เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 กับพลนิกรกิมหงวน : ภาคกลางคืน แจ๊ซดนตรีแห่งระบอบใหม่/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482

กับพลนิกรกิมหงวน

: ภาคกลางคืน

แจ๊ซดนตรีแห่งระบอบใหม่

 

ดนตรีแจ๊ซเป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ กระแสแจ๊ซและลีลาศแพร่หลายจากอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ช่วงทศวรรษ 2450 จากนั้น แพร่หลายผ่านแผ่นเสียงและกลายเป็นกระแสช่วงทศวรรษ 2460 จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Bart Barendregt, 2017, 28-36)

อย่างไรก็ตาม แม้นราชสำนักในระบอบเก่าจะรับอิทธิพลดนตรีตะวันตกเข้ามาแต่มุ่งเน้นไปในทางคลาสสิคที่มีแบบแผน ช่วงปลายระบอบเก่า ดนตรีแจ๊ซจะเริ่มเข้ามาแต่ไม่ได้รับความนิยมจากชนชั้นสูง อันเห็นได้จากพระปกเกล้าฯ ทรงโปรดดนตรีคลาสสิค โดยเฉพาะไวโอลินคอนแชร์โต้ของเมนเดลโซน (นริส จรัสจรรยาวงศ์, 2563,48-51)

อาจด้วยภูมิหลังของดนตรีแจ๊ซที่มาจากคนผิวสีผู้ต่ำต้อยในอเมริกาและละตินอเมริกา อีกทั้งเกี่ยวข้องการเรียกร้องเสรีภาพและบ่นเล่าถึงความไม่พอใจในความอยุติธรรมเป็นดนตรีที่ไม่มีแบบแผนการเล่น แต่เป็นการด้นสด (improvisation) ด้วยไหวพริบปฏิภาณ มีผลทำให้ชนชั้นสูงในระบอบเก่าสยามไม่นิยมดนตรีประเภทนี้นัก

ต่อมา ในช่วงปลายระบอบเก่า (2471) มีการตั้งวงดนตรีแจ๊ซชาย และภายหลังการปฏิวัติ 2475 ตั้งวงแจ๊ซหญิงขึ้น (2478) และแจ๊ซเริ่มปรากฏในโลกของงานสังคม งานเต้นรำ เบียร์ฮอลล์ที่ให้อารมณ์ดนตรีครึกครื้น พลิ้วไหวเป็นอิสระในช่วงปลายทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา

2482 กรมโฆษณาการก่อตั้งวงดนตรีแจ๊ซขึ้น มีหน้าที่บรรเลงเพลงผ่านสถานีวิทยุ เล่นตามงานรื่นเริง ต่อมาพัฒนาเป็นวงสุนทราภรณ์ (นริส จรัสจรรยาวงศ์, 2563,51)

รูปปั้นเทพีเทอดรัฐธรรมนูญ และพลนิกรกิมหงวนตอนเที่ยวรัฐธรรมนูญ 2482

เที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 กับ ป.อินทรปาลิต

ป.อินทรปาลิตเล่าถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2482 ผ่านพลนิกรกิมหงวนไว้ว่า เมื่อท่านซื้อบัตรผ่านเข้ามาเที่ยวงานในช่วงเย็น หากท่านมองไปยังบริเวณงานจะเห็นแนวกำแพงต้นไม้ ตามต้นไม้ประดับด้วยโคมไฟหลากสี เห็นเวทีประกวดนางสาวไทย มีร้านจำหน่ายอาหารของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ใกล้กับอาคารลีลาศในสวนอัมพร

พระที่นั่งอนันตสมาคมที่ยืนตระหง่านถูกตบแต่งด้วยโคมไฟสีม่วงอ่อนเย็นสบายตา แลเห็นธงไตรรงค์พลิ้วสะบัดเหนือยอดโดม เขาเล่าว่า บริเวณงานคล้ายกับเมืองสวรรค์ มองไปทางไหนล้วนแต่เพลินตาเพลินใจ ด้านขวาของลานพระรูปเป็นร้านของเอกชน ส่วนด้านซ้ายเป็นร้านของหน่วยราชการ

เมื่อเดินไปสักพักจะเห็นร้านสีสะดุดตาของกรมศิลปากรที่สร้างด้วยไม้ไผ่ทาสีแดงอันหมายถึงชาติ หน้าร้านมีรูปปั้นชายแข็งแรง นุ่งผ้าเตี่ยว ยืนตระหง่าน กำลังขยับเท้าจะเดิน หน้ารูปปั้นมีข้อความว่า เดิน-เดิน-เดิน

