให้เรียนมากเท่ากับผู้ชายก็ต้องสอนให้เป็นผู้หญิงและให้รู้จักตัวว่าเป็นผู้หญิงและให้รู้จักตัวว่าเป็นผู้หญิงเสมอ”

(นันทิรา ขำภิบาล, 2530, 59-60)

สุภาพสตรี ผู้เป็นชนชั้นล่าง ครั้งระบอบเก่า

สร้างสตรีไทยในระบอบใหม่

พลันเมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคกลายเป็นคุณค่าใหม่ของสังคม รัฐบาลคณะราษฎรพยายามสร้างสภาพแวดล้อมและขจัดอุปสรรคใดๆ ที่ขัดขวางการไปสู่สังคมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัฐบาลจอมพล ป. (2481-2487) ที่ประกาศนโยบาย “สร้างชาติ” เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองทั้งหลายสร้างตนสร้างชาติดังนี้

1. สร้างตัวเองให้ดี เช่น การบำรุงตัวให้แข็งแรง รักษาสุขภาพอนามัย ทำตัวให้มีวัฒนธรรมแบบอารยะ มั่นเพียรประกอบอาชีพ ศึกษาหาความรู้ให้ทันโลก

2. สร้างครอบครัวให้ดี รู้จักประหยัด แสวงหาที่ดินทำกิน พ่อบ้านแม่บ้านต้องดูแลครอบครัวให้ดี ให้การศึกษาแก่บุตรหลานให้ทันเทียมผู้อื่น

3. สร้างชาติ เมื่อพลเมืองสร้างตัวและครอบครัวให้ดีย่อมมีแรงเสริมให้เกิดการสร้างชาติไปด้วยกัน (นันทิรา, 65-66)

ในสมัยสร้างชาตินั้น รัฐบาลให้ความสำคัญต่อนโยบายสตรีเป็นอันมาก ในด้านการออกกฎหมาย ระเบียบ การจัดตั้งองค์กร เพื่อยกระดับฐานะและศักดิ์ศรีของสตรีให้ดีขึ้นกว่าเดิม จนกล่าวได้ว่า สมัยรัฐบาลจอมพล ป.นั้นมีนโยบายเกี่ยวกับสตรีที่ก้าวหน้าอย่างมาก

คติใหม่ต่อสตรี ปรากฏดังการส่งเสริมสุขภาพเยาวสตรีให้แข็งแรง และการเข้าร่วมสมาคมอย่างเท่าเทียม

สําหรับการยกระดับสุขภาพอนามัย การออกำลังกายของสตรีไทยนั้น อยู่ภายใต้กระแสการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยให้กับคนไทยทุกคน ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์รวมสมัยลงข่าวการสร้างชาติด้วยการเชื่อมโยงความเป็นมหาอำนาจของชาติเข้ากับสุขภาพของประชาชนแบบใหม่ อันมีข้อความว่า

“สร้างไทยมหาอำนาจด้วยสุขภาพแผนใหม่” เราต้องเป็นมหาอำนาจด้วยการเล่นกล้ามแบบสายฟ้าแลบ มีการเชิญชวนให้ชายฉกรรจ์ชาวไทยมีรูปร่างที่แข็งแรงดังภาพจะทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก รวมทั้งสตรีกายมีเรือนที่สมบูรณ์อิ่มเอมดังภาพย่อมทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจด้วยเช่นกัน

อีกทั้งการกินดีอยู่ดีเป็นศิลปะของการใช้ชีวิตในสมัยแห่งการสร้างชาติ หากเราปล่อยปละให้ร่างกายทรุดโทรมตามบุญตามกรรม ถือเป็นการใช้ชีวิตที่ปราศจากศิลปในการมีชีวิต (ศรีกรุง, 3 พฤศจิกายน 2484)

ด้วยเหตุนี้ นอกจากนโยบายการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการจูงใจพลเมืองว่า พวกเขาและเธอ ผู้เป็นเจ้าของเรือนกายนั้น สามารถสร้างเรือนกายใหม่ขึ้นมาได้ เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ เสรีภาพอันเป็นตัวตนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หรือจะการปล่อยปละให้เรือนกายทรุดโทรมขาดการดูแลอย่างไพร่-ทาสตามระบอบเก่านั่นเอง

การส่งเสริมสุขภาพอนามัยการออกกำลังกายของสตรีในระบอบใหม่ (2478)