ภาพยนตร์ของแท้ : ชีวิตคนไทยยามน้องน้ำมาเยือน

ณัฐพล ใจจริง

“ไม่นึกว่า วันนี้ หนังน้ำท่วมของผมจะกลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของชาติไปแล้ว”

(แท้ ประกาศวุฒิสาร, 2545, 93-94)

 

การศึกษาเรื่องสามัญชนคนธรรมดาในประวัติศาสตร์ไทยเป็นสิ่งที่ศึกษาได้ยากด้วยเกิดจากข้อจำกัดของหลักฐาน

แต่ในภาพยนตร์น้ำท่วม 2485 ของแท้ ประกาศวุฒิสาร ที่ถ่ายขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ดูเหมือนเกิดสำนึกใหม่ ที่เป็นการบันทึกชีวิตของเหล่าสามัญชนธรรมดา คนหนุ่มสาวที่เล่นเรือเท่านั้น และบันทึกภาพการประชุมสภาผู้แทนฯ อันเป็นที่สถิตของอำนาจประชาชนเท่านั้น

แต่ยังมีสภาพท้องถนนในเมืองที่กลายเป็นลำคลอง หรือแม้แต่หน้าตาของชายชราแจวเรือจ้างซึ่งเป็นเพียงผู้ใช้แรงงาน

อันทำให้ทราบว่า พวกเขามีตัวตนในประวัติศาสตร์

แท้ ประกาศวุฒิสาร เครดิตภาพ : มติชน

ภาพยนตร์ของแท้

แท้ ประกาศวุฒิสาร (2461-2561) มีประสบการณ์เคยเป็นช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ กรมแผนที่ทหารบก ช่างภาพและทำหนังสือ “ท่องเที่ยวรายสัปดาห์” ของแผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงพาณิชย์ ช่างถ่ายภาพและภาพยนตร์ ที่บริษัท สหศีนิมา จํากัด เคยถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์ทหารอากาศในเหตุการณ์กองทัพที่เชียงตุง เป็นเจ้าของถ่ายรูปไทยไตรมิตรคู่กับการเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพยนตร์

เขาเคยถ่ายทำสารคดีเหตุการณ์สำคัญในอดีต เช่น น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ 2485, รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490, ไทรโยค 2499, รถรางวันสุดท้าย 2512 เป็นต้น

เมื่อ 2542 เขาได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์)

จากบันทึกความทรงจำของแท้ เขาบันทึกชีวิตวัยหนุ่มสมัยน้ำท่วมไว้ว่า

“น้ำท่วม ในยามที่บ้านช่องผมอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง ซึ่งมองเห็นภูเขาทองและน้ำเต็มคลอง สวยงามดี ผมก็ไม่รู้จะทำอะไรดี นั่งตกปลาเล่นไปพลางๆ นั่งสักพักรู้สึกตัวว่า ฝั่งคลองตรงข้ามบ้านผม มีสุภาพสตรี 2-3 คน แอบมองแล้วหัวเราะคิกคัก พร้อมกับมีเสียงลอยข้ามฟากคลองมาว่า ตกปลาเอาไว้กินกับข้าวมันเรอะ ครั้งแรกผมทำเป็นไม่ได้ยิน พอครั้งที่ 3 ตะโกนมาอีกครั้ง จำนง (วงศ์ข้าหลวง) นอนอ่านหนังสืออยู่ในห้อง ทนไม่ไหวตะโกนบอกผมว่า แท้โว้ย! เขาส่งสะพานมาให้แล้ว ข้ามเลยซีวะ ผมได้แต่นั่งเฉย ได้แต่นั่งยิ้มไปยิ้มมา…” (แท้, 91-92)

“ภายหลังน้ำท่วมสูง มีขยะลอยมามากๆ มาติดอยู่หน้าบ้าน เลยไปไหนไม่สะดวก หันมาตกปลา…” (แท้, 93)