บางร้านขายเครื่องใช้ไม้สอยที่ทันสมัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวอาคารร้านค้าสร้างแบบเฟโรคอนกรีตอย่างสวยงาม ถัดมาเป็นร้านกรมรถไฟ สร้างเป็นตึกจำลองสถานีรถไฟ มีหอนาฬิกาสูงเสียดฟ้า มีผู้คนเข้าแถวกันซื้อตั๋วขึ้นรถไฟเล็กที่วิ่งรอบงาน เมื่อเดินต่อมาอีกไม่นาน จะพบร้านของสำนักนายกรัฐมนตรีสร้างเป็นหลักศิลาประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญ เรียงรายด้วยธงไตรรงค์

เดินเที่ยวงานตามจังหวะรัมบ้า

เขาบันทึกต่อว่า จากนั้นจะเดินผ่านร้านของกองพันทหารราบที่ 3 สร้างเป็นกำแพงและป้อมปราการโบราณมีหุ่นช้างทรงของพระเจ้าตากกำลังไสช้างชนกำแพงเมืองจันทบุรี ตามกำแพงมีทหารกำลังปีนกำแพง เหนือกำแพงมีภาพสมมุติรัฐมนตรีต่างประเทศกำลังแลกเปลี่ยนสนธิสัญญา มีการประดับไฟวิ่งเหมือนสายฟ้าไปยังป้อมทั้งสอง เหนือป้อมมีลูกโลกข้างละลูกหมุนช้าๆ มีชื่อประเทศต่างๆ ที่ทำสนธิสัญญากับไทย ที่ใต้ป้อมมีร้านขายของเบ็ดเตล็ด

ด้านซ้ายของร้านกองพันทหาราบที่ 3 มีเต็นท์กางอยู่ 2 หลัง สำหรับวงแจ๊ซแบนด์และแตรวง ถัดไป มีสนามแข่งขันยิงปืนเล็กยาวสำหรับประชาชน มีคนอุดหนุนแน่นมากขนาด “โต๊ะอาหารนับร้อยหาที่ว่างไม่ได้”

เบื้องหน้าเห็นร้านส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวของกรมพาณิชย์ ติดไฟสว่างไสวหลายพันแรงเทียน ภายในร้านมีภาพวิวและข้อมูลท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ มากมายเพื่อเชิญชวนคนไปเที่ยว ถัดมาเป็นร้านของโรงเรียนอาชีวศึกษาและโรงเรียนต่างๆ ตกแต่งร้านอย่างสวยงาม

หน้าร้านของกระทรวงยุติธรรมและเนติบัณฑิตยสภา ตกแต่งเป็นประตูชัยประดับธงชาติ สองข้างประตูเป็นกระจก หน้าร้านมีเนินดินปลูกหญ้าสูงราวเมตรเป็นที่ตั้ง “รูปปั้นของหญิงสาวคนหนึ่งนุ่งผ้ายกเปลือยอกอล่างฉ่าง นั่งคุกเข่าบนตั่งชูพานรัฐธรรมนูญ” ป.อินทรปาลิตสำทับว่า รูปปั้นนี้เหมือนคนราวกับมีชีวิต

“สุภาพสตรีที่มาเที่ยวในงาน ซ่อนร่างอยู่ในเสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตร เดินเคียงคู่กับคุณผัวและคุณคู่รักด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม หยาดเยิ้มหยดย้อย ไม่หย่อนยานดุจหยาดฟ้ามาดิน หาคนขี้เหร่สักคนทั้งก็ยาก การแต่งตัวพิถีพิถัน มีทั้งแบบเรียบๆ แบบเครื่องกันหนาว แบบรัฐนิยม คือ ซิ่นเชิง หรือซิ่นยก กับเสื้อที่เป็นผ้าไทยแบบราตรี แบบโป๊คอกว้าง จนเห็นอะไรๆ รำไร บ้างสวมกระโปรงผ้ามันวูบวาบ บางคนแต่งเรียบๆ น่าเอ็นดู บางคนแต่งตัวเหมือนสิงโตกวางตุ้ง สาวแก่แม่หม้ายละลานตาไปหมด”

เวทีเต้นลีลาศเป็นสถานที่ของหนุ่มสาวที่ประกวดประขันแต่งตัวกันอย่างสวยงาม ที่ได้เต้นรำสัมผัสแตะเนื้อต้องตัวกันตามทำนอง ได้กระซิบกระซาบหัวร่อต่อกระซิกกันภายใต้แสงไฟและเสียงแจ๊ซ