สุภาพสตรี 2 นาง พายเรือเล่นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เครดิต : หอภาพยนตร์แห่งชาติ

พายเรืออวดสาว

เขาเผยเบื้องหลังชีวิตคนหนุ่มที่คว้ากล้องไปบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นไว้ว่า เมื่อ “นั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านก็ชักเบื่อ ผมจึงไปซื้อเรือบดมาลำหนึ่ง ราคา 7-800 บาท ลองซ้อมพายในคลองจนได้ที่ ก็ชวนเพื่อนไปพายเรือเที่ยวกัน…

เราไปหลายแห่งเท่าที่จะไปได้ บางแห่งต้องยกเรือข้ามถนน บางคลองน้ำไหลเชี่ยว พายไม่ค่อยไป ชาวบ้านเห็นนักพายเรือมือใหม่ เขามาช่วยลากเข็นสนุกไปวันๆ บางครั้งไปไกลถึงทุ่งมหาเมฆ ถนนราชดำเนิน บางแห่งน้ำเชี่ยวมากไม่กล้าไป

สองหนุ่มถูกสาวๆ แซวเอาบ่อยๆ เพราะพายเรือไม่เป็น เที่ยวไปเรื่อยๆ ไม่มีห่วง” (แท้, 93)

รอยยิ้มของสองอนงค์ยามท่องพระนคร

มูลเหตุคว้ากล้องถ่ายทำภาพยนตร์

เขาเล่าต่ออีกว่า “ระยะที่น้ำท่วมสูงสุด ผมก็มีความคิดอยากถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้ดูเล่นเป็นที่ระลึก ฟิล์มภาพยนตร์ 16 ม.ม. ขาวดำ ยังหายาก ฟิล์มสีไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเลย แม้มีมา ขาย ก็ไม่รู้จะส่งไปล้างยังไง เคราะห์ดียังมีห้างฮัมบรูกส์-สยาม ของชาวเยอรมัน ยังเปิดขายฟิล์มภาพยนตร์และรับล้าง

ด้วยผมรู้จักกับฝรั่งเยอรมันที่ห้างนี้ดี เขาเห็นหน้า เขารีบบอกเป็นภาษาไทยทันทีว่า สำหรับคุณ ผมมีฟิล์ม 16 ม.ม.ขายให้ 3 ม้วน ม้วนละ 100 ฟิต ด้วยน้ำใจที่เคยมีต่อกัน ผมจึงได้ฟิล์มมา 3 ม้วน แล้วได้เช่าเรือจ้างของลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ชวนพรรคพวกไปด้วย ให้แกพาตระเวนถ่ายเกือบทั่วกรุงเทพฯ และถ่ายเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา และรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญแห่งยุค นั่งเรือมาประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่พระที่นั่งอนันตสมาคมด้วย

ผมถ่ายภาพยนตร์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2485 ได้ 3 ม้วน และไม่นึกว่า วันนี้ หนังน้ำท่วมของผมจะกลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของชาติไปแล้ว” (แท้, 93-94)

รถเมล์วิ่งลุยน้ำหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง

ชีวิตผู้คนในภาพยนตร์ของแท้

แต่ละฟุตเทจในภาพยนตร์ของเขา ให้ภาพน้ำท่วมที่ลานพระบรมรูปฯ น้ำลึกถึงระดับเอว ถนนหน้าพระลานหน้าวัดพระแก้วมีเรือพายสัญจรคึกคัก ที่ลานพระรูปมีหนุ่มสาวพายเรือเที่ยวเล่นอย่างสนุกสนาน ถนนราชดำเนินมีคนพายเรือเที่ยวกันคึกคัก เห็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แนวอาคารริมถนนราชดำเนินที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จซึ่งแปลกตา แลเห็นหนุ่มสาวเล่นเรือที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ มองเห็นเจดีย์ภูเขาท้องที่โอบล้อมไปด้วยน้ำและชุมนุมเรือรับจ้างเชิงเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

มีผู้บันทึกสภาพน้ำท่วมหน้าวัดพระแก้วไว้ว่า “สนามหลวง เหมือนทะเล สายน้อยๆ ถาวรวัตถุ เหมือนลอย อยู่กลางหาว มีระลอกคลื่นซัด สะบัดวาว มองดูขาว เป็นน้ำหมด จดสะพาน เรือน้อยใหญ่ พายแจว แถวอาคาร คล้ายกับบ้าน ริมคลอง มองไม่วาง” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 40)

บริเวณในเมืองแถบหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น มีผู้คนเดินขวักไขว่สับสนอลม่าน แต่น้ำไม่สูงหนักเพียงครึ่งน่องพอเดินที่จะไปมาได้

จากนั้น แท้ได้บันทึกภาพประวัติศาสตร์สังคม ชีวิตชาวพระนครครั้งน้ำท่วมบนถนนเยาวราชที่น่าทึ่ง คือ มีภาพผู้คนเดินลุยน้ำบนถนนเดียวกับพายเรือที่ล่องปะปนไปกับรถเมล์ รถรางและรถลากบนถนนเดียวกันอย่างน่ามหัศจรรย์

รวมทั้งภาพรถเมล์แล่นสร้างระลอกคลื่นไปปะทะผู้คนและเรือพาย สภาพสี่แยกราชวงศ์ที่การจราจรแสนอลหม่าน รถรางสายไปวัดชัยชนะสงคราม ตรงถนนจักรวรรดิ ที่มองเห็นภาพถนนใจกลางเมืองครานั้น

ในภาพยนตร์ของแท้นั้น บันทึกภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน และชาวจีนย่านใจกลางพระนครที่พาอาหมวยนำกะละมังและถังเหล็กรองน้ำประปาจากก๊อกน้ำริมถนนกลับไปใช้ที่บ้านอันเป็นภาพแปลกตาสำหรับคนยุคปัจจุบัน

ภาพการสัญจรทางเรือย่านถนนราชดำริแถบสวนลุมที่น้ำท่วมสูง รวมทั้งภาพบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่น้ำเจิ่งนองไปทั่ว ถึงระดับหัวเข่าเลยทีเดียว

จากนั้น ลุงแจวเรือจ้างพาเขาไปยังศูนย์กลางอำนาจการเมือง คือ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งขณะนั้นใช้เป็นสภาผู้แทนฯ และวันนั้นเป็นวันประชุมสภาด้วย เขาจึงถ่ายภาพเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกคณะราษฎรได้ เช่น พระพยาพหลพลพยุหเสนา ประยูร ภมรมนตรี หลวงเชวงศักดิ์สงคราม วิลาศ โอสถานนท์ ควง อภัยวงศ์ และหลวงพรมโยธี

เป็นภาพเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก และการประชุมสภายังดำเนินไปไม่ยกเลิกแม้นน้ำท่วมก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ภาพยนตร์น้ำท่วม 2485 ของแท้ ประกาศวุฒิสาร จึงเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า ด้วยบันทึกเหตุการณ์สำคัญของชาติครั้งน้ำท่วมใหญ่ที่หาข้อมูลได้ยาก อีกทั้งยังบันทึกประวัติศาสตร์สังคม วิถีชีวิตของผู้คนทั้งสามัญชนจนถึงบุคคลสำคัญทางการเมืองไว้ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง

เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ และเห็นภูเขาทองยามน้ำท่วม
ภาพเรือพาย รถเจ๊ก รถเมล์ และสามล้อบนถนนยาวราช
หญิงชาวจีนพร้อมอาหมวยรองน้ำประปาในย่านเรือนแถวไม้กลางพระนคร
ภาพเรือแล่นมาส่งเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชุมสภา
ภาพพระยาพหลฯ (สวมหมวกกะโล่) นั่งเรือมาประชุมสภา