ร้านกรมศิลปกร มีรูปปั้นคนย่างเท้าเดิน เครดิตภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ

ความบันเทิงของหนุ่มสาว

หากท่านมาเที่ยวกับคนรักและมีใจรักความตื่นเต้น และหาโอกาสได้ลักกอดคนรักแล้ว ขอเชิญที่ร้านของกองทัพเรือ จะพบพลนิกรกิมหงวนยืนชม “เรือตูม” เครื่องเล่นดังกล่าวจะนำเรือบดท้องแบน มีผู้โดยสาร 4 คนแล่นไปตามเส้นทางที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูง จากนั้นจะมีการปล่อยเรือลงมาให้ไหลตามเส้นแล้วไถลลงสระน้ำในเขาดินวนาดังตูม น้ำสาดกระจายพร้อมเสียงกรีดร้องดังอย่างสนุกสนานนั้นมีค่าบัตรคนละ 5 บาทซึ่งถือได้ว่าสูงสำหรับคนโสด แต่อาจไม่แพงสำหรับคนมีคู่

ในงานยังมีกิจกรรม “เขาวงกต” ที่ให้ผู้เล่นเดินเข้าไปในทางแคบๆ เป็นอุโมงค์วกวนที่มีผนังที่ทำด้วยไม้ไผ่วนเวียนไปมีทางแยกหลายทางให้เกิดความสับสนในการหาทางออกที่ปลายทาง

เมื่อเดินกลับมาที่สนามเสือป่า ข้างร้านกระทรวงยุติธรรมมี “บ่อประหลาด” เป็นระบำนุ่งน้อยห่มน้อย หลังจากชำระตั๋วแล้ว พนักงานจะพาท่านขึ้นไปชั้นบนมองลงมาเป็นบ่อกรุกระจกเงา มีไฟส่องสว่างจ้า มีชายหนุ่มหลายคนเกาะขอบบ่อ มองลงไปเบื้องล่าง ก้นบ่อปูด้วยกระจกเงา “มีสาวรูปร่างขาวท้วมในชุดนางระบำเต้นรำยกแข้งยกขาบนกระจกเงา” ประกอบดนตรีแจ๊ซ สร้างความครึกครื้นให้กับสามเกลอเป็นอย่างมาก

ร้านกรมทหารบกเกียกกาย มีการเล่น “คล้องห่าน” มีบ่อซีเมนต์เส้นผ่าศูนย์กลางสองเมตร มีเป็ด 4 ตัวและห่าน 1 ตัว ผู้เล่นจะโยนห่วงหวายลงไปคล้องพวกมัน มีรางวัลเป็นเครื่องกระป๋องของทหารบก และเกม “ยิงประตู” ให้เตะลูกฟุตบอลเข้าห่วงตะข่ายขนาดต่างๆ ที่อยู่ห่างออกไป

ก่อน ป.อินทรปาลิตจะกลับบ้าน เขาเล่าว่า “เกือบ 24 นาฬิกาแล้ว บริเวณสนามเสือป่า แทนที่ประชาชนจะเบาบาง กลับอุ่นหนาฝาคั่งยิ่งกว่าหัวค่ำ ตามร้านต่างๆ เนืองแน่นไปด้วยผู้คน เสียงย้าสแบนด์ ปี่พาทย์ เสียงแตรจากฟันแฟร์จากร้าน ร.พัน 3 เสียงแตรทหารเรือบนเกาะลอยกลางสระ เสียงสรวลเสเฮฮาของหนุ่มสาว ทำให้บริเวณงานเปรียบประดุจวิมานสวรรค์ ไม่มีงานมหกรรมใดอีกแล้วที่จะสดชื่นตื่นตาตื่นใจเหมือนกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ”

ทั้งนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญ ดนตรีแจ๊ซ และการลีลาศจึงเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้หนุ่มสาวในสมัยประชาธิปไตยได้ออกงานกลางคืนอันถือเป็นสุดยอดของการเข้าสังคมสมัยนั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงการเกิดค่านิยมใหม่ที่เริ่มหลุดพ้นจากขนบและวัฒนธรรมแบบแผนที่ชนชั้นสูงในการปกครองระบอบเดิมร้อยรัดพวกเขาเอาไว้

ร้านกองพันทหารราบที่ 3
สตรีไทยสมัยรัฐธรรมนูญ
ร้านของกรมแผนที่